ดาวหางเลนเนิร์ด - C/2021 A1 (Leonard)
ต้นปี 2564 นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวหางดวงหนึ่ง ต่อมาหลังจากค้นพบไม่นาน สามารถคำนวณได้ว่าดาวหางนี้ซึ่งเป็นดาวหางดวงแรกที่ค้นพบในปี 2564 จะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในเดือนมกราคม 2565 และมีโอกาสสว่างถึงราวโชติมาตร 4 ซึ่งเป็นระดับที่สังเกตได้ง่ายด้วยกล้องสองตา (ต้องทราบตำแหน่งที่แน่นอนบนท้องฟ้า) หากเป็นไปตามที่คาดหมาย จะเป็นดาวหางที่สว่างที่สุดที่สังเกตได้จากพื้นโลกของปีนี้
ศูนย์ดาวเคราะห์น้อยหรือเอ็มพีซีองค์กรที่รวบรวมข้อมูลการสังเกตวัตถุต่าง ๆ ในระบบสุริยะของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล ได้ตั้งชื่อวัตถุนี้ในบัญชีดาวหางว่า ซี/2021 เอ 1 (เลนเนิร์ด) -- C/2021 A1 (Leonard) ตัวอักษรและตัวเลขในชื่ออย่างเป็นทางการนี้ แปลความหมายได้ว่าเป็นดาวหางไม่มีคาบหรือดาวหางคาบยาว (C) ที่ค้นพบใน ค.ศ. 2021 โดยเป็นดาวหางดวงแรก (1) ที่ค้นพบในครึ่งแรกของเดือนมกราคม (A) ส่วนในวงเล็บเป็นชื่อสามัญที่เรียกตามชื่อสกุลของผู้ค้นพบ
เกรกอรีเจ. เลนเนิร์ด นักธรณีวิทยา นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ และนักวิจัยชาวอเมริกัน ประจำอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ มหาวิทยาลัยแอริโซนา เป็นผู้ค้นพบดาวหางดวงนี้จากภาพถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาด 1.5 เมตร ในหอดูดาวเมาต์เลมมอน ตั้งอยู่บนภูเขาเลมมอน เทือกเขาซานตาแคทาลินา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองทูซอน รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ขณะค้นพบ ดาวหางสว่างที่โชติมาตร 19
การพยากรณ์ถึงขณะนี้คาดหมายว่าดาวหางเลนเนิร์ดมีโอกาสจะสังเกตได้ด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กคาดว่าจะสว่างที่สุดในกลางเดือนธันวาคม 2564 แต่เป็นช่วงที่ดาวหางอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ สังเกตได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากดาวหางขึ้นและตกในเวลาใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์
ดาวหางเลนเนิร์ดมีวงโคจรที่มีความเยื้องศูนย์กลางหรือความรีสูงหากเทียบกับดวงอาทิตย์คำนวณได้ว่ามีวงโคจรเป็นไฮเพอร์โบลา ไม่สามารถคำนวณคาบการโคจรได้ แต่หากเทียบกับศูนย์ระบบมวลของระบบสุริยะ ซึ่งคำนวณมวลของดาวเคราะห์ต่าง ๆ ร่วมด้วย พบว่าช่วงที่กำลังเคลื่อนเข้ามานี้ ดาวหางมีวงโคจรเป็นวงรี ก่อนหน้านี้จึงอาจเคยผ่านเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์แล้วเมื่อราว 80,000-90,000 ปีก่อน แต่หลังจากผ่านใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งนี้ แรงโน้มถ่วงรบกวนจากดาวเคราะห์และวัตถุต่าง ๆ ทำให้วงโคจรเปลี่ยนเป็นไฮเพอร์โบลา จึงไม่กลับมาอีก
ดาวหางเลนเนิร์ดมีระนาบวงโคจรทำมุมเอียงประมาณ133° กับระนาบวงโคจรโลก วงโคจรที่มีความเอียงมากกว่า 90° แปลว่าเคลื่อนที่ในทิศทางตรงข้ามกับโลก หากมองลงมาจากเหนือระนาบวงโคจรโลก ดาวหางเคลื่อนที่ในทิศตามเข็มนาฬิกา ขณะที่โลกเคลื่อนที่ไปในทิศทวนเข็มนาฬิกา
