เมื่อวานนี้ (5 ธันวาคม) นาซาได้แถลงข่าวควาบคืบหน้าเกี่ยวกับภารกิจอาร์เทมิส ซึ่งเป็นอภิมหาโครงการของนาซาที่จะนำมนุษย์กลับไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้ง นาซาได้รายงานว่า ภารกิจอาร์เทมิส 2 ซึ่งเป็นภารกิจที่จะนำมนุษย์ 4 คนไปอ้อมหลังดวงจันทร์และกลับมายังโลก ซึ่งเดิมกำหนดวันส่งไว้ในเดือนกันยายน 2568 เลื่อนไปเป็นเดือนเมษายน 2569 ส่วนภารกิจอาร์เทมิส 3 ซึ่งเป็นภารกิจถัดไปที่จะนำมนุษย์ไปเดินบนดวงจันทร์ซึ่งเดิมกำหนดไว้เป็นปลายปี 2569 ก็เลื่อนออกไปเป็นกลางปี 2570
อาร์เทมิสเคยส่งยานไปดวงจันทร์แล้วหนึ่งภารกิจนั่นคือ อาร์เทมิส 1 เป็นภารกิจไม่มีลูกเรือ เพราะเป็นการทดสอบระบบต่าง ๆ ว่าปลอดภัยพอที่จะส่งมนุษย์ไปหรือไม่ ภารกิจนาน 25 วันนี้เป็นการส่งยานโอไรอันไปอ้อมหลังดวงจันทร์และกลับมายังโลก
ลำดับขั้นตอนต่างๆ ของอาร์เทมิส 1 ดูจะประสบความสำเร็จด้วยดี ยานโอไรอันลงจอดบนผิวมหาสมุทรอย่างราบรื่น อุณหภูมิในยานยังคงเป็นปกติอยู่ที่ระดับใกล้เคียงอุณหภูมิห้อง ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าหากในภารกิจนี้มีมนุษย์ไปด้วยก็จะกลับมาได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบยานโอไรอันหลังจากกลับมาสู่โลกพบว่าโล่กันความร้อนของยานมีการสึกกร่อนไม่สม่ำเสมอมากกว่าที่วิศวกรคาดประเมินไว้ก่อนหน้า จึงอยากจะหาสาเหตุให้แน่ชัดเสียก่อน
การสึกกร่อนที่ไม่สม่ำเสมอเกิดจากการกลับสู่โลกแบบ"แฉลบก่อนมุด" ซึ่งจะเข้าสู่บรรยากาศโลกในมุมแคบก่อน เพื่อให้ยานแฉลบบรรยากาศแล้วกระดอนออกสู่นอกบรรยากาศ แล้วก็กลับมาแฉลบในลักษณะเดิมอีกหลายครั้ง ก่อนจะถึงครั้งสุดท้ายที่ยานจะดำดิ่งลงสู่พื้นดิน วิธีนี้คล้ายกับที่การเล่นเขวี้ยงก้อนหินให้แฉลบผิวน้ำ การแฉลบแต่ละครั้งก้อนหินจะเสียพลังงานไปส่วนหนึ่งจากการกระทบผิวน้ำ จนในที่สุดพลังงานจลน์ก็จะต่ำจนไม่แฉลบอีกแต่จะจมน้ำไป โอไรอันเลือกใช้วิธีนี้เพื่อเป็นการกระจายพลังงานมหาศาลจากการกลับสู่โลกออกเป็นการกระทบบรรยากาศหลายครั้ง แทนที่จะให้โล่เสียดกร่อนทำงานหนักเพียงครั้งเดียว
วิธีนี้ให้ผลดีแต่วิศวกรได้พบปัญหาบางอย่าง "ขณะที่ยานกระดอนขึ้นมาจากการแฉลบบรรยกาศโลกแต่ละครั้ง พลังงานความร้อนที่สะสมอยู่ในโล่จะสะสมเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดแก๊สขึ้นภายในโล่ ความดันของแก๊สทำให้เกิดรอยปริแตกบนพื้นผิวจนเป็นที่มาของการสึกกร่อนที่ไม่สม่ำเสมอ" แพม เมลรอย รองผู้อำนวยการของนาซาอธิบายในการแถลงข่าววันนี้
ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกแบบโล่กันความร้อนใหม่เพียงแต่ต้องมีการวางเส้นทางการกลับสู่โลกใหม่เพื่อลดผลที่เกิดขึ้นในอาร์เทมิส 1 การปรับปรุงแนววิถีนี้ทำให้จุดลงจอดของยานโอไรอันในภารกิจอาร์เทมิส 2 เข้าใกล้ชายฝั่งมากขึ้น แต่ถ้าหากมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนโล่กันความร้อนใหม่ กำหนดส่งยานก็จะเลื่อนออกไปอีกเป็นปลายปี 2569
ส่วนกำหนดการส่งของอาร์เทมิส3 มีสาเหตุที่ซับซ้อนยิ่งกว่า เพราะเกี่ยวข้องกับยานลงจอดดวงจันทร์ที่นาซามอหมายให้สเปซเอกซ์รับผิดชอบ ซึ่งจนขณะนี้ยานลงจอดยังอยู่ในขั้นตอนพัฒนา จึงต้องให้เวลาสเปซเอกซ์เพิ่มในการพัฒนาและการทดสอบที่จำเป็น
กำหนดการใหม่นี้ทำให้วันที่ลงเดินบนดวงจันทร์ของอาร์เทมิส3 ถอยเข้าไปใกล้กำหนดการของจีนมากขึ้นแม้จะยังนำอยู่เล็กน้อย จีนมีแผนจะส่งมนุษย์อวกาศของตนเองไปเดินบนดวงจันทร์ก่อนสิ้นปี 2573
ภาพส่วนหนึ่งของยานโอไรอันในภารกิจอาร์เทมิส 1 กับฉากหลังที่เป็นด้านไกลของดวงจันทร์ ถ่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยกล้องที่ติดอยู่บนปลายแผงเซลสุริยะของยานโอไรอัน (จาก NASA)
อาร์เทมิสเคยส่งยานไปดวงจันทร์แล้วหนึ่งภารกิจ
ลำดับขั้นตอนต่าง
การสึกกร่อนที่ไม่สม่ำเสมอเกิดจากการกลับสู่โลกแบบ
วิธีนี้ให้ผลดี
ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกแบบโล่กันความร้อนใหม่
โล่กันความร้อนของยานโอไรอันหลังจากกลับมาจากภารกิจอาร์เทมิส 1 ที่ถอดมาจากยานเพื่อการตรวจสอบ (จาก NASA)
ส่วนกำหนดการส่งของอาร์เทมิส
กำหนดการใหม่นี้ทำให้วันที่ลงเดินบนดวงจันทร์ของอาร์เทมิส