สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พบแบคทีเรียมีชีวิตเกาะอยู่นอกสถานีอวกาศนานาชาติ

พบแบคทีเรียมีชีวิตเกาะอยู่นอกสถานีอวกาศนานาชาติ

1 ธ.ค. 2560
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
อันตัน ชกาเปลรอฟ นักบินอวกาศชาวรัสเซีย ได้ปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลาเกือบสองร้อยวันตั้งแต่ปลายปี 2557 หนึ่งในภารกิจที่เขาทำคือการเก็บตัวอย่างคราบที่เกาะอยู่ที่ผิวด้านนอกของสถานีด้วยก้านพันสำลี แล้วนำกลับมายังโลกเพื่อตรวจสอบ

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 27 ที่ผ่านมาได้มีรายงานออกมาว่า ตัวอย่างที่นำกลับมานั้น พบแบคทีเรียที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย และยืนยันว่าขณะที่นำโมดูลของสถานีอวกาศนั้นขึ้นสู่อวกาศไม่มีแบคทีเรียดังกล่าวอยู่อย่างแน่นอน นั่นหมายความว่าแบคทีเรียที่พบนี้มาเกาะที่ผิวนอกของสถานีอวกาศภายหลัง

แม้รายงานนี้อาจทำให้แฟน ๆ มนุษย์ต่างดาวเนื้อเต้น แต่สุดท้ายก็คงต้องผิดหวัง เพราะรายงานฉบับดังกล่าวได้สรุปว่า แบคทีเรียดังกล่าวมาจากโลกนี้เอง โดยติดไปกับแทบเล็ตและวัสดุต่าง ๆ ที่นักบินอวกาศนำไปติดตั้งอยู่ภายนอกสถานีระหว่างปฏิบัติภารกิจอื่น

สภาพแวดล้อมในอวกาศเป็นสภาพที่แสนหฤโหด ไม่มีน้ำ ไม่มีอากาศ หนาวจัด ร้อนจัด และยังถูกกระหน่ำด้วยรังสีต่าง ๆ อย่างรุนแรง แต่นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่าสิ่งมีชีวิตเช่นแบคทีเรียบางชนิด รวมถึงสัตว์ตัวจิ๋วอย่างทาดีเกรด ดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมอวกาศได้เป็นเวลานานหลายปี 

ขณะนักวิทยาศาสตร์ยังคงศึกษาแบคทีเรียนี้ต่อไป ในเบื้องต้นพบว่าไม่น่าจะเป็นอันตรายแต่อย่างใด 

ชกาเปลรอฟ จะขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศอีกครั้งในวันที่ 17 ธันวาคมนี้
สถานีอวกาศนานาชาติ <wbr><br />
<br />

สถานีอวกาศนานาชาติ 

(จาก NASA/JPL-Caltech/Space Science Institute)

ทาดีเกรด เป็นสัตว์ที่มีความทรหดอดทนมาก เอาชีวิตรอดในอวกาศได้นานนับปี

ทาดีเกรด เป็นสัตว์ที่มีความทรหดอดทนมาก เอาชีวิตรอดในอวกาศได้นานนับปี (จาก Science Photo Library/Alamy)

ที่มา: