สมาคมดาราศาสตร์ไทย

นักดาราศาสตร์จาก สดร. พบดาวเคราะห์น้อยมีดวงจันทร์สามดวง

นักดาราศาสตร์จาก สดร. พบดาวเคราะห์น้อยมีดวงจันทร์สามดวง

21 ก.พ. 2565
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ระบบสุริยะของเราเต็มไปด้วยดวงจันทร์บริวาร โดยเฉพาะดาวเคราะห์แก๊สยักษ์มีดวงจันทร์มากนับสิบดวง ส่วนดาวเคราะห์หินมีบริวารเพียงเล็กน้อย โลกมีดวงจันทร์เป็นบริวารหนึ่งดวง ดาวอังคารมีสองดวง ดาวพุธกับดาวศุกร์ไม่มีบริวารเลย แต่ดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่ง กลับมีดวงจันทร์เป็นบริวารถึงสามดวง

ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้คือ 130 อิเล็กทรา (130 Elektra) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า อิเล็กทรา ถูกค้นพบในปี 2415 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 260 กิโลเมตร เป็นดาวเคราะห์น้อยแถบหลัก หมายถึงเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี 


เรื่องดาวเคราะห์น้อยมีบริวารไม่ใช่เรื่องใหม่ นักดาราศาสตร์พบดาวเคราะห์น้อยที่มีบริวารแล้วกว่า 150 ดวง แต่ไม่เคยมีดวงไหนที่มีลูกดกเท่าดวงนี้

การค้นพบครั้งนี้เป็นผลงานของคณะนักดาราศาสตร์จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) นำโดย อ็องตอนี แบร์เดอ ซึ่งงานวิจัยฉบับนี้ได้รับการตีพิมพ์ในเดอะแอสโทรฟิสิคัลเจอร์นัลเลตเตอรส์แล้ว

ในปี 2546 นักดาราศาสตร์พบบริวารของอิเล็กทราดวงแรก มีชื่อว่า เอส/2003 (130) 1 ถัดมาอีก 11 ปี ก็พบบริวารดวงที่สอง มีชื่อว่า เอส/2014 (130) 1

เอส/2003 (130) มีขนาดเพียง กิโลเมตร โคจรรอบอิเล็กทราด้วยรัศมีวงโคจรเฉลี่ย 1,300 กิโลเมตร ส่วน เอส/2014 (130) มีขนาดเล็กกว่ามาก กว้างเพียง กิโลเมตรและมีรัศมีวงโคจรเฉลี่ย 500 กิโลเมตร

บริวารดวงที่สามที่เพิ่งพบล่าสุดคือ เอส/2014 (130) มีขนาดเล็กที่สุดและโคจรอยู่ใกล้ที่สุด มีขนาด 1.6 กิโลเมตร และโคจรด้วยรัศมีวงโคจร 340 กิโลเมตร มีความส่องสว่างเพียงหนึ่งใน 15,000 ของอิเล็กทราเท่านั้น

ดาวเคราะห์น้อยอิเล็กทราและบริวารทั้งสาม (จาก ESO/Berdeu et al., Yang et al.)

การค้นพบครั้งนี้ แบร์เดอได้ใช้ซอฟต์แวร์ประมวลผลข้อมูลที่พัฒนาขึ้นมาใหม่มาวิเคราะห์ภาพถ่ายในคลังข้อมูลของอุปกรณ์ชื่อสเฟียร์ (SPHERE) ที่ติดอยู่บนกล้องวีแอลทีของหอดูดาวยุโรปซีกใต้ ระบบประมวลผลข้อมูลนี้มีความสามารถในการกรองคลื่นรบกวนและกำจัดแสงจ้าได้ดี ภาพดวงจันทร์บริวารดวงที่สามที่เคยจมอยู่ในแสงจ้าของอิเล็กทราและดงของคลื่นรบกวนจึงปรากฏขึ้นมาอย่างเด่นชัด

แม้จะทราบสมบัติพื้นฐานของ เอส/2014 (103) ได้บ้างแล้ว แต่ข้อมูลการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ดวงนี้ยังคงคลุมเครือ และยิ่งกว่านั้น นักดาราศาสตร์ก็ยังไม่เข้าใจว่าระบบบริวารของอิเล็กทราเกิดขึ้นมาได้อย่างไร อาจเกิดจากเศษชิ้นส่วนที่กระเด็นหลุดออกมาจากการถูกวัตถุอื่นพุ่งชน หรืออาจเป็นวัตถุจากต่างถิ่นที่ผ่านเข้ามาใกล้แล้วถูกความโน้มถ่วงของอิเล็กทราคว้าจับเอาไว้เป็นบริวาร หรืออาจพิสดารกว่านั้น เช่นการศึกษาหนึ่งเมื่อปีที่แล้วพบว่าบริวารสองดวงของดาวเคราะห์น้อยคลีโอพัตรา (216 Kleopatra) อาจเกิดจากกลุ่มฝุ่นที่หลุดออกมาจากวัตถุหลัก นักดาราศาสตร์ยังไม่ทราบว่าการเกิดบริวารในลักษณะนี้มีมากน้อยเพียงใด

"การค้นพบนี้ เป็นการเปิดทางให้นักดาราศาสตร์ได้ศึกษากลไกการกำเนิดระบบบริวารหลายดวงเช่นนี้ได้" แบร์เดอกล่าว "ยิ่งกว่านั้น เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลที่เราใช้ยังอาจนำไปใช้ค้นหาบริวารดาวเคราะห์น้อยดวงอื่นได้อีกด้วย"