สมาคมดาราศาสตร์ไทย

กล้องสองตา : คู่หูของนักดูดาว

กล้องสองตา : คู่หูของนักดูดาว

โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) 5 ตุลาคม 2546
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 30 ธันวาคม 2566
"เฮ้ จะไปไหนน่ะ?"
"ไปดูดาว"
"ดูดาวรึ ไปด้วยสิ ใช้กล้องอะไรดูเหรอ?"
"มีกล้องสองตากล้องนึง"
"หา? ไอ้กล้องเนี่ยนะ ดูดาว! "

กล้องสองตา (binoculars) หรือที่เรียกขานกันหลายแบบ เช่น กล้องส่องม้า กล้องส่องทางไกล บ้างก็เรียกทับศัพท์เป็นฝรั่งไปว่า ไบน็อก เป็นอุปกรณ์ที่ทุกคนคงจะเคยเห็นและเชื่อว่าหลายคนมีไว้ที่บ้าน จัดเป็นสื่อทัศนูปกรณ์ที่มีประโยชน์หลากหลายมาก พวกผีพนันนักแทงม้าคงจะคุ้นเคยที่สุด หนุ่ม ๆ บางคนลงทุนซื้อไว้ส่องสาว ๆ ทหารก็ต้องเคยเรียนต้องเคยใช้ ยิ่งนักนิยมไพรทั้งหลายด้วยแล้วยิ่งขาดไม่ได้ เพราะต้องใช้เป็นอาวุธคู่กายไว้ส่องดูสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ผีเสื้อ นก กล้วยไม้ วิวทิวทัศน์สารพัด

แต่ใครเล่าจะคิดว่ากล้องชนิดนี้จะเอาไปส่องดูดาวบนท้องฟ้าได้ด้วย

หลายคนทีเดียวที่เมื่อได้ยินว่าเอากล้องสองตาไปดูดาวแล้วเป็นต้องทำคิ้วขมวด คงสงสัยเหลือเกินว่ากล้องนี่จะไปเห็นอะไรได้ แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า แท้จริงแล้วกล้องสองตาที่เราเห็นว่ามีกำลังขยายแค่ เท่า 10 เท่านั้น เป็นเครื่องมือทางดาราศาสตร์ที่ดีเยี่ยม ไม่เพียงแต่นักดูดาวมือใหม่หรือมือสมัครเล่นเท่านั้น แม้แต่นักดาราศาสตร์หรือนักดูดาวมือฉมังที่มีกล้องโทรทรรศน์ราคาเรือนแสนเรือนล้านก็ยังต้องมีเจ้ากล้องสองตานี่คล้องคออยู่เสมอ และบางครั้งก็เลือกที่จะออกไปดูดาวโดยมีเพียงกล้องสองตา ส่วนกล้องโทรทรรศน์เก็บไว้กับบ้าน กล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นการสังเกตการณ์ในระดับใด คุณค่าของกล้องสองตาก็ไม่เคยด้อยลงไปเลย


กล้องสองตาดีอย่างไร?


ถึงแม้ว่ากล้องโทรทรรศน์นั้นมีกำลังขยายสูงกว่ากล้องสองตามากก็จริง แต่กล้องสองตาก็สามารถทำอะไรบางอย่างได้อย่างที่กล้องโทรทรรศน์ทำไม่ได้หรือทำได้ไม่ดีเท่า ด้วยความที่กล้องสองตามีกำลังขยายต่ำ จึงทำให้เกิดข้อดีอีกอย่างหนึ่งขึ้นมา นั่นคือ มุมรับภาพที่กว้าง ทำให้กล้องสองตาเหมาะสมที่จะใช้ในการดูวัตถุที่มีขนาดปรากฏใหญ่ แต่มีความสว่างน้อยเช่นกระจุกดาว กลุ่มดาวเล็ก ๆ ดาวหาง เนบิวลา เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้ได้ดีในการค้นหาวัตถุแปลกปลอมต่าง ๆ เช่นดาวหางหรือโนวา เคยมีผู้ที่ค้นพบโนวาด้วยกล้องสองตามาแล้วหลายคน และดาวหางอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกค้นพบในครั้งแรกด้วยกล้องสองตา หนึ่งในจำนวนนี้ก็คือ ดาวหางเฮียะกุตะเกะ (Hyakutake) ที่เรารู้จักกันดี

ดาวหางเฮียะกุตะเกะ (Hyakutake) ก็ถูกค้นพบในครั้งแรกด้วยกล้องสองตาเหมือนกัน   (จาก พรชัย อมรศรีจิรทร/เอกชัย ตันวุฒิบัณฑิต)


ส่องเห็นอะไรได้บ้าง?


แน่นอนว่า กล้องสองตาไม่สามารถขยายภาพให้ใหญ่ขึ้นถึงขนาดที่ว่าเห็นภูเขาบนดวงจันทร์เต็มตา หรือเห็นดาวฤกษ์ไกล ๆ ให้เป็นดวงใหญ่เบ้อเริ่มขึ้นมาได้ เพราะแม้แต่กล้องโทรทรรศน์คุณภาพสูงก็ยังทำไม่ได้ แต่มันสามารถพาเราไปสู่โลกอวกาศที่น่าพิศวง เราจะได้เห็นสิ่งต่าง ๆ มากมายอย่างที่เราไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะสามารถเห็นได้ด้วยอุปกรณ์ธรรมดาเช่นนี้

เริ่มที่ดวงจันทร์ก่อนดีไหม ด้วยตาเปล่านั้นเรามองเห็นดวงจันทร์เป็นดวงกลม สีเหลืองนวล มีส่วนสีเข้มเป็นแต้ม ๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งดวง ไม่เห็นอะไรมากไปกว่านี้ ลองยกกล้องสองตาขึ้นส่องดู เราจะเห็นดวงจันทร์มีขนาดใหญ่ดูใกล้เข้ามา แม้จะใหญ่ขึ้นไม่มากนัก แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างมากก็คือ รายละเอียดต่าง ๆ บนพื้นผิวดวงจันทร์จะเห็นชัดเจนขึ้นมาก ขอบของดวงจันทร์ที่เคยเห็นว่ากลมราบเรียบก็ดูเหมือนว่าจะขรุขระตะปุ่มตะป่ำราวกับลูกมะกรูด หากเป็นคืนพระจันทร์เต็มดวง รายละเอียดต่าง ๆ อาจไม่เด่นชัดนัก แต่จะเห็นสิ่งสะดุดตาอยู่อย่างหนึ่งนั่นคือ พื้นที่สีขาวโพลนเป็นบริเวณกว้างอยู่ทางตอนใต้ของดวงจันทร์ มีเส้นสีขาว ๆ พาดอยู่บนพื้นที่สว่างนี้เรียงกันเป็นแนวรัศมี ซึ่งแผ่ออกมาจากจุดศูนย์กลางจุดหนึ่งใกล้ขอบทางใต้ของดวงจันทร์ จุดนั้นคือทีโค หลุมขนาดใหญ่และลึกมากแห่งหนึ่งบนดวงจันทร์