ที่จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดดาวหางอยู่ห่างดวงอาทิตย์ 0.615 หน่วยดาราศาสตร์ จึงใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลกและดาวศุกร์ ดาวหางจะเคลื่อนผ่านตำแหน่งนี้่ในวันที่ 3 มกราคม 2565 นับเป็นระยะเวลาหนึ่งปีพอดีหลังจากวันที่ค้นพบ
ดาวหางปรากฏเป็นดวงฝ้ามัวมีใจกลางสว่าง แตกต่างจากดาวฤกษ์หรือดาวเคราะห์ที่เป็นจุด เราอาจสังเกตเห็นหางได้จาง ๆ ส่วนใหญ่หางจะปรากฏชัดเจนเฉพาะในภาพถ่ายที่เปิดรับแสงเป็นเวลานาน ดาวหางแต่ละดวงมีอัตราการระเหิดและปริมาณของอนุภาคที่กลายเป็นหางฝุ่นไม่เท่ากัน ทำให้มีลักษณะและความสว่างแตกต่างกัน
ดาวหางอยู่ไกลจากโลกในคืนหนึ่งจึงเหมือนอยู่นิ่งเมื่อเทียบกับดาวฤกษ์ฉากหลัง แต่สามารถสังเกตตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อยเมื่อเวลาผ่านไปหลายชั่วโมง แต่ละคืน ดาวหางเคลื่อนที่ไปบนฟ้าตามการหมุนของโลก จึงมีการขึ้น-ตกเช่นเดียวกับดาวต่าง ๆ บนท้องฟ้า
ประเทศไทยมีโอกาสสังเกตดาวหางดวงนี้ได้โดยแบ่งออกเป็นสองช่วงช่วงแรกดาวหางอยู่บนท้องฟ้าด้านทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด หลังจากกลางเดือนธันวาคม ดาวหางจะย้ายไปอยู่บนท้องฟ้าด้านทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ
ปลายเดือนพฤศจิกายน2564 ดาวหางเลนเนิร์ดเคลื่อนที่อยู่ในซีกฟ้าเหนือ รายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ดาวหางสว่างที่ราวโชติมาตร 7-8 ซึ่งพอจะสังเกตผ่านกล้องได้แล้ว แต่ยังไม่สว่างพอจะเห็นด้วยตาเปล่า
ต้นเดือนถึงกลางเดือนธันวาคมดาวหางเลนเนิร์ดอยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด เคลื่อนผ่านกลุ่มดาวผมเบเรนิซ หมาล่าเนื้อ คนเลี้ยงสัตว์ งู และเฮอร์คิวลีส ระหว่างนั้นคาดว่าความสว่างจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจากราวโชติมาตร 7 ไปที่โชติมาตร 4
ดาวหางเลนเนิร์ดจะผ่านใกล้โลกที่สุดในวันอาทิตย์ที่12 ธันวาคม 2564 ที่ระยะ 0.233 หน่วยดาราศาสตร์ คาดว่าสว่างที่โชติมาตร 4 อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกงู วันนี้ดาวหางอยู่ทางทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด เมื่อดาวหางขึ้นเหนือขอบฟ้า ท้องฟ้าเริ่มสว่างขึ้นแล้ว ทำให้สังเกตได้ค่อนข้างยาก ยกเว้นว่าเกิดเหตุการณ์ที่ดาวหางปะทุความสว่างกว่าที่คาดหมายหลายเท่า หรือมีหางที่สว่างและยาวเป็นพิเศษ ซึ่งอาจทำให้พอจะสังเกตได้จาง ๆ ด้วยตาเปล่า แนะนำให้หาสถานที่ซึ่งท้องฟ้าด้านทิศตะวันออกเปิดโล่ง
หลังจากผ่านจุดใกล้โลกที่สุดดาวหางเลนเนิร์ดจะย้ายไปปรากฏบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ เริ่มสังเกตได้ตั้งแต่ค่ำวันที่ 15 ธันวาคม โดยอยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู วันนั้นดาวหางยังอยู่ใกล้ขอบฟ้าในเวลาที่ท้องฟ้าเริ่มมืด หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ทำมุมห่างดวงอาทิตย์และสูงเหนือขอบฟ้ามากขึ้นทุกวัน แต่ความสว่างจะลดลงเนื่องจากห่างโลกมากขึ้น เคลื่อนผ่านกลุ่มดาวคนยิงธนู และผ่านใกล้ดาวศุกร์ในค่ำวันที่ 18 ธันวาคม โดยอยู่ทางทิศใต้ (ซ้ายมือ) ของดาวศุกร์ที่ระยะห่าง 5° (ระยะห่างเชิงเส้นในอวกาศห่างกันเพียง 0.028 หน่วยดาราศาสตร์ หรือราว 4 ล้านกิโลเมตร)
