สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวหางแซดทีเอฟ - C/2022 E3 (ZTF)

ดาวหางแซดทีเอฟ - C/2022 E3 (ZTF)

12 มกราคม 2566 โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 25 มกราคม 2566
เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เป็นช่วงมีดาวหางดวงหนึ่งโคจรมาใกล้โลกและดวงอาทิตย์ ผลการสังเกตการณ์ที่ผ่านมาแสดงว่าดาวหางดวงนี้สว่างพอให้สังเกตได้ด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ของนักดาราศาสตร์สมัครเล่น โดยเฉพาะการสังเกตจากสถานที่ซึ่งท้องฟ้ามืด ห่างจากเมืองใหญ่ และไม่มีแสงสว่างจากแหล่งอื่นรบกวน แม้ว่าในทางเทคนิค ขณะสว่างที่สุดในช่วงสิ้นเดือนนี้ ดาวหางมีแนวโน้มสว่างเหนือระดับความสว่างของดาวจางที่สุดที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่การสังเกตด้วยตาเปล่าทำได้ยาก

ดาวหางแซดทีเอฟ C/2022 E3 (ZTF) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 (จาก Michael Jäger)

ชื่อของดาวหางมาจากชื่อของโครงการแซดทีเอฟ (ZTF ย่อมาจาก Zwicky Transient Facility) เป็นโครงการสำรวจท้องฟ้ามุมกว้างด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่ติดตั้งในหอดูดาวพาโลมาร์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีวัตถุประสงค์ในการตรวจหาวัตถุที่มีการเปลี่ยนแปลงความสว่างอย่างรวดเร็ว เช่น ซูเปอร์โนวา แสงวาบรังสีแกมมา รวมไปถึงวัตถุเคลื่อนที่อย่างดาวหางและดาวเคราะห์น้อย ไม่กี่ปีที่ผ่านมา โครงการนี้ค้นพบดาวหางและดาวเคราะห์น้อยจำนวนมาก ทำให้ดาวหางหลายดวงใช้ชื่อเดียวกัน

นักดาราศาสตร์ในโครงการแซดทีเอฟค้นพบดาวหางดวงนี้เมื่อวันที่ มีนาคม พ.ศ. 2565 ผลการคำนวณพบว่าก่อนหน้านี้มีวงโคจรเป็นวงรีที่มีความรีสูง อาจเคยเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาแล้วเมื่อราว 50,000 ปีก่อน ดาวหางได้ผ่านใกล้ดาวเสาร์เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ที่ระยะห่าง 1.177 หน่วยดาราศาสตร์ ทำให้วงโคจรเปลี่ยนเป็นไฮเพอร์โบลา หลังจากผ่านใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งนี้แล้วจะเคลื่อนห่างออกไปแล้วไม่กลับมาอีก

ศูนย์ดาวเคราะห์น้อยหรือเอ็มพีซี องค์กรที่รวบรวมข้อมูลการสังเกตวัตถุต่าง ๆ ในระบบสุริยะของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล ได้ตั้งชื่อวัตถุนี้ในบัญชีดาวหางว่า ซี/2022 อี3 (แซดทีเอฟ) -- C/2022 E3 (ZTF) ตัวอักษรและตัวเลขในชื่ออย่างเป็นทางการนี้ หมายความว่าเป็นดาวหางไม่มีคาบหรือดาวหางคาบยาว (C) ที่ค้นพบใน ค.ศ. 2022 โดยเป็นดาวหางดวงที่ ที่ค้นพบในครึ่งแรกของเดือนมีนาคม (E) ส่วนในวงเล็บเป็นชื่อสามัญที่เรียกตามหน่วยงานที่ค้นพบ แต่ละปีมีการค้นพบดาวหางจำนวนมาก เกือบทั้งหมดมีความสว่างน้อย ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า

ดาวหางแซดทีเอฟจะผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 13 มกราคม 2566 (ตามเวลาประเทศไทย) ที่ระยะ 1.1122 หน่วยดาราศาสตร์ (166 ล้านกิโลเมตร) ซึ่งไกลกว่าระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ และผ่านจุดใกล้โลกที่สุดในคืนวันที่ กุมภาพันธ์ ถึงเช้ามืดวันที่ กุมภาพันธ์ 2566 ที่ระยะ 0.2839 หน่วยดาราศาสตร์ (42 ล้านกิโลเมตร) คาดว่าช่วงที่ใกล้โลกที่สุด ดาวหางจะสว่างที่สุดราวโชติมาตร หรือ ซึ่งเป็นระดับที่อาจเห็นได้จาง ๆ ด้วยตาเปล่าภายใต้ท้องฟ้ามืดสนิท

บนท้องฟ้ามีดาวฤกษ์และวัตถุจำนวนมากที่สว่างกว่าและใกล้เคียงระดับความสว่างของดาวหางดวงนี้ จึงยากจะระบุตำแหน่ง จำเป็นต้องมีแผนที่ดาวซึ่งแสดงตำแหน่งของดาวหางเทียบกับดาวฤกษ์ ดาวหางมีลักษณะปรากฏเป็นดวงฝ้ามัว ใจกลางสว่างกว่าโดยรอบ อาจเห็นหางยืดออกไปเล็กน้อย แตกต่างจากดาวฤกษ์ที่เป็นจุดสว่าง หางของดาวหางส่วนใหญ่จะจางมาก ภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นหางที่สว่างและยืดยาวออกไปเกิดจากการเปิดรับแสงเป็นเวลานาน หรือการผนวกภาพถ่ายหลายภาพเข้าด้วยกัน