โดยปกติแล้วช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับสังเกตดวงจันทร์ก็คือ ช่วงที่ดวงจันทร์แหว่งเป็นเสี้ยว หรือช่วงที่ไม่เต็มดวงนั่นเอง ในช่วงนี้เราจะเห็นรายละเอียดบนพื้นผิวได้มากกว่าช่วงที่พระจันทร์เต็มดวง เนื่องจากช่วงที่พระจันทร์เต็มดวงนั้นแสงอาทิตย์จะส่องดวงจันทร์ในมุมเกือบตั้งฉากกับพื้นผิว เงาของสิ่งต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นน้อยมากหรืออาจจะไม่มีเลย ซึ่งจะทำให้มองเห็นรายละเอียดบนพื้นผิวได้น้อยและแบนราบไม่มีมิติ นอกจากนี้ในคืนจันทร์เพ็ญแสงจันทร์จะจ้ามากจนทำให้ตาพร่า มองอะไรก็พลอยไม่ชัดไปด้วย แต่ถ้าหากเป็นช่วงจันทร์ไม่เต็มดวง แสงอาทิตย์จะตกกระทบดวงจันทร์ในมุมเฉียง ทำให้เกิดเงาขึ้น โดยเฉพาะช่วงข้างขึ้น 7-8 ค่ำ หรือข้างแรม 7-8 ค่ำ ดวงจันทร์จะเป็นรูปครึ่งดวง แสงอาทิตย์จะส่องจากด้านข้างทำมุมเกือบเป็นมุมฉากกับโลก เราสามารถสังเกตเห็นบริเวณที่เป็นรอยต่อระหว่างด้านมืดและด้านสว่างของดวงจันทร์เป็นบริเวณกว้าง เมื่อเราส่องบริเวณนี้ผ่านกล้องสองตา จะเห็นรอยหลุมบ่อตะปุ่มตะป่ำมากมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากอุกกาบาตพุ่งเข้าชน หลุมเหล่านี้เรียกว่า เครเตอร์ (craters)


นอกจากเครเตอร์แล้ว เราอาจเห็นสภาพภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาและที่ราบได้อีกด้วย บริเวณสีคล้ำที่เราเห็นอยู่เป็นประจำนั้น จะเห็นว่าเป็นที่ราบเรียบดูคล้ายกับเป็นทะเล เรียกว่า มาเร (mare) คำนี้เป็นภาษาละตินแปลว่า ทะเล (รูปพหูพจน์เรียกว่า maria) ซึ่งในปัจจุบันเราทราบแล้วว่า แท้จริงนั้นเป็นเพียงที่ราบต่ำที่เคยถูกเอ่อท่วมด้วยลาวาในยุคเริ่มต้นระบบสุริยะเมื่อหลายพันล้านปีก่อน

ดาวพุธเป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่งที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในช่วงที่ปรากฏอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มาก ๆ แต่โอกาสที่จะมองเห็นดาวพุธด้วยตาเปล่านั้นสั้นเพียงไม่กี่วันเท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วดาวพุธจะถูกบังด้วยแสงจ้าจากดวงอาทิตย์หรือเมฆหมอกบาง ๆ ที่ขอบฟ้าเสียมากกว่า ในช่วงเวลานี้เองที่เป็นสิ่งท้าทายฝีมือในเหล่านักดูดาวอยู่บ่อย ๆ เพราะกล้องสองตาจะช่วยให้ดาวพุธที่ถูกอุปสรรคต่าง ๆ บดบังจนเกือบมิดนี้มองเห็นได้ชัดขึ้น ผู้ที่จะประลองฝีมือในเกมนี้จะต้องมีสายตาที่ดี และควรทราบตำแหน่งของดาวพุธล่วงหน้าด้วย ตำแหน่งของดาวพุธและดาวเคราะห์อื่นหาดูได้ที่หน้า ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (http://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/) ในโฮมเพจสมาคมดาราศาสตร์ไทย ซึ่งจะแสดงตำแหน่งดาวเคราะห์ให้ดูทุกเดือน

ดาวศุกร์น่าจะเป็นเป้าหมายที่น่าตื่นเต้นกว่า ในช่วงที่ดาวศุกร์ปรากฏสว่างจ้านั้น หากเรายกกล้องสองตาขึ้นส่องดู เราจะเห็นดาวศุกร์ใหญ่ขึ้นเป็นดวง มีขนาด ต่างจากดาวพุธกระจิดริดที่เห็นเพียงจุดเล็ก ๆ เท่านั้น และคงจะต้องประหลาดใจอย่างยิ่งว่า ดาวศุกร์ที่เห็นนั้นไม่ได้เป็นดวงกลมอย่างที่คาดคิด แต่กลับเห็นเป็นเสี้ยวราวกับพระจันทร์เสี้ยวอย่างไรอย่างนั้น หากเราสังเกตดาวศุกร์นี้ต่อเนื่องกันทุก ๆ วัน จะเห็นว่ารูปร่างของมันเปลี่ยนไป จากเสี้ยวบางไปเป็นครึ่งดวงและลามไปจนกระทั่งเกือบเต็มดวง และในทางกลับกัน จากเกือบเต็มดวงค่อย ๆ แหว่งไปจนเป็นเสี้ยวบาง เช่นเดียวกับดวงจันทร์ นี่เป็นปรากฏการณ์เดียวกันกับที่กาลิเลโอสังเกตเห็นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1610 กาลิเลโอสรุปว่าการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของดาวศุกร์ในลักษณะนี้ เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อดาวศุกร์โคจรรอบดวงอาทิตย์เท่านั้น การสังเกตการณ์ในครั้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาสนับสนุนแนวคิดที่ว่า ดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ไม่ใช่โลกดังที่คนส่วนใหญ่ในยุคนั้นเชื่อกัน เรามาพิสูจน์ความจริงนี้กันดีไหม?

