สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวหางเฮล-บอพพ์ Comet Hale-Bopp (C/1995 O2)

ดาวหางเฮล-บอพพ์ Comet Hale-Bopp (C/1995 O2)

1 มกราคม 2540 โดย: ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 10 ธันวาคม 2559

ดาวหางเฮล-บอพพ์ถูกค้นพบได้อย่างไร?


ดาวหางเฮล-บอพพ์ ถูกค้นพบโดยนักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน คน ได้แก่ อลัน เฮล (Alan Hale) จาก นิวเมกซิโก และ โธมัส บอพพ์(Thomas Bopp) จากอริโซนา ทั้ง คนนี้ค้นพบดาวหาง ณ วันที่ 23 กรกฏาคม 2535 ในเวลาไลเลี่ยกันแต่ต่างสถานที่ ดาวหางดวงนี้จึงถูกตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบทั้ง คน

ขณะที่ถูกค้นพบดาวหางเฮล-บอพพ์อยู่ใกล้กับกระจุกดาว M70 ในกลุ่มดาวราศีธนู โดยขณะนั้นอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 7.16 หน่วยดาราศาสตร์ หรือ 1.07 พันล้านกิโลเมตร และอยู่ห่างจากโลกเท่ากับ 6.20 หน่วยดาราศาสตร์ หรือ 930 ล้านกิโลเมตร ซึ่งนับว่าห่างกว่าระยะทางเฉลี่ยระหว่างดวงอาทิตย์กับดาวพฤหัสบดีเสียอีก ซึ่งในขณะค้นพบนั้น ดาวหางเฮล-บอพพ์มีความสว่างมากกว่าดาวหางฮัลเลย์ประมาณ 250 เท่าที่ระยะห่างเท่ากัน


ดาวหางคืออะไรและประกอบด้วยอะไรบ้าง?


นับจนถึงปัจจุบัน นักดาราศาสตร์มีบันทึกดาวหางที่เคยผ่านมาใกล้โลกเราแล้วไม่น้อยกว่า 800 ดวง อย่างไรก็ดี ความเข้าใจเกี่ยวกับดาวหางเพิ่งจะมีมากภายหลังจากที่ดาวหางฮัลเลย์เข้ามาใกล้โลกเมื่อปี 2529 เนื่องจากในครั้งนั้นมีการส่งยานอวกาศขององค์การอวกาศยุโรปและองค์การอวกาศของญี่ปุ่น ไปสำรวจดาวหางดวงดังกล่าว

ดาวหางเปรียบเสมือนก้อนน้ำแข็งที่ล่องลอยอยู่ในระบบสุริยะ มีการตั้งทฤษฎีโดยนักดาราศาสตร์ชาวดัทช์ ได้แก่ แจน ออร์ต (Jan Oort) ว่า หลังการเกิดระบบสุริยะ กลุ่มแก๊สบริเวณด้านนอกมิได้ถูกแรงดึงดูดจากศูนย์กลางดึงเข้าไป ตรงกันข้ามกลับรวมตัวกันกลายเป็นแถบเมฆที่ประกอบไปด้วยก้อนน้ำแข็งเรียกว่า เมฆออร์ต ซึ่งประมาณว่าอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ออกไปเป็นระยะทางประมาณ ปีแสง และมีก้อนน้ำแข็งขนาดเล็กใหญ่อยู่ไม่ต่ำกว่าแสนล้านก้อน เมื่อใดก็ตามที่ถูกแรงรบกวนจากดาวเคราะห์หรือดาวฤกษ์ดวงอื่น ๆ ก้อนน้ำแข็งเหล่านี้ก็จะหลุดเข้ามาโคจรใกล้ดวงอาทิตย์และสารประกอบต่าง ๆ ที่ประกอบเป็นก้อนน้ำแข็งก็จะได้รับความร้อนและระเหิดออกมา ซึ่งจะทำปฏิกิริยากับลมสุริยะเกิดเป็นหางยาวนับล้านกิโลเมตรได้ ดาวหางประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ

โครงสร้างของดาวหาง 

นิวเคลียส (nucleus)

