สมาคมดาราศาสตร์ไทย

หรือว่าเบเทลจุสกำลังจะระเบิด?

หรือว่าเบเทลจุสกำลังจะระเบิด?

27 ธ.ค. 2562
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
กลุ่มดาวนายพราน เป็นกลุ่มดาวที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักดีที่สุดกลุ่มหนึ่งบนท้องฟ้า คนไทยมักเรียกว่า ดาวเต่า ดาวดวงหนึ่งในกลุ่มดาวนี้ที่สว่างและมีสีสันโดดเด่นเป็นพิเศษ คือดาวเบเทลจุส อยู่ตรงตำแหน่งหัวไหล่ขวาของนายพราน (ความจริงคำว่าเบเทลจุสแผลงมาจากคำในภาษาอาหรับที่แปลว่ารักแร้) มีขนาดใหญ่โตมหึมา หากนำดาวดวงนี้มาวางไว้ที่ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ขอบของดาวจะแผ่ไปไกลจนกลืนกินดาวอังคารหรืออาจไปไกลถึงดาวพฤหัสบดีเลยทีเดียว 

เหตุที่ดาวดวงนี้มีขนาดใหญ่มาก เพราะอยู่ในช่วงเป็นดาวยักษ์ใหญ่แดง ซึ่งเป็นสถานะในวิวัฒนาการก่อนที่จะระเบิดออกเป็นซูเปอร์โนวาที่สว่างไสว

กลุ่มดาวนายพราน ดาวเบเทลจุสเป็นดาวสว่างอันดับสองในกลุ่มดาว มีสีแดงโดดเด่น
 


เมื่อราวเดือนตุลาคม ริชาร์ด เวลาโทนิก กับ เอดเวิร์ด ไกแนน นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิลาโนวาในเพนซิลเวเนีย ร่วมกับนักดาราศาสตร์สมัครเล่น ทอมัส คาลเดอร์วูด ได้สังเกตเห็นว่าดาวเบเทลจุสเริ่มหรี่แสงลงอย่างช้า ๆ ต่อมาเมื่อถึงต้นเดือนธันวาคม การหรี่แสงลงนี้ก็เห็นชัดยิ่งขึ้นจนมากที่สุดในรอบ 25 ปี จนแม้แต่คนทั่วไปที่แหงนหน้าดูดาวด้วยตาเปล่าก็สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อถึงปลายเดือนธันวาคม เบเทลจุสก็ทำสถิติหรี่แสงมากกว่าช่วงใด ๆ นับตั้งแต่เริ่มมีการวัดความสว่างด้วยเครื่องมือ  ดาวเบเทลจุสจัดเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างเป็นอันดับ บนท้องฟ้า แต่ในกลางเดือนธันวาคม ดาวเบเทลจุสลดลงไปจนอันดับถอยไปอยู่ที่อันดับ 21 แล้ว

การหรี่แสงอย่างผิดสังเกตเริ่มเป็นที่กล่าวขานและเป็นที่สนใจกันอย่างกว้างขวาง จนเริ่มมีผู้ตั้งคำถามว่า นี่เป็นสัญญาณเริ่มต้นของการระเบิดเป็นซูเปอร์โนวาหรือไม่? แล้วถ้าใช่ จะส่งผลอย่างไรกับโลก?

กราฟความสว่างของดาวเบเทลจุสในย่านวีแบนด์ตั้งแต่ปี 2522 จนถึงปัจจุบัน แสดงการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงเป็นรายคาบ แนวตั้งคือความสว่าง แนวนอนคือเวลา แสดงด้วยวันจูเลียน   (จาก AAVSO)


เรื่องนี้นักดาราศาสตร์ให้ความเห็นว่า การหรี่แสงที่เป็นอยู่นี่ไม่น่าจะเป็นสัญญาณที่แสดงว่าจะระเบิด ที่มักมีการกล่าวว่าดาวเบเทลจุสใกล้ระเบิด คำว่าใกล้มาตราของดาราศาสตร์อาจยาวนานเป็นพันเป็นหมื่นปีหรือนานกว่านั้น ในกรณีของดาวเบเทลจุส นักดาราศาสตร์เชื่อว่าดาวดวงนี้ยังไม่จะระเบิดในช่วง 100,000 ปีจากนี้