ดาวอังคาร เป็นดาวเคราะห์สีแดงโดดเด่นจำแนกได้ง่าย ดาวอังคารในโลกของกล้องสองตาจะเห็นเป็นดวงกลมเช่นเดียวกันแต่จะไม่เห็นรายละเอียดใด ๆ เนื่องจากดาวอังคารมีขนาดเล็กมาก เราจำเป็นต้องใช้กล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูงแทนหากต้องการเห็นขั้วน้ำแข็งหรือร่องรอยอื่น 

ดาวพฤหัสบดี น่าจะเป็นดาวเคราะห์ที่สร้างความประทับใจได้ง่ายที่สุดสำหรับกล้องสองตา เพราะแม้แต่กล้องสองตาคุณภาพปานกลางที่มีกำลังขยายเพียง เท่า ก็สามารถมองเห็นดวงจันทร์บริวารของมันได้แล้ว ดวงจันทร์บริวารที่มองเห็นได้ด้วยกล้องสองตามีอยู่ ดวง คือ ไอโอ ยุโรปา แกนีมีด และคัลลิสโต ซึ่งก็เป็น ดวงเดียวกันกับที่กาลิเลโอเห็นเมื่อกว่า 300 ปีมาแล้ว ดวงจันทร์ทั้งสี่นี้จึงมีชื่อเรียกตามผู้ที่เห็นเป็นคนแรกว่า ดวงจันทร์กาลิเลโอ (Galilean satellites) คัลลิสโตกับแกนีมีดมีรัศมีวงโคจรห่างกว่าอีกสองดวงจึงมักเห็นได้ง่ายกว่า ในขณะที่ไอโอกับยุโรปามีโอกาสเห็นน้อยกว่า เนื่องจากดวงจันทร์สองดวงนี้มีวงโคจรแคบ จึงมีโอกาสมาอยู่ด้านหน้าดาวพฤหัสบดีหรือถูกดาวพฤหัสบดีบังบ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังถูกแสงจ้าจากดาวพฤหัสบดีรบกวนอีกด้วย จริง ๆ แล้วดวงจันทร์บริวารสี่ดวงนี้มีขนาดเฉลี่ยพอ ๆ กับดวงจันทร์ของเราเลยทีเดียว แต่ในกล้องสองตาจะมองเห็นเป็นจุดเล็ก ๆ คล้ายดาวฤกษ์จาง ๆ เท่านั้น คิดดูก็แล้วกันว่ามันอยู่ห่างจากเราขนาดไหน ถ้าอยากทราบว่าจุดไหนคือดวงจันทร์ดวงไหน เราอาจดูได้จากปฏิทินตำแหน่งดาวเคราะห์ที่หน้า "ปรากฏการณ์ท้องฟ้า" ของโฮมเพจสมาคมดาราศาสตร์ไทย เว็บเพจหน้านี้แสดงตำแหน่งดวงจันทร์กาลิเลโออยู่เป็นประจำทุกเดือน

ดาวพฤหัสบดีเองก็มองเห็นเป็นรูปดวงกลมใหญ่ หากกล้องมีกำลังขยายมากพอ ก็อาจสังเกตเห็นแถบสีคล้ำบนพื้นผิวของดาวได้อีกด้วย หากช่างสังเกตอีกสักนิด จะเห็นว่าดาวพฤหัสบดีนั้นไม่ได้กลมดิกแบบดวงจันทร์หรือดาวอังคาร แต่มีลักษณะแป้นออกในแนวออก-ตก นั่นเป็นเพราะดาวเคราะห์ยักษ์ดวงนี้มีลักษณะเหลวไม่ได้เป็นหินแข็งอย่างโลก แถมยังหมุนรอบตัวเองเร็วกว่าโลกถึงสองเท่า รอบหนึ่งประมาณสิบชั่วโมงเท่านั้นเอง

บางครั้งภาพดาวเคราะห์นี้อาจมีความสว่างมากเกินไปจนรายละเอียดต่างถูกลบเลือนหายไปหมด หากเกิดกรณีนี้เราอาจแก้ไขด้วยวิธีง่าย ๆ คือ ใช้นิ้วไปบังหน้ากล้องทั้งสองด้าน ระวังอย่าให้นิ้วมือไปแตะถูกเลนส์วัตถุของกล้องเข้าจะเสียของ การทำอย่างนี้เป็นการลดพื้นที่รับแสงของกล้อง ทำให้ความสว่างของภาพลดทอนลงไป จนอาจเห็นรายละเอียดของผิวดาวเคราะห์มากขึ้นได้ ควรเลือกบังที่บริเวณขอบเลนส์ดีกว่ากลางเลนส์ เพราะนอกจากจะปลอดภัยจากความเผลอเอานิ้วไปแตะเลนส์แล้ว ยังอาจเป็นการช่วยให้ภาพคมชัดขึ้นเล็กน้อยอีกด้วย ข้อนี้จะเห็นผลชัดกับกล้องคุณภาพต่ำ 

ลักษณะของดาวเสาร์เมื่อมองผ่านกล้องสองตา  


เทคนิคการเอานิ้วบังหน้าเลนส์นี้อาจจำเป็นมากขึ้นหากต้องการจะส่องเห็นวงแหวนดาวเสาร์ กล้องที่กำลังขยายต่ำเกินไปหรือคุณภาพต่ำอาจมองไม่เห็นวงแหวนก็ได้ กำลังขยายของกล้องไม่ควรต่ำกว่า 10 เท่า ดาวเสาร์ที่เห็นผ่านกล้องสองตานั้นมีขนาดเล็กกว่าดาวพฤหัสบดีมาก เมื่อส่องไปแล้วจะเห็นเป็นจุดสว่างจ้าเป็นประกายรอบดาวเต็มไปหมดจนแยกแยะมองหาวงแหวนไม่เห็น เราจะต้องถือกล้องให้นิ่ง อาจใช้นิ้วบังหน้ากล้องเล็กน้อยก็อาจจะเห็นวงแหวนของดาวเสาร์ขึ้นมาได้ รูปร่างวงแหวนนี้จะเห็นแตกต่างกันไปตามช่วงเวลา หากเป็นช่วงที่ดาวเสาร์ตะแคงขั้วมาทางโลกหรือหันออกจากโลกมาก ๆ จะเห็นวงแหวนเป็นพื้นที่กว้าง แต่ถ้าเป็นช่วงที่ดาวเสาร์เกิดหันขอบวงแหวนมาทางโลกพอดี วงแหวนทั้งวงนั้นก็จะหายไปเลย เพราะวงแหวนดาวเสาร์นี้หนาเพียงไม่กี่ร้อยเมตรเท่านั้นเอง