วันที่21 ธันวาคม 2564 ดาวหางเข้าสู่กลุ่มดาวกล้องจุลทรรรศน์ คาดว่าความสว่างจะลดลงไปที่ราวโชติมาตร 5 วันที่ 30 ธันวาคม เข้าสู่กลุ่มดาวปลาใต้ จางลงไปที่ราวโชติมาตร 6 อาจสังเกตได้ต่อไปถึงราวต้นเดือนหรือกลางเดือนมกราคม 2565 คาดว่าดาวหางอาจสว่างราวโชติมาตร 7 หลังจากนั้นดาวหางจะทำมุมเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น และอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าในเวลาพลบค่ำ ทำให้ไม่สามารถสังเกตต่อไปได้
ที่น่าสนใจคือในช่วงประมาณวันที่9-20 ธันวาคม นักดาราศาสตร์คาดหมายว่าการกระเจิงของแสงในหางฝุ่นอันเกิดจากตำแหน่งดาวหางที่ทำมุมเกือบอยู่ในแนวระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ และอยู่ใกล้ระนาบวงโคจรโลก อาจช่วยให้ดาวหางมีความสว่างเพิ่มขึ้นจากที่คาดหมายได้
เราทราบตำแหน่งดาวหางได้ชัดเจนจากการคำนวณวิถีโคจรที่มีความแม่นยำค่อนข้างสูงโอกาสคลาดเคลื่อนของตำแหน่งมีเพียงเล็กน้อย สิ่งที่ไม่แน่นอนมากกว่าคือความสว่างของดาวหาง นักดาราศาสตร์ทำได้เพียงคาดคะเนแนวโน้มที่อาจเป็นไปได้ โดยอาศัยแบบจำลองมาตรฐานที่ได้จากการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของดาวหางดวงอื่น ๆ ในอดีต ความแตกต่างของดาวหางแต่ละดวง ทั้งขนาด พื้นผิว องค์ประกอบ แหล่งกำเนิด ปฏิกิริยาต่อรังสีจากดวงอาทิตย์ สภาพแวดล้อมในอวกาศที่ดาวหางอยู่ ฯลฯ ทำให้การพยากรณ์ความสว่างของดาวหางมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้
รายงานล่าสุดณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 มีข่าวที่ไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากพบว่าความสว่างของดาวหางเลนเนิร์ดเกือบคงที่ต่อเนื่องมาหลายวัน โดยอยู่ที่ราวโชติมาตร 8 จางกว่าที่คาดไว้ราว 1 อันดับ ซึ่งอาจเกิดจากแสงจันทร์รบกวนตลอดช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านั้น สิ่งที่นักดาราศาสตร์กังวลคืออาจเกิดเหตุการณ์ที่นิวเคลียสของดาวหางเริ่มแสดงสัญญาณของการแตกออกเป็นหลายชิ้น ซึ่งเกิดขึ้นกับดาวหางหลายดวงในอดีต อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนพอจะสรุปได้ว่ากำลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่ ต้องรอดูผลการสังเกตการณ์เพิ่มเติม
ศูนย์ดาวเคราะห์น้อยหรือเอ็มพีซี
เกรกอรี
การพยากรณ์ถึงขณะนี้คาดหมายว่าดาวหางเลนเนิร์ดมีโอกาสจะสังเกตได้ด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก
วงโคจรของดาวหาง
ดาวหางเลนเนิร์ดมีวงโคจรที่มีความเยื้องศูนย์กลางหรือความรีสูง
ดาวหางเลนเนิร์ดมีระนาบวงโคจรทำมุมเอียงประมาณ
ที่จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด
ลักษณะปรากฏของดาวหาง
ดาวหางปรากฏเป็นดวงฝ้ามัว
ดาวหางอยู่ไกลจากโลก
ตำแหน่งดาวหางในประเทศไทย
ประเทศไทยมีโอกาสสังเกตดาวหางดวงนี้ได้โดยแบ่งออกเป็นสองช่วง
ปลายเดือนพฤศจิกายน
ต้นเดือนถึงกลางเดือนธันวาคม
ดาวหางเลนเนิร์ดจะผ่านใกล้โลกที่สุดในวันอาทิตย์ที่
หลังจากผ่านจุดใกล้โลกที่สุด
วันที่
ที่น่าสนใจคือในช่วงประมาณวันที่
ความสว่างที่ไม่แน่นอน
เราทราบตำแหน่งดาวหางได้ชัดเจนจากการคำนวณวิถีโคจรที่มีความแม่นยำค่อนข้างสูง
รายงานล่าสุด