สมาคมดาราศาสตร์ไทย

อีกเซอร์ไพรส์จากลูซี

อีกเซอร์ไพรส์จากลูซี

9 พ.ย. 2566
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ยานลูซี ยานสำรวจดาวเคราะห์น้อยขององค์การนาซา ได้เข้าเฉียดดาวเคราะห์น้อยดิงคิเนช (Dinkinesh) เมื่อวันที่ พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นวัตถุดวงแรกที่ภารกิจนี้ไปเยือน แม้จะเป็นเป้าหมายดวงแรก แต่ยานลูซีก็ค้นพบบางอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ นั่นคือ ดิงคิเนชมีบริวารด้วย

ภาพถ่ายดาวเคราะห์น้อยดิงคิเนช (Dinkinesh) และบริวาร ถ่ายโดยกล้องลอร์รี (L'LORRI) ของยานลูซี เมื่อเวลา 17:00 ตามเวลาสากล ของวันที่ พฤศจิกายน 2566 ราว นาทีหลังจากที่เฉียดใกล้ดาวเคราะห์น้อยที่สุด ขณะที่ถ่าย ยานอยู่ห่างจากดาวเคราะห์น้อย 1,630 กิโลเมตร  (จาก NASA/Goddard/SwRI/Johns Hopkins APL)

การพบว่าดาวเคราะห์น้อยมีบริวารคงไม่ใช่เรื่องแปลกนัก แต่เรื่องที่ทำให้นักดาราศาสตร์ตื่นเต้นเกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน หลังจากที่ยานผ่านจุดที่เฉียดใกล้ดิงคิเนชที่สุดไปหกนาที ยานได้ถ่ายภาพดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อีกครั้งจากมุมมองที่เปลี่ยนไป ภาพที่ปรากฏทำให้นักดาราศาสตร์ต้องประหลาดใจเมื่อพบว่า บริวารดวงจ้อยดวงนี้เป็นวัตถุคู่สัมผัส นั่นหมายถึงเป็นมีรูปร่างเป็นสองตุ้มติดกันคอดกลางแบบนาฬิกาทรายซึ่งเกิดจากวัตถุที่มีขนาดใกล้เคียงกันมาชนกันด้วยความเร็วไม่สูงมากแล้วเกาะติดกันเป็นวัตถุเดียว เหตุที่ภาพถ่ายแรกจากยานไม่ปรากฏเป็นรูปคู่สัมผัสเนื่องจากในขณะที่ยานเข้าเฉียดดิงคิเนชและถ่ายภาพครั้งแรกนั้น ดาวบริวารหันด้านยาวเข้าหายานพอดี จึงปรากฏเป็นเพียงก้อนกลมในภาพถ่าย 

วัตถุคู่สัมผัสเป็นเรื่องปกติในระบบสุริยะ นักดาราศาสตร์พบวัตถุประเภทนี้มาแล้วหลายดวง เช่นนิวเคลียสของดาวหาง 67พี/ชูรูยมอฟ-เกราซีเมนโค ดาวอาร์โรคอต ส่วนบริวารของดาวเคราะห์น้อยก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์น้อยหลายดวงที่มีบริวาร แต่บริวารดาวเคราะห์น้อยที่เป็นวัตถุคู่สัมผัสเป็นเรื่องใหม่อย่างแท้จริง ดิงคิเนชเป็นวัตถุดวงแรกในระบบสุริยะที่พบว่ามีบริวารลักษณะเช่นนี้ 

แผนภาพแสดงแนววิถีของยานลูซี (สีแดง) ขณะเข้าเฉียดดาวเคราะห์น้อยดิงคิเนช (สีเทา) ตำแหน่ง แสดงตำแหน่ง ณ เวลา 16:55 น. ตามเวลาสากล ของวันที่ พฤศจิกายน 2566 ตำแหน่ง แสดงตำแหน่ง ณ เวลา 17:00 น. ตามเวลาสากล   (จาก Overall graphic, NASA/Goddard/SwRI; Inset “A,” NASA/Goddard/SwRI/Johns Hopkins APL/NOIRLab; Inset “B,” NASA/Goddard/SwRI/Johns Hopkins APL)


ในช่วงก่อนที่ยานลูซีจะไปถึงดาวดิงคิเนช ยานตรวจวัดได้ว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีความสว่างผันแปร นักดาราศาสตร์จึงสงสัยว่าดิงคิเนชอาจมีบริวาร ซึ่งข้อสันนิษฐานนั้นก็เป็นจริง แต่การที่พบว่าบริวารเป็นวัตถุประเภทคู่สัมผัสเป็นเรื่องที่เกินจินตนาการ

ยานลูซีเป็นยานสำรวจขององค์การนาซา มีภารกิจหลักคือสำรวจดาวเคราะห์น้อยทรอย นับเป็นภารกิจสำรวจอวกาศแรกที่มีเป้าหมายที่ดาวเคราะห์น้อยทรอย ดาวเคราะห์น้อยดิงคิเนชเป็นดาวเคราะห์น้อยแถบหลัก ไม่ใช่เป้าหมายหลัก นาซาวางแผนให้การเข้าเฉียดดิงคิเนชเป็นการซักซ้อมและทดสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ ก่อนจะไปถึงดาวเคราะห์น้อยทรอยจริง ๆ แต่เป้าซ้อมดวงนี้กลับทำให้นักดาราศาสตร์ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ

ขณะนี้ ยานลูซีกำลังมุ่งหน้ากลับมายังโลก เพื่ออาศัยความโน้มถ่วงจากโลกช่วยเหวี่ยงยานไปยังเป้าหมายถัดไปซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยแถบหลักอีกดวงหนึ่ง ชื่อ โดนัลด์โจแฮนสัน ยานจะไปถึงเป้าหมายดวงนี้ในปี 2568