นิวเคลียสของดาวหางก็คือก้อนน้ำแข็งนั้นเอง คำว่าน้ำแข็งในที่นี้มิได้หมายถึงน้ำแข็งที่เกิดจากน้ำอย่างเดียว แต่เกิดจากการที่สารประกอบต่าง ๆ เช่น แอมโมเนีย มีเทน คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ หรือแม้กระทั่งไฮโดรเจนไซยาไนด์ มาเกาะกันเป็นก้อนหลวม ๆ เนื่องจากแรงโน้มถ่วง โดยอาจมีขนาดใหญ่เล็กต่างๆ กัน โดยทั่วไป ตั้งแต่ 1-15 กิโลเมตร นิวเคลียสนี้มีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดของดาวหางที่เราเห็นจากโลก และปกติเราไม่สามารถสังเกตเห็นนิวเคลียสนี้ได้

โคม่า (coma)

โคม่าหรือกลุ่มแก๊สซึ่งระเหิดจากนิวเคลียสและห่อหุ้มนิวเคลียสอยู่ โคม่าของดาวหางแต่ละดวงมีขนาดต่างกัน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการระเหิดของนิวเคลียส โคม่าของดาวหางบางดวงอาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึงล้านกิโลเมตร และเป็นส่วนของดาวหางที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุด ซึ่งก็คือส่วนหัวของดาวหางนั่นเอง และการที่เราเห็นโคม่าได้ก็เนื่องจากมันสามารถสะท้อนแสงอาทิตย์ได้ดีนั่นเอง

หางแก๊สและหางฝุ่น (gas tail and dust tail)

หางของดาวหางเป็นส่วนที่เห็นได้ชัดเจน เมื่อดาวหางโคจรมาใกล้โลก โดยทั่วไปหางของดาวหางแต่ละดวงจะแตกต่างกันตามลักษณะของดาวหางเอง และโดยมากดาวหางจะมีหางอย่างน้อยสองหางขึ้นไป หางของดาวหางจะหันออกไปในทิศทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เสมอ และหางแก๊สเกิดจากการที่แก๊สที่ระเหิดออกมาจากนิวเคลียสทำปฏิกิริยากับอนุภาคจากลมสุริยะ การที่เราเห็นหางแก๊สได้เนื่องจากเกิดปรากฏการณ์เรืองแสงขึ้น หากแก๊สของดาวหางอาจมีความยาวได้ถึง 100 ล้านกิโลเมตร ส่วนในกรณีของหางฝุ่นมักจะมีความสว่างมากกว่าหางแก๊สโดย เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากสามารถสะท้อนแสงอาทิตย์ได้ดี หางฝุ่นของดาวหางอาจมีความยาวได้ถึง 10 ล้านกิโลเมตร

ใครเป็นผู้ตั้งชื่อดาวหาง และหากมีผู้ค้นพบดาวหางควรทำอย่างไร?


ดาวหางเฮล-บอพพ์มีชื่อเป็นทางการว่า Comet C/1995 O1 (Hale-Bopp) ซึ่ง C/ หมายถึงดาวหางดวงนี้มีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์นานกว่า 200 ปี ตัวเลข 1995 หมายถึงดาวหางดวงนี้ถูกค้นพบในปี 1995 และ O1 หมายถึงดาวหางดวงนี้เป็นดาวหางที่ถูกค้นพบเป็นดวงแรกในช่วงครึ่งหลังของเดือนกรกฎาคม ส่วนชื่อในวงเล็บคือชื่อผู้ค้นพบ

หน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับดาวหางคือ หน่วยงานที่มีชื่อว่า Central Bureau for Astronomical Telegrams (CBAT) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาจูเซทท์ เมื่อใดก็ตามที่มีผู้ค้นพบดาวหางดวงใหม่จะต้องรายงานไปที่ CBAT โดย CBAT จะตรวจสอบพิกัด ตำแหน่ง และแจ้งให้หอดูดาวต่าง ๆ ทั่วโลกช่วยตรวจสอบ หากพบว่าดาวหางดวงนั้นไม่เคยถูกค้นพบมาก่อนก็จะทำการตั้งชื่อตามผู้ค้นพบ หากมีผู้รายงานการค้นพบพร้อมกันมากกว่าหนึ่งคน ก็จะใช้ชื่อของผู้ค้นพบมารวมกัน เช่นดาวหาง เฮล-บอพพ์ แต่ไม่เกินสามชื่อ