เบเทลจุสเป็นดาวแปรแสงชนิดหนึ่ง ดาวแปรแสงหมายความว่าเป็นดาวที่มีความส่องสว่างไม่คงที่ อาจเกิดจากหลายสาเหตุ นักดาราศาสตร์ได้บันทึกความสว่างของดาวบนฟ้าอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานนับร้อยปีแล้ว ในกรณีของดาวเบเทลจุส พบว่าในอดีตดาวเบเทลจุสเคยหรี่แสงลงมาแล้วหลายครั้ง รูปแบบการแปรแสงแสดงให้เห็นว่ามีวัฏจักรการแปรแสงหลายวัฏจักรที่มีคาบต่างกันซ้อนกันอยู่ อย่างน้อยที่สุดพบว่ามีวัฏจักร ปี กับวัฏจักร 425 วัน  นั่นหมายความว่ามีโอกาสที่ช่วงต่ำสุดของหลายวัฏจักรเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไล่เลี่ยกัน แสงสว่างของดาวก็จะลดลงอย่างฮวบฮาบ ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเบเทลจุสในขณะนี้

ภาพดาวเบเทลจุส ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์วิทยุอัลมา (ALMA--Atacama Large Millimeter/submillimeter Array) มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ถึง 1,400 เท่า หากนำดาวดวงนี้มาแทนที่ตำแหน่งดวงอาทิตย์ ขนาดของดาวจะกลืนกินดาวเคราะห์หินในระบบสุริยะไปทั้งหมด และอาจเลยไปถึงดาวพฤหัสบดีด้วย (จาก ESO)

แต่สิ่งที่น่าสังเกตก็คือความสว่างของดาวเบเทลจุสในขณะนี้ลดลงต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกมา จึงถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่นักดาราศาสตร์ต้องจับตามอง มีการสันนิษฐานว่าการหรี่แสงลงอย่างผิดสังเกตของดาวเบเทลจุสในครั้งนี้อาจเกิดจากการปะทุของแก๊สหรือฝุ่นบางอย่างที่ทำให้ความสว่างพื้นผิวของดาวเปลี่ยนไป

หากดาวเบเทลจุสจะระเบิดจริง จะส่งผลอะไรต่อโลกหรือไม่? 

ดาวเบเทลจุสอยู่ห่างจากโลกประมาณ 430 ปีแสง ถือว่าเป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้โลกดวงหนึ่ง หากถึงวันที่เบเทลจุสกลายเป็นซูเปอร์โนวา จะส่องสว่างราวครึ่งหนึ่งของดวงจันทร์เต็มดวง มองเห็นได้แม้ในเวลากลางวัน และส่องสว่างอยู่นานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน

นักดาราศาสตร์ศึกษาซูเปอร์โนวามาแล้วมากมาย แต่ทั้งหมดเป็นการศึกษาหลังจากที่ระเบิดแล้ว ไม่มีใครเคยได้ศึกษาในช่วงก่อนที่จะเป็นซูเปอร์โนวาอย่างละเอียดจริงจังเลย จึงไม่ทราบว่าดาวที่จวนจะระเบิดจะมีพฤติกรรมอย่างไร ดังนั้นจึงไม่อาจสรุปได้ว่าการหรี่แสงลงอย่างแปลก ๆ ของเบเทลจุสในขณะนี้เป็นสัญญาณบอกว่าดาวกำลังจะเบิดจริง 

คณะของไกแนนยังคงจับตาดาวเบเทลจุสต่อไปเช่นเดียวกับที่เขาทำมาตลอดหลายสิบปี  คาดว่าดาวเบเทลจุสจะหรี่แสงลงมากที่สุดในเดือนมกราคมนี้ แล้วหลังจากนั้นก็กลับสว่างขึ้นอีกครั้ง