สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเคราะห์น้อย 2004 บีแอล 86 ก็มีดวงจันทร์

ดาวเคราะห์น้อย 2004 บีแอล 86 ก็มีดวงจันทร์

Scientists have released the first radar images of asteroid 2004 BL86, which made its closest approach January 26.

31 ม.ค. 2558
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งชื่อ 2004 บีแอล 86 ได้พุ่งเฉียดโลกด้วยระยะใกล้ที่สุด 1.2 ล้านกิโลเมตรเมื่อเวลา 23.19 น. 
นักดาราศาสตร์รู้วงโคจรของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ดีอยู่แล้ว การพุ่งเฉียดครั้งนี้จึงพยากรณ์ได้ล่วงหน้าเป็นเวลานาน มีการเผยแพร่ข่าวการพุ่งเฉียดให้ผู้คนตื่นเต้นกันเล็ก ๆ ล่วงหน้าเล็กน้อย
เรื่องน่าสนใจมากกว่าเกิดขึ้นหลังจากที่ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เฉียดผ่านไปแล้ว เมื่อนักดาราศาสตร์ได้เผยภาพเรดาร์ของดาวเคราะห์น้อย 2004 บีแอล 86 ที่ถ่ายด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาด 70 เมตรของเครือข่ายดีปสเปซในโกลด์สโตน ภาพนี้แสดงอย่างชัดเจนว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีดวงจันทร์เล็ก ๆ เป็นบริวารด้วย
ภาพเรดาร์จากกล้องที่โกลด์สโตนมีความละเอียด เมตรต่อพิกเซล เผยว่า ตัวดาวเคราะห์น้อยมีความกว้างประมาณ 325 เมตร ส่วนดวงจันทร์มีความกว้างประมาณ 70 เมตร 
ในบรรดาดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกที่มีขนาดเกิน 200 เมตร มีราว 16 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ใช่ดาวโดด อาจเป็นดาวเคราะห์น้อยคู่ หรือดาวเคราะห์น้อยที่มีบริวาร บางระบบอาจมีดวงจันทร์ถึงสองดวง 
ดาวเคราะห์น้อย 2004 บีแอล 86 ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2547 โดยโครงการลิเนียร์ 
การเฉียดใกล้ของดาวเคราะห์น้อย 2004 บีแอล 86 จะเป็นครั้งที่ใกล้โลกที่สุดไปอีกอย่างน้อยสองศตวรรษ และจะไม่มีดาวเคราะห์น้อยขนาดใกล้เคียงกันเข้าใกล้กว่านี้อีกไปอีกจนกว่าดาวเคราะห์น้อย 1999 เอเอ็น 10 จะเข้าเฉียดโลกในปี 2570
เรดาร์เป็นเครื่องมือที่ดีเยี่ยมในการศึกษาขนาด รูปร่าง การหมุน และลักษณะพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อย และช่วยการคำนวณวงโคจรให้แม่นยำยิ่งขึ้น 
ในปี 2559 นาซาจะส่งยานอวกาศชื่อ โอซิริส-เรกซ์ (OSIRIS-REx) ไปสำรวจดาวเคราะห์น้อย (101955) เบนนู ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาดาวเคราะห์น้อยที่อันตรายที่สุด

ภาพดาวเคราะห์น้อย 2004 บีแอล 86 สร้างขึ้นจากข้อมูลการสำรวจด้วยเรดาร์ โดยกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่โกลด์สโตน เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา
ดาวเคราะห์น้อย 2004 บีแอล 86

ดาวเคราะห์น้อย 2004 บีแอล 86

ที่มา: