สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พบดาวเคราะห์แคระดวงใหม่ หรือจะเป็นดาวเคราะห์หมายเลข 9?

พบดาวเคราะห์แคระดวงใหม่ หรือจะเป็นดาวเคราะห์หมายเลข 9?

4 มิ.ย. 2568
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ศูนย์ดาวเคราะห์น้อยของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้ประกาศการค้นพบวัตถุดวงใหม่ วัตถุดวงนี้มีชื่อว่า 2017 โอเอฟ 201 (2017 OF201) วัตถุดวงนี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 470-820 กิโลเมตร นับเป็นวัตถุดวงใหญ่ที่สุดที่ถูกค้นพบนับจากปี 2559 และใหญ่พอจะจัดอยู่ในประเภท ดาวเคราะห์แคระ ขณะนี้วัตถุดวงนี้อยู่ห่างจากโลกประมาณ 90.6 หน่วยดาราศาสตร์หรือประมาณสองเท่าของระยะทางจากดวงอาทิตย์ถึงดาวพลูโต

ภาพถ่ายที่ค้นพบ 2017 โอเอฟ 201 (2017 OF201) ทั้ง 19 ภาพ ทั้งหมดถ่ายโดยกล้องแคนาดา-ฝรั่งเศส-ฮาวายและเดอแคมที่ถ่ายในช่วงระหว่างปี 2554 2563  (จาก Sihao Cheng/ arXiv.)

วงโคจรของ 2017 โอเอฟ 201 มีจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 45 หน่วยดาราศาสตร์ และจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดอยู่ห่าง 838 หน่วยดาราศาสตร์ แสดงว่าเป็นวัตถุประเภท วัตถุพ้นดาวเนปจูน (trans-Neptunian object) วัตถุพ้นดาวเนปจูนหมายถึงบริวารของดวงอาทิตย์ที่มีรัศมีวงโคจรมากกว่าดาวเนปจูน (30 หน่วยดาราศาสตร์) วัตถุพ้นดาวเนปจูนเป็นประเภทที่แบ่งอย่างกว้าง ๆ มีวัตถุหลายดวงจัดอยู่ในกลุ่มนี้ เช่น ดาวพลูโต ดาวเอียริส ดาวเฮาเมอา ดาวมาเคมาเค ปัจจุบันพบวัตถุพ้นดาวเนปจูนแล้วมากกว่า 3,000 ดวง ในจำนวนนี้มีเลขลำดับแล้วประมาณ 900 ดวง

2017 โอเอฟ 201 ค้นพบโดยคณะนักดาราศาสตร์ที่นำโดย เฉิง ซือเฮ่า จากสถาบันการศึกษาชั้นสูงในนิวเจอร์ซีย์ การค้นพบนี้ไม่ได้เกิดจากการเอากล้องยักษ์กวาดส่องไปบนท้องฟ้าแล้วตรวจเจอวัตถุในภาพ แต่เกิดจากการนำภาพถ่ายจากคลังภาพที่ถ่ายเก็บไว้โดยโครงการดาร์กเอเนอร์จีเซอร์เวย์มาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ผู้ค้นพบคณะนี้ไม่ได้ตั้งใจจะหาค้นหาวัตถุดวงใหม่ตั้งแต่แรก แต่เป็นคณะที่วิจัยเรื่องปรากฏการณ์เลนส์ความโน้มถ่วงที่ส่งผลต่อดาราจักรห่างไกล แต่คลังภาพนี้ถ่ายภาพติดวัตถุจางได้ดีมาก จึงเหมาะที่จะใช้ค้นหาวัตถุที่อยู่รอบนอกของระบบสุริยะด้วย 

แผนผังแสดงวงโคจรและตำแหน่งปัจจุบันของดาวเนปจูน ดาวพลูโต และ 2017 โอเอฟ 201 (จาก Jiaxuan Li and Sihao Cheng)

แต่การจะค้นจุดแสงจาง ๆ ที่เปลี่ยนตำแหน่งในภาพต่าง จากคลังภาพที่ถ่ายไว้ระหว่างปี 2557-2561 ที่ขนาดมหึมาระดับ 200 เทราไบต์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ซอฟต์แวร์จะใช้ในการวิเคราะห์ต้องมีอัลกอริทึมดีมาก ต้องการพลังการประมวลผลมาก และเวลาในการประมวลผลอีกไม่น้อย 

"แม้จะใช้โพรเซสเซอร์หลายร้อยตัวมาทำงานด้วยกัน ก็ยังต้องใช้เวลาในการประมวลผลอีกหลายเดือนเหมือนกัน ยังไม่รวมช่วงพัฒนาอัลกอริทึมก็ใช้ใช้เวลาอีกหลายเดือนเช่นกัน" เฉิงกล่าว 

