สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ลูนาคืนชีพ รัสเซียส่งยานลงสำรวจขั้วใต้ดวงจันทร์

ลูนาคืนชีพ รัสเซียส่งยานลงสำรวจขั้วใต้ดวงจันทร์

5 ส.ค. 2566
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
โครงการลูนา เป็นโครงการสำรวจดวงจันทร์ของสหภาพโซเวียต เริ่มต้นขึ้นในปี 2502 ซึ่งแทบจะพร้อมกับการกำเนิดของยุคอวกาศ เป็นโครงการที่บุกเบิกเทคโนโลยีอวกาศให้แก่โซเวียตและให้แก่ชาติอื่น ๆ สร้างการค้นพบครั้งสำคัญเอาไว้หลายครั้ง โดยเฉพาะภารกิจลูนา ที่ทำให้โลกตะลึงด้วยการไปอ้อมหลังดวงจันทร์และถ่ายภาพด้านไกลของดวงจันทร์กลับมา นับเป็นครั้งแรกที่มนุษย์ได้เห็นว่าด้านไกลของดวงจันทร์ที่ไม่เคยหันมาหาโลกมีลักษณะเป็นอย่างไร

ครั้งสุดท้ายที่โครงการลูนาปฏิบัติภารกิจสำเร็จคือ ลูนา 24 ซึ่งได้ไปลงจอดและเก็บตัวอย่างดิน 170 กรัมบนดวงจันทร์และนำกลับมายังโลกในปี พ.ศ. 2519 แล้วหลังจากนั้นโซเวียตและรัสเซียก็ไม่เคยส่งยานใดไปดวงจันทร์อีกเลย

แม้จะผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 50 ปี แต่โครงการลูนาก็ยังไม่ยุติ และรัสเซียก็ไม่คิดจะหายหน้าไปจากมหกรรมสำรวจดวงจันทร์ยุคใหม่ หากไม่มีอะไรผิดพลาด ในเดือนสิงหาคมนี้ รัสเซียจะส่งยานสำรวจดวงจันทร์สัญชาติรัสเซียขึ้นสู่อวกาศอีกครั้งในชื่อภารกิจว่า ลูนา 25 

ภาพตามจินตนาการของศิลปินของยานลูนา 25 ขณะอยูบนดวงจันทร์ (จาก roscosmos)

ยานลูนา-25 ขณะอยู่ในโรงเก็บ รอการติดตั้งบนจรวด (จาก NPO Lavochkina)

ภารกิจของลูนา 25 ไม่ได้นำตัวอย่างกลับสู่โลก แต่จะเป็นยานสำรวจแบบลงจอดโดยตำแหน่งลงจอดของยานคือบริเวณหลุมโบกุสลัฟสกี ซึ่งอยู่ในเขตขั้วใต้ของดวงจันทร์ หากลูนา 25 ทำสำเร็จ ก็จะเป็นครั้งแรกที่มียานลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง แม้จะเคยมียานอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์มาแล้วหลายลำ แต่ทั้งหมดล้วนแต่ลงจอดที่บริเวณไม่ไกลจากเส้นศูนย์สูตร แต่การนำยานลงจอดบริเวณขั้วดวงจันทร์จะยากกว่านั้นมาก เป้าหมายอีกข้อหนึ่งของภารกิจคือ เพื่อศึกษาดินบริเวณขั้วดวงจันทร์เพื่อหาหลักฐานของน้ำแข็งที่อาจฝังอยู่ในดิน

ตามกำหนดการ ยานลูนา 25 จะขึ้นสู่อวกาศโดยจรวดโซยุซ 2.1 บีในวันที่ 11 สิงหาคม จากศูนย์อวกาศวอสตอคนี คาดว่ายานนี้จะมีปฏิบัติหน้าที่บนดวงจันทร์เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ปี 

ภาพภูมิประเทศบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ แสดงตำแหน่งของหลุมโบกุสลัฟสกี ซึ่งเป็นเป้าหมายลงจอดของยานลูนา-25 (จาก Ivanov et al., 2015 via Arizona State University/LROC)

เดิมภารกิจลูนา 25 เป็นปฏิบัติการร่วมระหว่างรัสเซียกับองค์การอวกาศยุโรปหรืออีซา โดยอีซาจะมีส่วนในการพัฒนากล้องไพลอต-ดี ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการลงจอดของยาน แต่ความขัดแย้งกับยุโรปอันเนื่องมาจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียทำให้อีซาถอนตัวจากความร่วมมือดังกล่าว ภารกิจลูนา 25 จึงกลายเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยรัสเซียทั้งหมด