ดาวหางสวอน - C/2020 F8 (SWAN)
ดาวหางอีกดวงหนึ่งที่ก่อนหน้านี้มีแนวโน้มจะสว่างพอสมควร แต่ขณะนี้มีความสว่างน้อยกว่าที่คาดไว้
ดาวหางสวอน - C/2020 F8 (SWAN) ค้นพบโดย ไมเคิล แมตเทียซโซ นักดาราศาสตร์สมัครเล่นในออสเตรเลีย เป็นการค้นพบจากภาพถ่ายที่ได้จากอุปกรณ์ซึ่งติดตั้งบนยานโซโฮ (SOHO ย่อมาจาก Solar and Heliospheric Observatory) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563
ชื่อดาวหางมาจากชื่อของอุปกรณ์ที่นำไปสู่การค้นพบ(SWAN ย่อมาจาก Solar Wind Anisotropies) โดยเครื่องมือนี้มีความไวต่อความยาวคลื่นของไฮโดรเจน ใช้สำหรับถ่ายภาพทั่วท้องฟ้าเพื่อศึกษาการกระจายตัวของไฮโดรเจนในอวกาศซึ่งสัมพันธ์กับลมสุริยะและกิจกรรมบนดวงอาทิตย์ การค้นพบดาวหางเป็นผลพลอยได้ ดาวหางทุกดวงที่สว่างกว่าโชติมาตรประมาณ 10-11 จะปรากฏในภาพซึ่งมีความละเอียดต่ำ
เราสามารถค้นหาดาวหางจากภาพถ่ายที่ได้จากสวอนเมื่อพบวัตถุเคลื่อนที่ซึ่งไม่ตรงกับดาวหางที่รู้จัก และสงสัยว่าเป็นดาวหางแล้ว จำเป็นต้องมีการสังเกตด้วยกล้องโทรทรรศน์บนท้องฟ้าจริงอีกครั้งเพื่อยืนยัน ภาพถ่ายนี้เผยแพร่อยู่บนอินเทอร์เน็ตให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เป็นสาเหตุให้ดาวหางได้รับการตั้งชื่อตามอุปกรณ์ที่นำไปสู่การค้นพบ ไม่ได้ตั้งตามบุคคลที่ค้นพบ
กลางเดือนเมษายน2563 ดาวหางสวอนสว่างที่โชติมาตรประมาณ 8 จากนั้นก็สว่างขึ้นอย่างช้า ๆ วันที่ 25 เมษายน สว่างที่โชติมาตร 7 แต่หลังจากนั้นเริ่มมีความสว่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว วันที่ 1 พฤษภาคม ไปอยู่ที่ราวโชติมาตร 5 มีรายงานจากนิวซีแลนด์ว่าเริ่มเห็นได้จาง ๆ ด้วยตาเปล่า ภายใต้ท้องฟ้าที่มืดสนิท โดยขณะนั้นดาวหางมีตำแหน่งอยู่ใต้เส้นศูนย์สูตรฟ้า ซีกโลกใต้อยู่ในช่วงที่กลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน ทำให้สังเกตได้ดีกว่าซีกโลกเหนือ
จากรายงานความสว่างถึงสิ้นเดือนเมษายนคาดว่าดาวหางสวอนจะยังคงสว่างขึ้นเรื่อย ๆ อาจสว่างที่สุดราวโชติมาตร 3 หรือ 4 ในช่วงวันที่ 17-25 พฤษภาคม อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นพบว่าดาวหางมีความสว่างลดลงเล็กน้อย อาจเป็นไปได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา ดาวหางสวอนอยู่ในช่วงของการปะทุความสว่าง ขณะนี้อาจกำลังกลับสู่ภาวะปกติ คาดว่าจะกลับมามีความสว่างเพิ่มขึ้น แต่อาจไม่สว่างถึงระดับที่คาดไว้ในตอนแรก
ดาวหางสวอนจะใกล้โลกที่สุดในวันที่12 พฤษภาคม 2563 ที่ระยะห่าง 0.556 หน่วยดาราศาสตร์ หรือประมาณ 83 ล้านกิโลเมตร และผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ที่ระยะห่าง 0.430 หน่วยดาราศาสตร์ หรือประมาณ 64 ล้านกิโลเมตร
ช่วงที่คาดว่าดาวหางจะสว่างที่สุดสังเกตได้ยากหรือไม่สามารถสังเกตได้สำหรับประเทศในละติจูดต่ำของซีกโลกเหนืออย่างประเทศไทย เนื่องจากดาวหางขึ้นและตกในเวลาใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ (ละติจูดสูงของซีกโลกเหนือสังเกตได้ดีกว่า) เวลาที่พอจะสังเกตดาวหางดวงนี้ได้สำหรับประเทศไทยอยู่ในช่วงครึ่งแรกของเดือนพฤษภาคม ดาวหางปรากฏบนท้องฟ้าด้านทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด เคลื่อนผ่านกลุ่มดาวซีตัส ปลา แกะ และสามเหลี่ยม เดิมคาดหมายว่าช่วงดังกล่าวอาจมีความสว่างเพิ่มขึ้นจากโชติมาตร 5 ไปอยู่ที่ราว 3.5 แต่จากความสว่างที่ลดลงในระยะไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ทำให้โอกาสที่ดาวหางจะสว่างถึงระดับที่พยากรณ์ไว้ในตอนแรกนั้นเป็นไปได้ยาก คาดว่าอาจสว่างสูงสุดที่ราวโชติมาตร 5 เท่านั้น
การสังเกตดาวหางสวอนทำได้ไม่ดีนักสำหรับประเทศไทยอุปสรรคสำคัญคือดาวหางมีตำแหน่งอยู่ใกล้ขอบฟ้า แสงดาวที่อยู่ใกล้ขอบฟ้าเดินทางผ่านบรรยากาศซึ่งหนากว่าที่จุดเหนือศีรษะ ทำให้ความสว่างลดลงไปอีก นอกจากนี้ยังมีแสงจันทร์ข้างแรมรบกวนอีกด้วย กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสังเกตดาวหางดวงนี้ และต้องสังเกตจากสถานที่ซึ่งห่างจากเมืองใหญ่ ขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกต้องเปิดโล่ง ไม่มีอะไรบดบัง และไม่มีแสงรบกวน หลังจากขึ้นเหนือขอบฟ้าแล้ว จะมีเวลาสังเกตดาวหางได้ไม่นานก่อนที่ความสว่างของท้องฟ้ายามเช้าจะกลบแสงของดาวหาง
ชื่อดาวหางมาจากชื่อของอุปกรณ์ที่นำไปสู่การค้นพบ
เราสามารถค้นหาดาวหางจากภาพถ่ายที่ได้จากสวอน
กลางเดือนเมษายน
จากรายงานความสว่างถึงสิ้นเดือนเมษายน
ดาวหางสวอนจะใกล้โลกที่สุดในวันที่
การสังเกตในประเทศไทย
ช่วงที่คาดว่าดาวหางจะสว่างที่สุด
การสังเกตดาวหางสวอนทำได้ไม่ดีนักสำหรับประเทศไทย