ดาวยูเรนัสกับดาวเนปจูนมีความสว่างน้อยจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จริงอยู่ที่ว่าดาวยูเรนัสในช่วงที่สว่างที่สุดจะมีอันดับความสว่าง 5.7 ซึ่งสว่างกว่าขีดจำกัดต่ำสุดของสายตามนุษย์คือ อันดับความสว่าง ถึงกระนั้นเราก็ไม่สามารถจำแนกได้ว่าจุด ๆ ไหนคือดาวยูเรนัส เพราะดาวที่สว่างประมาณ 5-6 นั้นมีมากมายเต็มไปหมด แต่ดาวยูเรนัส ดาวเนปจูน และรวมถึงดาวเคราะห์น้อยอีกหลายดวงก็ยังสว่างพอที่จะเห็นได้ไม่ยากนักด้วยกล้องสองตา โดยทั่วไปกล้องสองตาจะมองเห็นดาวที่จางถึงอันดับความสว่าง ได้ การส่องหาดาวเคราะห์สองดวงนี้ด้วยกล้องสองตาต้องใช้ความพยายามพอสมควร เราจำเป็นจะต้องทราบตำแหน่งของดาวเคราะห์เสียก่อน ตำแหน่งของดาวเคราะห์นี้หาดูได้จากปฏิทินดาวเคราะห์หรือที่หน้า ปรากฏการณ์ท้องฟ้าของโฮมเพจสมาคมดาราศาสตร์ไทยเช่นกัน เมื่อทราบตำแหน่งแล้ว ให้ส่องขึ้นไปบนท้องฟ้าบริเวณนั้น สเก็ตช์ตำแหน่งของดาวต่าง ๆ ดูแล้วเทียบกับแผนที่ หากยังชี้ชัดไม่ได้ว่าดาวดวงใดคือดาวเคราะห์ที่ต้องการหา ก็จะต้องมาสังเกตอีกครั้งในคืนถัดไป ทำเช่นนี้สักหลาย ๆ วัน แล้วนำภาพสเก็ตช์ตำแหน่งดาวจากที่สเก็ตช์ไว้ในแต่ละวันมาเปรียบเทียบดู หากจุดดาวจุดไหนมีการเปลี่ยนตำแหน่งก็แสดงว่าจุด ๆ นั้นคือดาวเคราะห์ที่เราต้องการจะหานั่นเอง ขั้นตอนเหล่านี้ดูจะทุกลักทุเลสักหน่อย นับว่าเป็นแบบฝึกหัดทดสอบความเพียรได้ดี ดาวเคราะห์สองดวงนี้ รวมทั้งดาวเคราะห์น้อยอีกหลายดวงก็ถูกค้นพบในครั้งแรกด้วยวิธีนี้เหมือนกัน

นอกจากวัตถุในระบบสุริยะแล้ว กล้องสองตายังเหมาะที่จะนำไปสังเกตสิ่งที่มีลักษณะเป็นฝ้าหรือเป็นปุยจาง ๆ ซึ่งมีอยู่มากมายดาษดื่นทั่วท้องฟ้า เช่น กระจุกดาว เนบิวลา กาแล็กซี รวมทั้งมวลหมู่ดาวฤกษ์นับล้าน ๆ ในทางช้างเผือก การกวาดส่องกล้องสองตาท่องเที่ยวไปบนท้องฟ้าจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งเรื่อย ๆ อย่างนี้เป็นการสำรวจท้องฟ้าที่เพลิดเพลินมาก ข้อนี้เป็นข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งของกล้องสองตาซึ่งกล้องโทรทรรศน์ไม่มีทางสู้ได้

ในระหว่างที่เราถือกล้องสองตากวาดหาสิ่งเร้นลับบนท้องฟ้าอยู่นั้น บางครั้งอาจมีดาวตกพุ่งผ่านมาในจอภาพพอดีก็ได้ คิด ๆ ดูแล้วมันไม่น่าจะเกิดขึ้นง่ายนักกับพื้นที่ท้องฟ้าแคบ ๆ ในกรอบภาพของกล้องสองตา แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่าเกิดขึ้นบ่อยครั้งทีเดียว เนื่องจากกล้องสองตาสามารถมองเห็นดาวตกจาง ๆ หลายดวงที่ตาเปล่ามองไม่เห็นได้ ภาพดาวตกที่บังเอิญผ่านเลนส์กล้องสองตานี้จะสว่าง สวยงาม และน่าตกใจกว่าการมองดาวตกธรรมดาด้วยตาเปล่ามาก สร้างความประทับใจได้ยาวนานไม่รู้ลืม

ถึงตอนนี้เราคงจะได้เห็นแล้วว่า กล้องสองตาธรรมดาราคาสองสามพันที่เรามีอยู่นี้มีความสามารถขนาดไหน ในตอนหน้าเราจะได้เรียนรู้ถึงวิธีการใช้งานกล้องสองตากัน

การใช้กล้องสองตา


หลายคนอาจจะคิดว่า แค่กล้องสองตาแค่นี้จะมีวิธีใช้อะไรต้องพูดกัน เพียงยกขึ้นมาส่องแล้วปรับโฟกัสก็ใช้ได้แล้วมิใช่หรือ? ในความเป็นจริงแล้ว การใช้กล้องสองตาก็มีเรื่องควรทราบและควรเรียนรู้อยู่บ้างพอสมควร บางเรื่องก็เป็นเรื่องสำคัญแต่มักถูกมองข้ามไปอยู่เสมอ ประมาณว่าเกือบครึ่งหนึ่งของคนที่ใช้กล้องสองตาที่พบเห็นกันนั้นใช้งานอย่างผิด ๆ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า มีบางคนเอากล้องขึ้นมาส่องแล้วบ่นว่า ดูไม่ชัดบ้าง หรือดูแล้วปวดตาบ้าง แล้วก็เลิกราไป ทั้ง ๆ ที่กล้องที่เขาใช้อยู่นั้นก็เป็นกล้องดีราคาแพงเสียด้วย

กล้องสองตากล้องหนึ่งจะมีส่วนที่เคลื่อนไหวได้อยู่ ส่วนคือ

แกนกล้อง
ล้อหรือแหวนปรับโฟกัส
แหวนแก้สายตา

ส่วนต่าง ๆ ของกล้องสองตา 

แกนกล้อง คือส่วนที่มีลักษณะเหมือนบานพับที่เชื่อมระหว่างลำกล้องสองข้างเข้าด้วยกัน แกนนี้บิดไปมาได้ เพื่อปรับความห่างระหว่างลำกล้องทั้งสองให้เท่ากับความห่างของลูกตาของเรา เพราะคนแต่ละคนมีความห่างของลูกตาไม่เท่ากัน หากเราปรับความห่างของกล้องไม่เท่ากับความห่างลูกตาแล้ว เวลาเราส่องดูจะเห็นภาพในกล้องไม่ทับกันพอดี เมื่อส่องไปนาน ๆ ทำให้ตาลายจะพาลเลิกดูดาวเอาได้ จึงไม่ควรละเลยในจุดนี้

ในการปรับความห่างของกล้องให้เท่ากับความห่างของตานี้ เราไม่ต้องถึงกับเอาไม้บรรทัดมาวัดหรือให้เพื่อนช่วยเล็งให้แต่อย่างใด วิธีปรับนี้ทำได้ง่ายมาก เพียงแต่ยกกล้องขึ้นส่องเหมือนกับจะส่องวิวธรรมดา ยังไม่ต้องปรับโฟกัสในตอนนี้ก็ได้ ให้สังเกตดูที่กรอบภาพ ถ้าความห่างของกล้องเข้ากันได้กับความห่างของลูกตาแล้ว กรอบภาพที่เห็นจะซ้อนกันเป็นวงกลมพอดีเหมือนกับส่องด้วยตาข้างเดียว ไม่มีการเหลื่อมกัน แต่ถ้าหากขอบภาพมีการเหลื่อมกันแสดงว่าความห่างของกล้องยังไม่เหมาะสม ให้บิดกล้องตามแนวแกนกล้องขึ้นหรือลงจนกว่าจะเห็นกรอบภาพกลมที่สุด ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว กล้องสองตาคุณภาพดีจะสามารถให้กรอบภาพกลมสนิทไม่มีการซ้อนเหลื่อม ดังนั้นเมื่อเลือกซื้อกล้องสองตาจึงควรพิจารณ์จุดนี้ด้วย

แหวนปรับโฟกัสเป็นชิ้นส่วนที่คนส่วนใหญ่รู้จักและเข้าใจดี เพราะเป็นส่วนที่ต้องใช้บ่อยที่สุด เป็นแหวนที่ใช้สำหรับปรับความชัดของภาพ เมื่อส่องวัตถุต่าง ๆ ที่มีระยะห่างต่างกันก็ต้องปรับโฟกัสตามไปด้วย แต่สำหรับการดูดาว วัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ อยู่ที่ระยะใกล้อนันต์ จึงมีระยะโฟกัสที่ใกล้เคียงกันมาก การส่องดูดาวจึงไม่ต้องปรับโฟกัสกันบ่อยเหมือนกับการส่องดูวัตถุบนพื้นโลก

แหวนแก้สายตาเป็นส่วนที่ถูกมองข้ามมากที่สุด วงแหวนนี้จะอยู่ใกล้กับเลนส์ตาและมักมีอยู่เพียงข้างขวาข้างเดียว วงแหวนนี้จะทำหน้าที่คล้ายกับวงแหวนปรับโฟกัส แต่เป็นการปรับโฟกัสเพียงข้างเดียวเพื่อชดเชยความไม่สมดุลของสายตาทั้งสองข้าง เพราะคน ๆ หนึ่งอาจมีสายตาสองข้างสั้นยาวไม่เท่ากัน เช่นสายตาข้างหนึ่งอาจจะสั้น 50 อีกข้างหนึ่งอาจจะสั้น 200 ก็เป็นไปได้ หากไม่มีแหวนแก้สายตานี้แล้ว ผู้ใช้ที่มีสายตาไม่สมดุลจะไม่สามารถมองเห็นภาพที่ชัดเจนทั้งสองข้างพร้อม ๆ กันได้เลย จะต้องมีภาพอย่างน้อยข้างใดข้างหนึ่งมัวอยู่เสมอ

การปรับแหวนแก้สายตา ให้ทำตามลำดับดังนี้

1. ยกกล้องขึ้นส่องดาวดวงหนึ่ง ดวงไหนก็ได้
2. หลับตาขวา ให้มองด้วยตาซ้ายข้างเดียว
3. ปรับวงแหวนโฟกัสจนกระทั่งเห็นภาพดาวชัดเจนที่สุด
4. หลับตาซ้าย ให้มองด้วยตาขวาอย่างเดียว
5. ปรับวงแหวนแก้สายตาจนกระทั่งเห็นภาพดาวชัดเจนที่สุดโดยไม่ต้องปรับวงแหวนโฟกัส

เพียงเท่านี้ก็ถือว่าจบสิ้นกระบวนการปรับแหวนแก้สายตาแล้ว ลองดูที่ขีดที่บอกระยะข้าง ๆ วงแหวนแก้สายตา แล้วจำเอาไว้ว่าชี้อยู่ที่ขีดไหน หากต่อไปเราเผลอเอามือไปเลื่อนวงแหวนนี้เข้าจะได้หมุนกลับมาที่ตำแหน่งเดิมได้ทันที ไม่ต้องมาทำตามขั้นตอนอีกรอบให้เสียเวลา ถ้ากล้อง ๆ นี้เป็นของเราเอง ไม่มีใครขอยืมใช้ (หรือไม่อยากให้ใครยืม) เราอาจจะเอาเทปมาพันทับวงแหวนนี้ไม่ให้ขยับเลยก็ได้ เพราะการปรับแก้สายตาของแหวนนี้ใช้ได้กับทุกระยะวัตถุ ไม่ว่าจะเอาไปส่องดาวไกล ๆ หรือสองวัตถุอื่นในระยะใกล้ ๆ ก็ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวอะไรกับวงแหวนนี้อีก เหลือเพียงวงแหวนปรับโฟกัสวงเดียวเท่านั้นที่ต้องปรับอยู่เสมอเมื่อส่องวัตถุที่อยู่ใกล้ไกลไม่เท่ากัน

ในขั้นตอนการใช้แหวนแก้สายตาที่กล่าวมานั้น เราใช้ดาวเป็นวัตถุทดสอบ จริง ๆ แล้ว เราอาจใช้วัตถุอื่น ๆ อยู่ในระยะไกล ๆ เช่น ยอดไม้ เสาไฟ เป็นวัตถุทดสอบแทนก็ได้ แต่ดาวจะเป็นวัตถุทดสอบที่ดีที่สุด เพราะว่าอยู่ไกลที่สุด และมีคอนทราสต์มากที่สุด

ถ้าปรับระยะห่างระหว่างกล้องทั้งสองข้างสัมพันธ์กับระห่างระหว่างลูกตา ภาพที่ได้จะคมชัด กรอบภาพจะกลมพอดี (ซ้าย) แต่ถ้าปรับระยะห่างระหว่างกล้องทั้งสองข้างไม่สัมพันธ์กับระห่างระหว่างลูกตา หรือแกนกล้องไม่ได้ศูนย์ ภาพที่ได้จะซ้อนเหลื่อม และกรอบภาพไม่กลมพอดี (ขวา) 

การดูแลรักษา


หากเปรียบเทียบกล้องสองตากับกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องถ่ายรูปแล้ว กล้องสองตาจะมีความทนทานบึกบึนมากกว่า เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซับซ้อนอย่างกล้องถ่ายรูป และมีขนาดกระทัดรัด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะปล่อยปละละเลยในเรื่องการดูแลรักษาไปได้ กล้องสองตาก็เป็นเช่นเดียวกับทรรศนูปกรณ์ชนิดอื่น ๆ ที่ต้องการดูแลรักษาอย่างทะนุถนอม เพื่อให้คงสภาพและคงคุณภาพรับใช้เราได้นานเท่านาน