รายงานการค้นพบจะต้องมีรายละเอียดของสิ่งต่อไปนี้


ชื่อของผู้ค้นพบ
ที่อยู่สำหรับติดต่อกลับหรือเบอร์โทรศัพท์ ถ้าเป็นที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์จะดีมาก
วันที่และเวลาที่ค้นพบ (เวลาสากล)
อุปกรณ์ที่ใช้ค้นพบ หรือวิธีการสังเกตการณ์ เช่นใช้ตาเปล่า หรือกล้องสองตา กล้องโทรทรรศน์ ใช้ CCD ฯลฯ
รายละเอียดของอุปกรณ์ เช่น ขนาดกล้อง ความยาวโฟกัส ชนิดฟิล์ม เวลาเปิดหน้ากล้อง ฯลฯ
สถานที่สังเกตการณ์

รายละเอียดเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นในการรายงานการค้นพบวัตถุท้องฟ้า หากให้รายละเอียดการค้นพบไม่ละเอียดพอ หน่วยงาน CBAT อาจจะไม่ใส่ใจกับรายงานของเราก็ได้ การบันทึกรายละเอียดของการสังเกตการณ์เป็นสิ่งที่นักดูดาวควรปฏิบัติ แม้จะเป็นการสังเกตการณ์เพื่อความเพลิดเพลินก็ตาม

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับดาวหางเฮล-บอพพ์

ดาวหางเฮล-บอพพ์เป็นดาวหางที่มีนิวเคลียสขนาดใหญ่มากโดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 40 กิโลเมตรโดยประมาณ (นิวเคลียสของดาวหางฮัลเลย์นั้นมีขนาดประมาณ 10x16 กิโลเมตร และดาวหางเฮียกูตาเกะประมาณ กิโลเมตร) ซึ่งนับว่าเป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่ที่สุดดวงหนึ่งที่นักดาราศาสตร์รู้จัก และการโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งนี้ของดาวหางเฮล-บอพพ์มีครั้งแรก จากลักษณะการระเหิด (Sublimation) ของส่วนประกอบของนิวเคลียสทำให้ทราบว่าดาวหางเฮล-บอพพ์ต้องเคยโคจรผ่านใกล้ดวงอาทิตย์มาแล้วหลายครั้ง

ดาวหางเฮล-บอพพ์นอกจากจะเป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่มากดวงหนึ่งแล้ว ยังเป็นดาวหางที่มีความสว่างมาก โดยในเดือนกรกฎาคม 2539 มีอันดับความสว่าง (Magnitude) ประมาณ 6.0 และเริ่มมีผู้เห็น ได้ด้วยตาเปล่าในบริเวณที่ท้องฟ้าใสและมืดสนิทปราศจากแสงรบกวน ขณะนี้ดาวหางเฮล-บอพพ์กำลังโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อย ๆ และมีความสว่างเพิ่มมากขึ้นอย่างค้อนข้างรวดเร็วทั้งนี้เนื่องจากอยู่ใกล้โลกมากขึ้น และขณะเดียวกันองค์ประกอบต่าง ๆ ภายในนิวเคลียสได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์และระเหิดออกมาทั้งในรูปฝุ่นและแก๊ส ทำให้สะท้อนแสงอาทิตย์ได้ดียิ่งขึ้น

เป็นที่คาดว่าหากดาวหางเฮล-บอพพ์มีความสว่างเพิ่มขึ้นตามที่คำนวณไว้ ในช่วงต้นปี 2540 ระหว่างที่โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด (perihelion) ดาวหางเฮล-บอพพ์น่าจะปรากฏสว่างและมีหางยาวน่าดูชม ไม่แพ้ดาวหางเฮียกูตาเกะในเดือนมีนาคม 2539 โดยเฉพาะอย่างยิ่งคาดว่าดาวหางเฮล-บอพพ์จะมีหางฝุ่นยาวอาจจะทำให้สว่างกว่าดาวหางเฮียกูตาเกะเสียอีก

เข้าใกล้โลกที่สุด 23 มีนาคม พ.ศ.2540 ที่ระยะห่าง 1.3 หน่วยดาราศาสตร์
เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด เมษายน พ.ศ.2540 ที่ระยะห่าง 0.91 หน่วยดาราศาสตร์
ลักษณะวงโคจร โคจรเข้ามาทางฟ้าซีกใต้เอียงทำมุมกับระนาบดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์ 89 องศา
ขนาดนิวเคลียส 40 กิโลเมตร นับเป็นดาวหางขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกกันมา
คาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ประมาณ 3,000 ปี และครั้งนี้ไม่ใช้ครั้งแรกที่โคจรเข้ามาในระบบสุริยะ


ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองจะสังเกตเห็นดาวหางได้หรือไม่?


