สมาคมดาราศาสตร์ไทย

รัสเซียทดสอบจรวดโซยุซรุ่นใหม่

รัสเซียทดสอบจรวดโซยุซรุ่นใหม่

22 ส.ค. 2562
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 เวลา 10:38 น. ตามเวลาประเทศไทย ยานโซยุซเอ็มเอส-14 ได้ขึ้นสู่ท้องฟ้าที่ท่าอวกาศยานไบโคนูร์ ประเทศคาซัคสถาน เป้าหมายปลายทางคือสถานีอวกาศนานาชาติ 

ยานโซยุซ เป็นยานอวกาศของรัสเซีย ใช้เป็นยานโดยสารสำหรับขนส่งมนุษย์อวกาศระหว่างโลกกับสถานีอวกาศนานาชาติมาเป็นเวลาหลายปี ปกติจะจุผู้โดยสารคราวละสามคน แต่สำหรับเที่ยวบินนี้มีความพิเศษ เพราะไม่มีผู้โดยสารที่เป็นมนุษย์ แต่เป็นหุ่นยนต์รุ่น สกายบอต เอฟ-850 (Skybot F-850) ชื่อ "ฟโยเดอร์"

จรวดโซยุซ 2.1 เอ นำยานโซยุซเอ็มเอส-14 ขึ้นสู่ท้องฟ้า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 (จาก NASA TV)

เที่ยวบินนี้มีวัตถุประสงค์หลักคือทดสอบจรวดโซยุซ 2.1 เอ ซึ่งเป็นจรวดรุ่นใหม่ พัฒนาขึ้นจากจรวดโซยุซ-เอฟจีที่ใช้มานานเกือบสองทศวรรษ จรวดรุ่นใหม่นี้มีการปรับปรุงหลายด้าน ทั้งเครื่องยนต์ และการเปลี่ยนระบบควบคุมจรวดมาเป็นระบบดิจิทัล ที่ผ่านมามีการใช้จรวดโซยุซ 2.1 เอ ในการส่งยานไปสถานีอวกาศนานาชาติหลายครั้งแล้ว แต่เป็นการขนส่งสัมภาระด้วยยานโปรเกรส ซึ่งเป็นยานไร้ผู้โดยสาร รอสคอสมอสมีแผนที่จะนำจรวดโซยุซ 2.1 เอ มาแทนโซยุซ-เอฟจีในอนาคตอันใกล้ จึงต้องมีการทดสอบว่า จรวดรุ่นใหม่นี้ปลอดภัยพอที่จะใช้ขนส่งมนุษย์ เที่ยวบินนี้เป็นเที่ยวบินแรกของโซยุซ 2.1 เอ ที่ใช้ส่งยานโซยุซ ซึ่งเป็นยานสำหรับคนส่งมนุษย์อวกาศ จึงต้องใช้ฟโยเดอร์มาเป็นผู้โดยสารตัวแรก

จรวดโซยุซ 2.1 เอ ขณะขึ้นจากแท่นปล่อยที่ไบโกนูร์ ประเทศคาซัคสถาน (จาก Roscosmos)

ฟโยเดอร์เป็นผู้โดยสารเพียงลำพังในเที่ยวบินนี้ นั่งอยู่ในตำแหน่งผู้บังคับการซึ่งอยู่ตรงกลางในห้องควบคุม สองที่นั่งซ้ายขวาบรรทุกสัมภาระหนัก 660 กิโลกรัมสำหรับนักบินหกคนที่อยู่บนสถานี ในมือขวาถือธงรัสเซียผืนเล็กอยู่ ฟโยเดอร์ไม่ต้องควบคุมใด ๆ ทั้งสิ้น การควบคุมยานรวมถึงการเข้าเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศ เป็นหน้าที่ของระบบอัตโนมัตของยานโซยุซที่มีชื่อว่า คูร์ซ หน้าที่ของฟโยเดอร์คือ บันทึกสภาพแวดล้อมที่ตนเองได้รับ ทั้งแรงกด ความสั่นสะเทือน และการเข้าสู่ภาวะไร้น้ำหนัก

"ฟโยเดอร์" หุ่นยนต์รุ่น สกายบอต เอฟ-850 ขณะนั่งอยู่ที่นั่งผู้บังคับการในยานโซยุซเอ็มเอส 14  (จาก NASA TV)

นอกจากจรวดส่งจะมีการปรับปรุงใหม่แล้ว ตัวยานโซยุซก็มีการปรับปรุงเช่นกัน เช่นการควบคุมการเคลื่อนที่ ระบบนำทาง และระบบควบคุมการลงจอด การพัฒนายานโซยุซนี้จะมีผลต่อการพัฒนายานโปรเกรสด้วยเช่นกัน โดยจะทำให้ยานโปรเกรสใช้เป็นยานขนสัมภาระจากสถานีอวกาศกลับมาสู่โลกได้ด้วย จากเดิมที่เป็นยานใช้งานเที่ยวเดียว นั่นคือนำสัมภาระขึ้นไปบนสถานี แล้วก็ถูกใช้เป็นที่ทิ้งขยะก่อนที่จะปลดตัวเองออกจากสถานีแล้วมุดลงสู่ชั้นบรรยากาศโลกให้มอดไหม้ไป

หุ่นยนต์สกายบอต เอฟ-850 เคลื่อนไหวทำท่าทางต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง หรือจะให้เลียนท่าทางของผู้ควบคุมก็ได้ (จาก Androidnaya Technika)

การส่งจรวดครั้งนี้เป็นไปได้อย่างเรียบร้อยไร้ที่ติ หากไม่มีอะไรผิดพลาด ยานโซยุซเอ็มเอส-14 จะไปถึงและเข้าเทียบกับสถานีอวกาศนานาชาติในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ 

เมื่อฟโยเดอร์เข้าสู่สถานีอวกาศนานาชาติได้แล้ว จะถูกใช้ทดสอบการปฏิบัติงานในภาวะไร้น้ำหนักเป็นเวลา วัน ก่อนที่จะกลับเข้ามานั่งในยานโซยุซอีกครั้งเพื่อเดินทางกลับสู่โลกในวันที่ กันยายน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการนำหุ่นยนต์ขึ้นไปทดสอบบนสถานีอวกาศนานาชาติ องค์การนาซาเคยส่งหุ่นยนต์ชื่อ โรโบนอต 2 ไปทดสอบบนสถานีมาแล้วในปี 2554 และ 2557 โรโบนอต กลับมายังโลกในปี 2561 และมีกำหนดกลับขึ้นไปบนสถานีอีกครั้งในปีหน้า

คาดว่าจรวดโซยุซ 2.1 เอ จะได้ขนส่งมนุษย์อวกาศครั้งแรกในเดือนมีนาคมปีหน้า