เลนส์เป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญให้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเลนส์ตา หากมีฝุ่นมาเกาะที่เลนส์ ให้ใช้ที่เป่าฝุ่นสำหรับใช้กับกล้องถ่ายรูปมาเป่า หากเป่าไปไม่หมดยังเหลือฝุ่นเกาะอยู่เล็กน้อยก็ควรปล่อยไว้อย่างนั้น ฝุ่นเกาะไม่กี่เม็ดอย่างนั้นไม่มีผลกับคุณภาพภาพเท่าใดนัก สิ่งที่จะมีผลต่อภาพมาก ๆ จะได้แก่พวกคราบต่าง ๆ ซึ่งอาจเกิดจากนิ้วของเราเผลอไปแตะโดน หรือที่เกิดบ่อย ๆ ก็คือคราบที่เกิดจากการเช็ดเลนส์แต่เช็ดไม่หมด เมื่อเราจะเช็ดเลนส์ ควรเช็ดด้วยกระดาษเช็ดเลนส์ควบคู่กับน้ำยาเช็ดเลนส์ที่ใช้กับกล้องถ่ายรูปทั่วไป และเช็ดให้หมดจดเกลี้ยงเกลาไม่เหลือคราบน้ำยา ไม่ควรเช็ดแห้ง ๆ เด็ดขาด เพราะฝุ่นจะไปขูดกับเลนส์ทำให้เกิดริ้วรอยขนแมวซึ่งลดทอนความคมชัดของภาพค่อนข้างมาก การเช็ดเลนส์ก็ไม่ควรเช็ดบ่อยเกินไปนัก เพราะการเช็ดแต่ละครั้งจะทำให้สารเคลือบเลนส์สึกไปทีละนิดทั้งจากแรงเช็ดถูและจากน้ำยา เราควรเช็ดเลนส์ก็ต่อเมื่อเลนส์เกิดเปื้อนคราบขึ้นมาเท่านั้น หากเพียงแต่เปื้อนฝุ่นควรจะใช้วิธีเป่าฝุ่นออกเพียงอย่างเดียว

หลังจากที่ออกไปดูดาวกลับมาแล้ว กล้องสองตาของเราจะมีความชื้นอยู่ค่อนข้างมาก ทั้งความชื้นที่มาจากน้ำค้างและจากมือ ก่อนจะนำกล้องไปเก็บต้องทำให้แห้งดีเสียก่อน โดยการนำไปผึ่งลมหรือแดดอ่อน ๆ อาจใช้ความร้อนจากโคมไฟส่องโต๊ะหรือเครื่องเป่าผมช่วยก็ได้ เป่าตามส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะชิ้นเลนส์ แต่ไม่ควรใช้ความร้อนสูงเกินไปหรือนำไปตากแดดจัด ๆ เพราะความร้อนนั้นอาจทำลายชิ้นส่วนภายในกล้องที่อาจจะเป็นยางหรือวัสดุกันน้ำให้เสื่อมสภาพได้ เมื่อกล้องแห้งดีแล้วจึงนำไปเก็บ

เก็บกล้องที่ไหนดี? กล้องสองตาที่ซื้อมาใหม่ ๆ มักจะมีกระเป๋าหนังเทียมหรือกระเป๋าผ้าไนล่อนใส่กล้องมาให้ กระเป๋านี้เหมาะสำหรับใส่กล้องเดินทางไปไหนมาไหนเพราะกันกระแทกกันสกปรกได้ดี แต่ไม่เหมาะที่จะเก็บกล้องเวลาอยู่กับบ้าน เนื่องจากวัสดุที่ใช้ทำกระเป๋าเหล่านั้นมักเป็นตัวเก็บความชื้นที่ดี แม้จะมีซิลิกาเจลกันชื้นอยู่ในกล่องแล้วก็ตาม หากเก็บไว้เป็นเวลานานหรือเมื่อใดที่สารกันชื้นหมดอายุ เมื่อนั้นราจะถามหา ยิ่งถ้าเก็บไว้เป็นเวลานาน ตอนกลับมาเปิดฝาดูอีกทีจะเห็นราขึ้นขาวโพลนไปหมด เวลาที่เราเก็บกล้องไว้กับบ้านไม่ได้ใช้นาน ๆ ควรเก็บไว้ในกล่องพลาสติกหรือถุงที่กันความชื้นได้ นั่นคือต้องปิดฝาได้สนิทและมีขอบยางกันความชื้นเล็ดลอด ตามร้านขายกล้องถ่ายรูปจะมีกล่องแบบนี้ขายโดยเฉพาะ แต่ราคาค่อนข้างแพง ถ้าจะประหยัดเราอาจไปซื้อกล่องใส่อาหารสำหรับปิกนิกมาแทนก็ได้ หาซื้อได้ทั่วไปตามซูเปอร์มาร์เก็ต มีหลายขนาดให้เลือกและราคาสมเหตุสมผล

อีกอย่างหนึ่งที่จะต้องมีไว้ประจำกล่องเก็บกล้องสองตาก็คือ ซิลิกาเจลสำหรับดูดความชื้นหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่ายากันชื้น ซิลิกาเจลนี้หาซื้อได้ที่ร้านศึกษาภัณฑ์หรือตามร้านขายอุปกรณ์ถ่ายรูปทั่วไป ส่วนใหญ่เขาจะขายเป็นถุง ๆ ละครึ่งกิโลกรัมหรือ กิโลกรัม ราคาเพียงไม่กี่สิบบาทเท่านั้น มีหลายคนที่ใช้ซิลิกาเจลเก่า โดยอาจจะขอมาจากร้านขายยา หรือจากบรรจุภัณท์ที่มากับสินค้าต่าง ๆ แบบนี้ก็ใช้ได้เช่นกัน แต่ซิลิกาเจลของฟรีนี้มักจะได้มาในขณะที่มันเริ่มเสื่อมหรือใกล้หมดอายุแล้ว ดังจะเห็นได้จากเม็ดซิลิกาเจลบางเม็ดที่มีสีชมพู ฉะนั้น เมื่อได้มาแล้วเราต้องนำมาชุบชีวิตใหม่โดยการเอาไปคั่วไฟอ่อน ๆ สักพัก จนกระทั่งเม็ดที่เป็นสีชมพูเปลี่ยนสีกลับมาเป็นสีฟ้าก็ถือว่าใช้ได้ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ซิลิกาเจลที่คั่วไฟแล้วจะมีประสิทธิภาพในการดูดความชื้นลดลง ยิ่งคั่วซ้ำหลาย ๆ ครั้งก็ยิ่งลดลงไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็จะหมดอายุอย่างถาวร ดังนั้น ถ้าจะให้อุ่นใจในเรื่องความชื้นก็ควรใช้ซิลิกาเจลของใหม่ดีกว่า