ในปัจจุบันมลภาวะทั้งฝุ่นและแสงรบกวนเป็นอุปสรรคที่ทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองสามารถเห็นดาวหางได้ยาก อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ดาวหางเฮียกูตาเกะมีความสว่างที่สุดในปลายเดือนมีนาคม 2539 เราสามารถเห็นโคม่าหรือส่วนหัวของดาวหางได้อย่างชัดเจนด้วยตาเปล่าจากจุดต่าง ๆ ในกรุงเทพ ฯ แต่ไม่สามารถเห็นส่วนหางได้เลยเนื่องจากส่วนหางมีความสว่างน้อยกว่าส่วนหัวมาก

สำหรับดาวหางเฮล-บอพพ์นั้นในช่วงที่สว่างสุกใสมีหางยาวที่สุด จะอยู่ใกล้ขอบฟ้าและอาจมีอุปสรรคอีกอย่างก็คือตึกรามบ้านช่องมาบดบัง นอกจากนี้ลมฟ้าอากาศยังเป็นปัจจัยสำคัญอีกด้วยแม้ในช่วงกุมภาพันธ์ ถึง เมษายน 2540 จะเป็นฤดูร้อนในประเทศไทย แต่ในภาคกลางตอนบนและภาคเหนือมักจะมีฟ้าหลัวซึ่งเกิดจากไอระเหยจากพื้นดิน และหมอกควันที่เกิดจากการเผานาเผาไร่ ภาคที่น่าจะมีโอกาสเห็นได้ชัดเจนที่สุดได้แก่ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกและภาคใต้โดยช่วงปลายเดือนมีนาคม 2540 ภาคใต้ฝั่งตะวันออกน่าจะเป็นที่เหมาะสม เนื่องจากดาวหางเฮล-บอพพ์จะปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ส่วนในช่วงต้นเดือนเมษายน 2540 ชายฝั่งภาคตะวันออกของประเทศน่าจะมีโอกาสดี เนื่องจากดาวหางจะอยูทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือก่อนพระอาทิตย์ขึ้นเล็กน้อย

จะสังเกตดาวหางเฮล-บอพพ์ได้อย่างไร?


ในเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม 2540 ดาวหางจะอยู่บริเวณเหนือขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดาวหางจะมีลักษณะคล้ายดาวที่มีลักษณะเป็นฝ้าเมื่อมองด้วยตาเปล่า อาจเห็นหางไม่ชัดเจนนัก หากใช้กล้องสองตาส่องดูจะเห็นหางอย่างชัดเจน มีลักษณะเป็นพู่เหมือนขนไก่ หางอาจยาวถึงหลายองศา

ปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน จะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของดาวหางดวงนี้ ซี่งดาวหางจะปรากฏสว่างที่สุด และเป็นช่วงเวลาที่ดาวหางปรากฏอยู่ค่อนมาทางทิศเหนือที่สุด ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การสังเกตดาวหางก็คือ ช่วงวันที่ 26 มีนาคม ถึงวันที่ 12 เมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีแสงจันทร์รบกวน ดาวหางจะปรากฏอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งจะมองเห็นได้หลังจากพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว ในช่วงนี้ดาวหางอาจมีหางยาวกว่า 10 องศา

ปลายเดือนเมษายน-เดือนมิถุนายน ช่วงปลายเดือนเมษายนจะมีแสงจันทร์รบกวน ดาวหางจะเคลื่อนที่ค่อนไปทางใต้มากขึ้น และปรากฏอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น แสงจ้าจากดวงอาทิตย์จะกลบแสงของดาวหางไปจนเกือบหมด ซึ่งเป็นช่วงที่สังเกตดาวหางเฮล-บอพพ์ได้ยาก แต่ดาวหางเฮล-บอพพ์ยังคงปลดปล่อยหางอยู่ และหางจะยาวที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน แต่น่าเสียดายที่เราไม่สามารถสังเกตช่วงนี้ได้

กรกฎาคม-กันยายน ดาวหางจะย้ายมาปรากฏอยู่ในช่วงเช้ามืดอีกครั้ง และจะเคลื่อนที่ไปทางใต้อย่างรวดเร็วพร้อม ๆ กับจางลงเรื่อย ๆ ในช่วงนี้ผู้ที่อยู่ที่ประเทศละติจูดสูง ๆ จะมองไม่เห็นเนื่องจากดาวหางอยู่ต่ำกว่าขอบฟ้า

ตุลาคม-ธันวาคม ดาวหางเฮล-บอพพ์จะจางลงมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ยังสามารถสังเกตได้จากกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายต่ำ สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ทางซีกโลกใต้

ดาวหางจะสว่างแค่ไหน?