ดาวหางอยู่ไกลจากโลก ในคืนหนึ่งจึงเหมือนอยู่นิ่งเมื่อเทียบกับดาวฤกษ์ฉากหลัง แต่สามารถสังเกตตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อยเมื่อเวลาผ่านไปหลายชั่วโมง แต่ละคืน ดาวหางเคลื่อนที่ไปบนฟ้าตามการหมุนของโลก จึงมีการขึ้น-ตกเช่นเดียวกับดาวต่าง ๆ บนท้องฟ้า

นักดาราศาสตร์ระบุความสว่างของวัตถุท้องฟ้าด้วยตัวเลข เรียกว่าโชติมาตร หรืออันดับความสว่าง ดาวที่สว่างกว่ามีโชติมาตรน้อยกว่าดาวที่จางกว่า ดาวที่มีโชติมาตรต่างกัน อันดับ มีความสว่างต่างกันประมาณ 2.5 เท่า ดาวจางที่สุดที่ตาเปล่ามองเห็นภายใต้ท้องฟ้ามืดมีค่าประมาณ 6.5

กลางเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เป็นช่วงที่คาดว่าดาวหางจะสว่างกว่าโชติมาตร และอาจสว่างที่สุดราวโชติมาตร 5-6 ในช่วงปลายเดือนมกราคม-ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ดาวหางดวงนี้มีจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดอยู่นอกวงโคจรของโลก จึงมีตำแหน่งบนท้องฟ้าห่างไกลจากดวงอาทิตย์ ทำให้สามารถสังเกตได้ในเวลาที่ท้องฟ้ามืด ไม่มีแสงจากดวงอาทิตย์รบกวน อย่างไรก็ตาม ยังมีแสงจันทร์ที่เป็นอุปสรรคได้

ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2565 เป็นต้นมา ดาวหางเคลื่อนที่อยู่บริเวณกลุ่มดาวมงกุฎเหนือ สว่างราวโชติมาตร สังเกตได้ในเวลาเช้ามืด วันที่ 14 มกราคม 2566 ดาวหางจะเข้าสู่กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ จากนั้นเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว ผ่านพื้นที่ของกลุ่มดาวมังกร หมีเล็ก ยีราฟ สารถี และกลุ่มดาววัว

คืนวันที่ กุมภาพันธ์ เป็นคืนที่ใกล้โลกที่สุด ดาวหางอยู่ในกลุ่มดาวยีราฟ เป็นกลุ่มดาวใกล้ขั้วฟ้าเหนือ ประเทศในละติจูดสูงจะสังเกตได้ดี ส่วนประเทศไทยซึ่งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ดาวหางมีตำแหน่งค่อนข้างต่ำ ทำให้ความสว่างลดลงเล็กน้อยเนื่องจากมวลอากาศ (วัตถุท้องฟ้ามีความสว่างน้อยลงเมื่อยิ่งใกล้ขอบฟ้ามากขึ้น) นอกจากนี้ยังมีแสงจากดวงจันทร์สว่างรบกวนอีกด้วย ช่วงที่สังเกตได้ดีที่สุดจึงเป็นคืนก่อนหน้านั้น คือช่วงก่อนรุ่งอรุณของวันที่ 18-31 มกราคม 2566

คืนวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 ดาวหางจะผ่านใกล้ดาวอังคารที่ระยะเชิงมุม 1° แต่คาดว่าจะจางลงไปที่โชติมาตร 6.5 การสังเกตดาวหางตลอดช่วงกลางเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์จะทำได้ดีด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ โดยอาศัยดาวฤกษ์ต่าง ๆ ในกลุ่มดาวที่ดาวหางเคลื่อนผ่าน ช่วยนำทางไปหาดาวหาง

แผนที่แสดงตำแหน่งดาวหางแซดทีเอฟในวันที่ 13-31 มกราคม 2566 ลงตำแหน่งที่เวลา 04:00 น. ของทุกวัน โดยหันหน้าไปทางทิศเหนือ-ตะวันออกเฉียงเหนือ แผนที่นี้แสดงดาวฤกษ์ถึงโชติมาตร 6.9 ดาวสว่างที่สังเกตได้ง่ายบริเวณนี้คือดาวในกลุ่มดาวหมีใหญ่ (ดาวจระเข้ของไทย) วันท้าย ๆ ของเดือน ดาวหางเคลื่อนที่เร็วขึ้นเนื่องจากกำลังเข้าใกล้โลกมากขึ้น (จาก SkyChart)

แผนที่แสดงตำแหน่งดาวหางแซดทีเอฟในวันที่ 31 มกราคม 18 กุมภาพันธ์ 2566 ลงตำแหน่งที่เวลา 23:00 น. ของทุกวัน โดยหันหน้าไปทางทิศเหนือ-ตะวันตกเฉียงเหนือ (จาก SkyChart)

ดูเพิ่ม


 รู้จักดาวหาง
 แผนที่ฟ้าออนไลน์ แสดงตำแหน่งดาวและวัตถุท้องฟ้าในเวลาจริง