ในกรณีที่ซิลิกาเจลหมดและยังหาใหม่ไม่ได้ หรือไม่มีกล่องที่เหมาะสมใส่ ที่เก็บกล้องชั่วคราวที่ดีที่สุดก็คือบนโต๊ะนั่นเอง ยอมให้กล้องตากฝุ่นเสียหน่อยไม่เป็นไร ยังเป่าออกได้ ดีกว่าให้ราขึ้น ไม่ควรเก็บไว้ในกระเป๋ากล้อง หรือตู้เสื้อผ้า เพราะสถานที่เหล่านี้ล้วนแต่เป็นแหล่งเพาะราอย่างดีทั้งสิ้น


ตัวเลขนั้นสำคัญไฉน


ที่ตัวของกล้องสองตาแทบทุกกล้องจะแสดงตัวเลขอยู่จำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่จะมีอยู่ ตัวเลข คือตัวเลขบอกกำลังขยาย ขนาดหน้ากล้อง และมุมกว้างของภาพ (angle of view)

ตัวเลขกำลังขยายและขนาดหน้ากล้องมักจะใช้คู่กันโดยมีเครื่องหมายคูณ × อยู่ตรงกลาง เช่น 10 × 50 หมายความว่า มีกำลังขยาย 10 เท่า และขนาดหน้ากล้อง 50 มิลลิเมตร ส่วนมุมกว้างของภาพจะบอกโดยมีหน่วยเป็นองศา การเลือกซื้อกล้องสองตามาใช้งานต่าง ๆ เรามักพิจารณาตัวเลขสองตัวนี้เป็นสำคัญ ดังจะเห็นได้ว่าแคตาล็อกของกล้องสองตามักจะแสดงเพียงตัวเลขสองตัวนี้เท่านั้น

ในขณะดูดาวจริง ตัวเลขกำลังขยายและขนาดหน้ากล้องจะไม่มีความสำคัญมากนัก แต่ตัวเลขที่เราอาจต้องใช้ในขณะดูดาวคือมุมกว้างของภาพ มุมกว้างของภาพมีประโยชน์ในการประมาณขนาดและระยะห่างระหว่างวัตถุในภาพ ในการดูดาว เราอาจใช้ความกว้างของหน้ากล้องในการวัดระยะทางเชิงมุมบนท้องฟ้าได้ เมื่อเราทราบความกว้างเชิงมุมของภาพของกล้อง เวลาส่องดูท้องฟ้าก็จะเหมือนกับมีไม้บรรทัดทาบอยู่ข้างจอตลอดเวลา เช่น สมมุติว่าเราเปิดดูแผนที่ดาวอย่างละเอียดและพบกระจุกดาวกระจุกหนึ่งน่าสนใจและอยากจะส่องดู บังเอิญโชคร้ายที่ไม่มีดาวสว่างอยู่ใกล้เคียงพอจะให้เป็นที่อ้างอิงเลย แต่ยังมีดาวสว่างที่อยู่ดวงหนึ่งอยู่ห่างออกไปทางทิศเหนือ วัดระยะห่างระหว่างดาวนี้กับกระจุกดาวที่ต้องการหาในแผนที่ได้ 15° และสมมติว่ากล้องของเรามีมุมกว้างของภาพเท่ากับ 6° เราก็ใช้วิธีตั้งต้นโดยส่องหาดาวดวงนี้ก่อน โดยให้ดาวอยู่ชิดขอบภาพทางทิศเหนือ จำไว้ว่าตรงของภาพทางทิศใต้อยู่ตรงจุดไหน (อย่าลืมว่า ท้องฟ้าเมื่อมองผ่านกล้องจะมีดาวเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นฉากหลังเต็มไปหมด พอที่จะให้เราสังเกตความแตกต่างของแต่ละจุดภายในพื้นที่แคบ ๆ ได้ ไม่มืดหมดอย่างที่มองด้วยตาเปล่า) ต่อไปก็หันกล้องกวาดไปทางใต้อย่างช้า ๆ จนให้จุดนั้นมาอยู่ที่ขอบภาพทางทิศเหนือ แล้วก็ทำเช่นนี้ต่อไปอีก ครั้ง นั่นหมายความว่า ขณะนี้ตำแหน่งจุดกลางภาพที่เราเห็นอยู่ห่างจากดาวสว่างดวงนั้น 15° พอดี กระจุกดาวที่เราต้องการหาก็ควรจะอยู่ตรงกลางภาพพอดีด้วย


นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในการประมาณขนาดของวัตถุอีกด้วย เช่นหากอยากทราบขนาดของกระจุกดาวนั้น ก็ให้เปรียบเทียบขนาดของกระจุกดาวที่เห็นกับความกว้างของขอบภาพ สมมุติว่ากระจุกดาวที่เห็นมีขนาดประมาณหนึ่งในสี่ของขอบภาพ ก็แสดงว่ากระจุกดาวนี้มีขนาดเชิงมุม 1.5° เป็นต้น

จะถือกล้องก็ต้องมีสูตร


เทคนิคที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับการใช้กล้องสองตาก็คือ การยึดกล้องให้นิ่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจอย่างมาก เพราะถ้าหากกล้องสั่นไหวหรือโยกเยกมากเกินไป นอกจากจะทำให้มองไม่เห็นรายละเอียดต่าง ๆ แล้ว ยังจะทำให้ตาลายและน่าเวียนหัวเป็นอย่างมาก ซ้ำยังบั่นทอนสุขภาพตาและสุขภาพจิตอีกด้วย แทนที่จะเพลิดเพลินกับการดูดาวกลับกลายเป็นเกลียดดาวไป เทคนิคในการถือกล้องให้มั่นคงนั้นมีอยู่มากมายหลายวิธี ในที่นี้จะกล่าวถึงวิธีง่าย ๆ บางวิธีให้นักดูดาวอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามอัธยาศัย


วิธีที่ดีที่สุดที่จะยึดกล้องให้มั่นคงก็คือการยึดกับขาตั้งกล้อง กล้องสองตารุ่นหลัง ๆ ที่ผลิตออกมามักมีช่องสำหรับยึดติดกับขาตั้งกล้องถ่ายภาพได้ด้วย บางชนิดทำเป็นเดือยยื่นออกจากดุมกล้องออกไปด้านล่างแล้วหักงอเป็นมุมฉาก มีรูสำหรับขันเกลียวยึดกับขาตั้งกล้องได้ทันที กล้องสองตาที่มีลักษณะดังกล่าวนี้มักจะเป็นกล้องขนาดใหญ่ อย่างเช่นกล้องขนาด 15 × 80 หรือ 20 × 100 แต่กล้องส่วนใหญ่โดยเฉพาะกล้องขนาดเล็ก ๆ ผู้ผลิตมักจะทำเพียงแค่ให้มีรูเกลียวอยู่ที่ด้านหน้าของดุมกล้อง ถ้าจะต่อกับขาตั้งกล้องจะต้องมีอุปกรณ์เสริม มีเจ้าของกล้องอยู่หลายคนทีเดียวที่ใช้กล้องสองตามานานนับปี โดยไม่ทราบว่ากล้องของตัวเองสามารถติดกับขาตั้งกล้องได้เหมือนกัน บางยี่ห้ออาจมีฝาเกลียวพลาสติกปิดอยู่ ลองสังเกตกล้องของตัวเองดูซิว่ามีรูเกลียวที่ว่านี้หรือเปล่า

