นักดาราศาสตร์ได้ประสบความสำเร็จในการถ่ายภาพดาวเคราะห์น้อย 1999 JM8 โดยการใช้สัญญาณเรดาร์ ในระหว่างที่ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เข้าใกล้โลกเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ดาวเคราะห์น้อย1999 JM8 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโดยเฉลี่ย 3.5 กิโลเมตร นับเป็นดาวเคราะห์น้อยอันตราย (PHA - Potentially Hazardous Asteroid) ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีการสำรวจในรายละเอียดมา ถึงแม้ว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะมีชื่อเป็นดาวเคราะห์น้อยอันตราย แต่นักดาราศาสตร์ยืนยันว่า โลกเราจะยังปลอดภัยจากดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ไปอีกหลายร้อยปี
การสำรวจดาวเคราะห์น้อยด้วยสัญญาณเรดาร์ในครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างระบบเรดาร์ขององค์การนาซาที่โกลสโตนในแคลิฟอร์เนียกับจานเรดาร์เอริซิโบในเปอร์โตริโก
จากข้อมูลเท่าที่ได้มาในขณะนี้นักดาราศาสตร์ได้พบความแปลกประหลาดในหลาย ๆ ด้านของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ นอกจากรูปร่างแล้ว ยังพบว่ามันมีการหมุนรอบตัวเองอย่างช้า ๆ ด้วยอัตราที่ไม่คงที่อีกด้วย คุณสมบัติดังกล่าวคล้ายคลึงกับดาวเคราะห์น้อย Toutatis มาก ซึ่งดาวเคราะห์น้อย Toutatis ก็เคยถูกสำรวจด้วยเรดาร์มาก่อนเช่นเดียวกัน ส่วนข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับรูปร่างและอัตราการหมุนรอบตัวเองของ 1999 JM8 นั้นยังจะต้องรอการวิเคราะห์ข้อมูลอีกนานพอสมควร
ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ถูกค้นพบในครั้งแรกในวันที่13 พฤษภาคม 2542 โดยกล้องโทรทรรศน์กองทัพอากาศสหรัฐในนิวเม็กซิโก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกลินคอร์น (Lincoln Near Earth Asteroid Research Project) ที่บริหารงานโดยห้องทดลองลินคอล์นของเอ็มไอที (MIT) ในขณะนั้น เป็นช่วงเวลาก่อนที่ดาวเคราะห์น้อยจะเข้าใกล้โลกที่สุดหลายสัปดาห์ จึงนับเป็นโชคดีมากเพราะนักดาราศาสตร์มีเวลาพอสำหรับตระเตรียมแผนในการใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่เพื่อสำรวจดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เมื่อถึงวันที่มันเข้าใกล้โลกที่สุด ซึ่งจะอยู่ห่างจากโลกเพียง 8.5 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณ 22 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกถึงดวงจันทร์เท่านั้น
การถ่ายภาพด้วยเรดาร์เป็นวิธีการยิงคลื่นสัญญาณที่มีการเข้ารหัสอย่างสลับซับซ้อนไปที่ดาวเคราะห์น้อยสัญญาณที่สะท้อนกลับมาจากดาวเคราะห์น้อยจะถูกแปลความหมายและสร้างเป็นภาพโดยคอมพิวเตอร์ ภาพที่ได้จากการสำรวจในครั้งนี้ให้ความละเอียดของภาพสูงถึง 15 เมตรต่อพิกเซล ซึ่งละเอียดกว่าภาพที่ได้จากการถ่ายภาพธรรมดาด้วยยานอวกาศเสียอีก
ภาพนี้ยังได้แสดงถึงหลุมที่เกิดจากการชนของอุกกาบาตหลายหลุมมีขนาดตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไปจนถึง 1 กิโลเมตร การที่มีหลุมเป็นจำนวนมากย่อมบ่งบอกถึงอายุที่เก่าแก่ของตัวมันและยังแสดงว่ามันไม่ใช่ดาวเคราะห์น้อยที่แตกมาจากดาวเคราะห์น้อยดวงใหญ่อื่น ๆ นอกจากนี้ 1999 JM8 ยังมีรอยเว้าขนาดใหญ่ถึงประมาณครึ่งหนึ่งตัวมันเองอีกด้วย แต่นักดาราศาสตร์ยังไม่ยืนว่ารอยนั้นเป็นรอยที่เกิดจากการชนหรือไม่
ดาวเคราะห์น้อย
การสำรวจดาวเคราะห์น้อยด้วยสัญญาณเรดาร์ในครั้งนี้
จากข้อมูลเท่าที่ได้มาในขณะนี้
ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ถูกค้นพบในครั้งแรกในวันที่
การถ่ายภาพด้วยเรดาร์เป็นวิธีการยิงคลื่นสัญญาณที่มีการเข้ารหัสอย่างสลับซับซ้อนไปที่ดาวเคราะห์น้อย
ภาพนี้ยังได้แสดงถึงหลุมที่เกิดจากการชนของอุกกาบาตหลายหลุม