สมาคมดาราศาสตร์ไทย

นักดาราศาสตร์เตรียมส่งยานอวกาศจิ๋วสำรวจอะโพฟิส

นักดาราศาสตร์เตรียมส่งยานอวกาศจิ๋วสำรวจอะโพฟิส

13 มิ.ย. 2567
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ภาพในจินตนาการของศิลปินของดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิสขณะเฉียดโลกในวันที่ 13 เมษายน 2572  (จาก Jonathan Männel with Eyes on the Solar System, NASA/JPL)

ในคืนวันสงกรานต์ของปี 2572 นักดาราศาสตร์และนักดูดาวทั่วโลกจะจับจ้องไปบนท้องฟ้าเพื่อชมดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งที่เคยเกือบได้เป็นดาวมรณะที่จะมาชนโลก 

ดาวเคราะห์น้อยดังนี้มีชื่อว่า (99942) อะโพฟิส ((99942) Apophis) เป็นชื่อที่ตั้งได้เหมาะเจาะ เพราะตั้งขึ้นตามเทพแห่งการทำลายล้างของอียิปต์  มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 305 เมตร 

ดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิสถูกค้นพบเมื่อปี 2547 การคำนวณวงโคจรในช่วงแรกเผยว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีเส้นทางโคจรตัดกับวงโคจรโลกและมีโอกาสที่จะชนโลกในปี 2572 นับจากนั้นชื่อของอะโพฟิสจึงอยู่ในลำดับสูงสุดของวัตถุที่นักดาราศาสตร์ต้องจับตามองเป็นพิเศษในฐานะวัตถุอันตราย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ข้อมูลจากการสังเกตการณ์มีมากขึ้น การคำนวณวงโคจรจึงแม่นยำมากขึ้น พบว่าโอกาสในการชนโลกในปีดังกล่าวลดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งในปี 2564 จึงยืนยันได้ว่าอะโพฟิสจะไม่ชนโลกอย่างแน่นอนในปี 2572 แต่จะเฉียดโลกไปด้วยระยะเพียง 48,300 กิโลเมตร และจะไม่ชนโลกอย่างแน่นอนภายในระยะหนึ่งศตวรรษข้างหน้า

ความน่ากลัวของอะโพฟิสหมดไปแล้ว เหลือเพียงความน่าตื่นเต้น ด้วยระยะเฉียดที่ใกล้มากและขนาดที่ใหญ่มาก ทำให้ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในช่วงที่เฉียดโลกไป การชมดาวมัจจุราชผ่านหน้าไปต่อหน้าต่อตาย่อมเป็นประสบการณ์ที่สุดวิเศษสำหรับคนรักท้องฟ้า 

ทางฝ่ายนักดาราศาสตร์ก็ไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดลอย การที่มีดาวเคราะห์น้อยเข้ามาใกล้โลกมาก ๆ เป็นการเปิดโอกาสให้ยานสำรวจและดาวเทียมได้ศึกษาดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้ในระยะใกล้ชิด ขณะนี้มียาน โอซิริส-เอเพ็กซ์ (ชื่อเดิมคือ โอซิริส-เร็กซ์) ที่ยังปฏิบัติภารกิจอยู่ จะเป็นยานลำแรกที่ได้รับหน้าที่พิเศษนี้ 

แต่แค่ยานลำเดียวคงยังไม่พอ โครงการ นีไลท์ (NEAlight) ดำเนินการโดยนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวือทซ์บวร์ค มีแผนจะส่งยานสำรวจเฉพาะกิจขึ้นไปเพื่อสำรวจดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงวางแผนว่าจะออกแบบภารกิจเป็นรูปแบบใด ซึ่งวางไว้สามแนวทาง

ยานโอซิริส-เอเพ็กซ์ หรือชื่อเดิมคือ โอซิริส-เร็กซ์ มีนัดกับดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิสในปี 2572 (จาก NASA)

แนวทางที่หนึ่ง จะส่งยานขนาดเล็กขึ้นไปตีคู่กับอะโพฟิสเป็นเวลา เดือนในช่วงที่เข้าใกล้โลกที่สุด ภารกิจนี้มีความท้าทายมากเนื่องจากมีระยะเวลาของภารกิจนาน และยานก็จะต้องทำงานอย่างอัตโนมัตเป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังต้องออกเดินทางจากโลกก่อนอะโพฟิสมาเยือนถึงหนึ่งปี

ภาพร่างของดาวเทียมขนาดเล็กที่อาจจะถูกส่งไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิสในปี 2572 (จาก SATEX team University of Würzburg)

แนวทางที่สองคือให้ยานเล็กเกาะไปกับยานอีกลำหนึ่งชื่อว่า รามเซส ซึ่งเป็นภารกิจสำรวจดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิสขององค์การอวกาศยุโรปที่กำลังรอการอนุมัติ วิธีนี้ง่ายกว่าแนวคิดแรก แต่ข้อเสียคือต้องผูกกับภารกิจอื่นที่มีราคาแพงและขณะนี้ก็ยังไม่แน่ว่าภารกิจรามเซสจะผ่านการอนุมัติของอีซาหรือไม่

แนวทางที่สามคือใช้ยานเล็กลำเดียวพุ่งเฉียดอะโพฟิสไป วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและใช้ทุนน้อยที่สุด แต่ข้อเสียคือ การเป็นภารกิจแบบพุ่งเฉียด จึงมีเวลาเก็บข้อมูลจำกัดมาก จึงอาจเก็บข้อมูลได้ไม่มากเท่าวิธีอื่น แต่ข้อดีคือ ไม่ต้องออกเดินทางล่วงหน้านานนัก อาจส่งขึ้นสู่ท้องฟ้าเพียงสองวันก่อนอะโพฟิสมาถึงก็ยังได้ 

 ปัจจุบันมีดาวเคราะห์น้อยถูกค้นพบแล้วราว 1.3 ล้านดวง ในจำนวนนี้มีประมาณ 2,500 ดวงที่จัดเป็นดาวเคราะห์อันตรายยิ่ง (Potentially Hazardous Asteroids--PHA)

ที่ผ่านมา มีภารกิจอวกาศที่สำรวจดาวเคราะห์น้อยเพียง 20 ภารกิจเท่านั้น เช่น โอซิริส-เร็กซ์, ฮะยะบุซะ และ ฮะยะบุซะ ของญี่ปุ่น โรเซตตาขององค์การอีซา และลูซีที่กำลังอยู่ระหว่างเดินทางไปยังดาวเคราะห์น้อยทรอย

ดาวเคราะห์น้อยถือกำเนิดขึ้นในช่วงเดียวกับดาวเคราะห์ การศึกษาดาวเคราะห์น้อยอย่างอะโพฟิสย่อมช่วยให้นักดาราศาสตร์มองเห็นสภาพทางเคมีของระบบสุริยะเมื่อ 4.6 พันล้านปีก่อน