หากกล้องสองตาของเราไม่มีรูที่ว่าก็อาจไปใช้วิธีลูกทุ่งอื่น ๆ เพื่อยึดกล้องกับขาตั้งกล้องก็ได้ เช่นใช้สายรัดของหรือยางหนังสติ๊กมัด ถึงจะดูไม่ค่อยเท่เท่าไหร่นักแต่ก็ให้ผลดี ถ้าจะให้ดีควรใช้แผ่นไม้ขนาดกว้างสักสิบเซนติเมตร ยาวประมาณคืบหนึ่ง เจาะรูตรงกลางและฝังแป้นเกลียว (นอตตัวเมีย) ลงไป ขนาดของแป้นเกลียวให้ขนาดเท่ากับเกลียวของขาตั้งกล้อง ยึดแผ่นไม้นี้ติดกับขาตั้งกล้องก่อนแล้วเอากล้องสองตาวางบนแผ่นไม้ แล้วค่อยรัดด้วยสายรัดอีกที แผ่นไม้นี้จะช่วยให้กล้องถูกยึดได้มั่นคงไม่เคลื่อนหลุด ซึ่งอาจทำให้กล้องเป็นรอยเสียหายได้ การรัดก็ไม่ควรรัดแน่นนักเพราะอาจทำให้กล้องที่บิดเป็นมุมพอดีแล้วถ่างออกไปอีกได้ และอีกอย่างก็คือพึงระวังไม่ไปรัดทับวงแหวนปรับโฟกัสเพราะเดี๋ยวจะปรับโฟกัสไม่ได้

หากไม่มีขาตั้งกล้อง เราก็ยังมีอีกหลายวิธีในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ คือการนำกล้องไปแนบกับต้นไม้หรือต้นเสาโดยมีนิ้วหนุนกันกล้องถลอก หรืออาจจะวางพาดกับขอบรั้ว แม้ว่าจะยังต้องใช้มือประคองอยู่ แต่ก็ทำให้กล้องนิ่งขึ้นมาก วิธีนี้นักชมนกชมไม้จะถนัด

หากเหลียวมองรอบกายแล้วมีแต่ที่โล่งเตียนไม่มีของแข็งอะไรโผล่ขึ้นมาให้เป็นที่แนบเลย มีเพียงกล้องสองตากับมือเปล่าเท่านั้นเอง อย่างนี้ก็ให้ใช้ร่างกายเรานี่แหละเป็นที่ยึดแทน เมื่อถือกล้องสองตาแนบกับตาแล้ว ให้ฮูดของเลนส์ตาแนบกับขอบล่างของกระดูกเบ้าตาหรือกระดูกโหนกคิ้วเลย แต่คงไม่ต้องกดแรงเสียจนตาถลนออกมา แค่ค้ำพอให้มั่นคงก็เพียงพอแล้ว วิธีนี้ก็ช่วยลดการสั่นสะเทือนจากมือและการเต้นของหัวใจได้พอสมควร อีกอย่างหนึ่งที่เรามักมองข้ามก็คือ เวลาส่องกล้องสองตา เรามักติดเป็นนิสัยที่จะปล่อยให้ข้อศอกสองข้างกางออกไปตามสรีระ มีข้อแนะนำว่าในกรณีที่เรากำลังส่องดูท้องฟ้าด้วยมุมเงยที่ไม่สูงมากนัก หากสามารถที่จะพับข้อศอกลงมาแนบกับลำตัวได้ก็ควรจะทำ เพราะจะช่วยให้กล้องนิ่งขึ้นไปอีก คนผอม ๆ คงจะทำยากสักหน่อย ถ้าเป็นคนอ้วน ๆ หุ่นหนา ๆ น่าจะได้เปรียบตอนนี้

เรื่องความนิ่งของกล้องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากำลังขยายเลย หากเราลองดูดาวด้วยกล้องสองตาขนาด × 30 ที่ยึดกับขาตั้งกล้องดูจะพบว่ามันดูสนุกกว่ากล้องสองตาขนาด 10 × 50 ที่ถือด้วยมือเปล่าเสียอีก

ประการสุดท้าย นอกจากกล้องสองตาแล้ว เราควรมีแผนที่ดาวชนิดละเอียด หรือที่เรียกว่า Sky Atlas แผนที่นี้จะเป็นลายแทงที่จะบอกตำแหน่งของวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งควรจะหาเอาไว้ใช้อีกอย่างหนึ่งนอกเหนือจากแผนที่ดาวแบบหมุนธรรมดา แผนที่ดาวชนิดละเอียดจะบอกตำแหน่งกับความสว่างของดวงดาวและวัตถุท้องฟ้าได้ละเอียดมาก และควรมีสมุดโน้ตเล่มเล็ก ๆ ไว้สำหรับจดและสเก็ตช์ประกอบการสังเกตการณ์ด้วย สมุดนี้ถ้าจะให้ดีควรเป็นสมุดแบบไม่มีเส้นเพื่อให้วาดรูปได้สะดวกและปกควรเป็นปกเคลือบพลาสติกจะได้ไม่เปียกน้ำค้าง ความขยันบันทึก ความช่างสังเกต ล้วนเป็นคุณสมบัติที่ดีของนักดูดาวที่ดีทั้งสิ้น

Pocket Sky Atlas สมุดแผนที่ดาวชนิดละเอียด ตีพิมพ์โดย Sky Telescope เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนักดูดาวที่ใช้กล้องสองตา 

ออกไปดูดาวคืนนี้ อย่าลืมคว้ากล้องสองตาออกไปด้วย ลองกวาดกล้องไปบนฟ้าหาสิ่งที่แปลกปลอมไปจากแผนที่ บางทีเราอาจจะโชคดีได้เป็นผู้ค้นพบดาวหางหรือโนวาดวงใหม่เป็นคนแรกของโลกก็ได้

อ่านเพิ่มเติม

"วิธีตรวจสอบกล้องสองตาก่อนซื้อ" โดย พิชิต อิทธิศานต์ วารสารทางช้างเผือก มกราคม-มีนาคม 2540
"ก่อนซื้อกล้องสองตา (ตอนที่ 1)" โดย พิชิต อิทธิศานต์ วารสารทางช้างเผือก ตุลาคม ธันวาคม 2539