หลังจากได้ข้อมูลด้านตำแหน่งแล้ว คณะของเฉิงก็คำนวณหาวงโคจรออกมาได้ และเมื่อไปตรวจสอบเพิ่มเติมกับคลังภาพที่ถ่ายโดยกล้องแคนาดา-ฝรั่งเศส-ฮาวายแล้ว ก็พบว่าพบจุดของวัตถุดวงนี้ที่ตำแหน่งตามที่คำนวณไว้พอดี 

ครั้งล่าสุดที่วัตถุดวงนี้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดคือเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2473 และจะกลับมาอีกครั้งใน 25,000 ปีข้างหน้า

หรือว่าจะเป็นดาวเคราะห์หมายเลขเก้า?


การที่ 2017 โอเอฟ 201 มีขนาดใหญ่และอยู่พ้นรอบนอกของระบบสุริยะ อาจทำให้หลายคนนึกถึงวัตถุที่นักดาราศาสตร์กำลังค้นหาที่เรียกว่า ดาวเคราะห์หมายเลข 9

แผนภูมิแสดงวงโคจรของ 2017 โอเอฟ 201 (2017 OF201) ดาวเคราะห์แคระดวงล่าสุดที่ค้นพบ เทียบกับวงโคจรของวัตถุพ้นดาวเนปจูนดวงอื่น   (จาก Sihao Cheng/ arXiv.)


ภาพถ่ายของดาว 2017 โอเอฟ 201 (2017 OF201) และดาวเคราะห์แคระดวงอื่น  (จาก NASA/JPL-Caltech; Sihao Cheng et al.)

เมื่อปี 2559 คอนสแตนติน บาทีจิน และ ไมค์ บราวน์ ได้พบว่า วัตถุไคเปอร์จำนวนมากมีวงโคจรที่เกาะกลุ่มกันอย่างผิดสังเกต ไม่ได้กระจายตัวอย่างที่ควรจะเป็น จึงสันนิษฐานว่าอาจมีวัตถุที่ยังมองไม่เห็นคอยส่งแรงดึงดูดรบกวนอยู่ แม้จะยังไม่มีการค้นพบวัตถุดวงนี้ แต่มีหลักฐานหลายอย่างที่บ่งชี้ว่าวัตถุนี้น่าจะมีอยู่จริง และมีมวลสูงพอที่จะเรียกได้ว่าเป็นดาวเคราะห์เลยทีเดียว นักดาราศาสตร์ถึงกับตั้งชื่อรอไว้ล่วงหน้าว่า ดาวเคราะห์หมายเลข (Planet 9) 

ดาวเคราะห์หมายเลขเก้าตามจินตนาการของศิลปิน (จาก Caltech/R. Hurt (IPAC))

อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์สมบัติทั้งด้านกายภาพและวงโคจรของ 2017 โอเอฟ 201 แล้ว นักดาราศาสตร์กล่าวว่า วัตถุดวงนี้ไม่เข้าข่ายการเป็นดาวเคราะห์หมายเลข เลย แม้จะมีขนาดใหญ่กว่าวัตถุพ้นดาวเนปจูนทั่วไป แต่ก็ยังเล็กกว่าซีรีส ในขณะที่นักดาราศาสตร์คาดว่าดาวเคราะห์หมายเลข ควรมีมวลประมาณ 5-10 เท่าของโลก นอกจากนี้ วงโคจรของ 2017 โอเอฟ 201 ยังยื่นยาวไปไกลเกินกว่ากลุ่มของวัตถุพ้นดาวเนปจูนดวงอื่นที่เกาะกลุ่มกัน จึงไม่อาจที่จะส่งแรงดึงดูดรบกวนจนแต่งวงโคจรของวัตถุดวงอื่นดังที่พบได้

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไม่มีดาวเคราะห์หมายเลข เพียงแต่วัตถุดวงใหม่นี้ไม่ใช่ดาวเคราะห์หมายเลข เท่านั้น

นักวิจัยคณะนี้คาดหวังว่าจะสำรวจวัตถุดวงนี้เพิ่มเติมโดยใช้กล้องโทรทรรศน์กำลังสูงเช่นกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ และกล้องภาคพื้นดินอื่น ๆ การสำรวจเพิ่มเติมจะช่วยให้ทราบถึงข้อมูลด้านวงโคจรที่แม่นยำยิ่งขึ้น รวมถึงขนาด องค์ประกอบ และอาจค้นพบบริวารได้อีกด้วย