โดยปกติ ความสว่างของดาวหางจะผันแปรมากเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ดาวหางบางดวงจะเพิ่มความสว่างอย่างรวดเร็ว แต่บางดวงก็เพิ่มความสว่างอย่างช้า ๆ สำหรับดาวหางเฮล-บอพพ์นี้ คาดว่าในช่วงที่สว่างที่สุดนั้น อาจมีอันดับความสว่าง(แมกนิจูด)ประมาณ หรืออาจจะถึง -0.5 ซึ่งสว่างใกล้เคียงกับดาววีกาในกลุ่มดาวพิณ

การปรากฏของดาวหางเฮล-บอพพ์ จะมีผลกระทบต่อโลกหรือไม่? ไม่มีผลแต่อย่างใดเนื่องจากช่วงที่ดาวหางเข้ามาใกล้โลกที่สุดจะอยู่ห่างจากโลก 197 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณ 1.3 หน่วยดาราศาสตร์ ไกลกว่าระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์เสียด้วยซ้ำ มิได้เฉียดมาใกล้โลกแต่อย่างใด หากเทียบกับดาวหางเฮียกูตาเกะที่เข้ามาใกล้โลกประมาณ 15 ล้านกิโลเมตรเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2539 (ระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ประมาณ แสนกิโลเมตร) ยังนับว่าไกลกว่ามาก


กลัวดาวหาง เมื่อครั้งที่ดาวหางฮัลเลย์มาเยือนโลกในปี ค.ศ.1910 ผู้คนหวาดกลัวดาวหางมากเนื่องจากโลกต้องเข้าไปอยู่ในวงโคจรของดาวหาง จึงมีกลุ่มต้มตุ๋นผลิตยากันดาวหางออกมาวางขายในสหรัฐอเมริกา ขายดิบขายดีกันยกใหญ่


ในอนาคตจะมีคนไทยเป็นผู้ค้นพบดาวหางได้หรือไม่?

โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละปีจะมีดาวหางถูกค้นพบใหม่มากกว่า 10 ดวง โดยในปี 2539 นี้นับถึงกลางเดือนกรกฎาคม มีดาวหางที่ถูกค้นพบใหม่รวมทั้งสิ้น ดวงและครึ่งหนึ่งถูกค้นพบโดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่น ซึ่งดาวหางส่วนมากที่ถูกค้นพบในแต่ละปีเป็นดาวหางขนาดเล็กไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ยูจิ เฮียกูตาเกะ นักล่าดาวหางชาวญี่ปุ่นก็เป็นนักดาราศาสตร์สมัครเล่นเช่นกัน และอุปกรณ์ที่เขาใช้ค้นพบดาวหางแล้ว ดวง มิใช่เป็นกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ แต่เป็นกล้องสองตาที่มีขนาด 25 × 150

การล่าดาวหางนั้นแม้จะทำใด้ไม่ยากมากแต่ก็ไม่ง่ายเช่นกัน ทั้งนี้ประสบการณ์การดูท้องฟ้าเป็นสิ่งสำคัญนอกเหนือไปจากอุปกรณ์ที่มี การอุทิศเวลาให้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ อย่างไรก็ดีในอนาคต หากมีการสนับสนุนที่ดีรวมทั้งมีโชคช่วยก็อาจจะมีนักดาราศาสตร์ไทยค้นพบดาวหางดวงใหม่ก็เป็นได้ และเมื่อนั้นก็จะมีดาวหางเป็นชื่อคนไทย


แชมป์ล่าดาวหาง นักล่าดาวหางที่เป็นผู้ค้นพบดาวหางมากที่สุดคือ เจ แอล พอนส์ เขาค้นพบดาวหางถึง 37 ดวง


แหล่งข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับดาวหางบน WWW

Comet Observation Homepage (JPL)
Comet Meteor Showers
Comet Hale-Bopp page (JPL)
Comet Hyakutake Homepage(JPL)
Sky Telescope Homepage
Central Bureau for Astronomical Telegrams (CBAT)

เกี่ยวกับผู้เขียน
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา อดีตนักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ อดีตกรรมการบริหารสมาคมดาราศาสตร์ไทย มีความเชี่ยวชาญในด้านการถ่ายภาพดาว และอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ ปัจจุบัน (2559) ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)