สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวหางอิเคยะ-จาง (C/2002 C1 Ikeya-Zhang)

ดาวหางอิเคยะ-จาง (C/2002 C1 Ikeya-Zhang)

7 พฤษภาคม 2545
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 10 กันยายน 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีข่าวการมาปรากฏของดาวหางดวงหนึ่ง ซึ่งข้อมูลในขณะนั้นบอกว่า ดาวหางดวงนี้มีวงโคจรแบบพาราโบลา (นักดาราศาสตร์มักคาดหมายว่าวงโคจรของดาวหางที่ค้นพบใหม่ เป็นรูปพาราโบลาไว้ก่อนเสมอ) วงโคจรแบบนี้เป็นวงโคจรแบบเปิด ซึ่งหมายความว่าดาวหางจะเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์เพียงครั้งเดียว และมีโอกาสที่จะสว่างพอจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ผู้ที่ค้นพบดาวหางดวงนี้เป็นนักดาราศาสตร์สมัครเล่นสามคนจากสามประเทศ คือ อิเคยะ คาโอรุ ในญี่ปุ่น จาง ต้าฉิ้ง ในจีน และเปาโล เรย์มุนโด ในบราซิล แต่ดาวหางถูกตั้งชื่อตามสองคนแรกที่ค้นพบ เนื่องจากเรย์มุนโดค้นพบในเวลาที่ห่างจากสองคนแรกหลายชั่วโมง

ภาพถ่ายดาวหางอิเคยะ-จาง โดย Gerald Rhemann เมื่อวันที่ เมษายน 2545 ขณะที่ดาวหางผ่านใกล้กับดาราจักรแอนดรอเมดา ซึ่งเป็นดาราจักรที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าภายใต้ท้องฟ้าที่มืดสนิท 

การสังเกตการณ์ตำแหน่งและผลการคำนวณวงโคจรที่ทำขึ้นในครั้งต่อ ๆ มา จึงพิสูจน์ให้เห็นว่า อิเคยะ-จางเป็นดาวหางที่มีวงโคจรเป็นรูปวงรี เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ทุก ๆ 300-400 ปี และเป็นที่น่าเชื่อว่า ดาวหางดวงนี้อาจเป็นดวงเดียวกับที่มาปรากฏเมื่อปี ค.ศ. 1661 อย่างไรก็ดี ข้อมูลวงโคจรล่าสุด ณ วันที่ 21 เมษายน กลับไม่สอดคล้องกับสมมุติฐานนี้ ดังนั้นอาจเป็นไปได้อีกเช่นกันว่า ดาวหางดวงนี้อาจเป็นชิ้นส่วนหนึ่งในหลายชิ้น ของดาวหางที่เคยเกิดการแตกตัวออกจากกันในอดีต เพราะมีดาวหางอีกอย่างน้อย ดวงที่มีวงโคจรใกล้เคียงกับอิเคยะ-จาง

อิเคยะ-จาง เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเมื่อวันที่ 18/19 มีนาคม ด้วยระยะห่าง 76 ล้านกิโลเมตร มองเห็นได้บนท้องฟ้าทางทิศตะวันตกในช่วงเดือนมีนาคม 2545 จากข้อมูลความสว่างของดาวหางในขณะนั้น ดาวหางอิเคยะ-จาง มีความสว่างจนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหากดูจากสถานที่ที่ท้องฟ้าแจ่มใสและไม่มีแสงรบกวน สำหรับประเทศไทย ค่อนข้างจะมีอุปสรรคอยู่พอสมควร ทั้งในเรื่องของสภาพอากาศ และดาวหางค่อนข้างจะอยู่ใกล้ขอบฟ้า ทำให้ความสว่างของดาวหางลดลงอีกเล็กน้อย เนื่องจากความหนาแน่นของบรรยากาศบริเวณใกล้ขอบฟ้า ในปลายเดือนมีนาคม ผลการสังเกตการณ์จากทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศในแถบละติจูดสูง ๆ ที่มีโอกาสมองเห็นดาวหางได้ แสดงว่าอิเคยะ-จางมีความสว่างมากกว่าที่คาดไว้เดิมเล็กน้อยราว 0.5 อันดับ

แผนที่แสดงตำแหน่งดาวหางอิเคยะ-จาง ขณะที่มองเห็นได้ในเวลาเช้ามืดของเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2545  


ในเดือนเมษายนนี้ จะสามารถมองเห็นดาวหางได้ในเวลาเช้ามืด โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ต่อเนื่องไปจนกว่าความสว่างของดาวหางจะจางลงจนไม่สามารถติดตามต่อไปได้

หากดูดาวหางด้วยกล้องสองตา ดาวหางจะปรากฏคล้ายดาวฤกษ์ หัวดาวหางจะมีหมอกฝ้าปกคลุมอยู่เรียกว่า โคม่า (coma) ทั้งนี้อาจมองเห็นหางของดาวหางได้ โดยหางจะชี้ไปในทิศทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ภาพถ่ายที่เปิดหน้ากล้องไว้นานหลายนาทีสามารถบันทึกภาพหางของอิเคยะ-จางได้ ซึ่งมีความยาวหลายองศา ภาพถ่ายที่ถ่ายโดยนักดาราศาสตร์แสดงให้เห็นว่ามีก๊าซที่พุ่งออกมาจากดาวหางอิเคยะ-จางมากกว่าปริมาณฝุ่น เนื่องจากหางมีสีน้ำเงิน

คาดหมายความสว่างของดาวหางอิเคยะ-จาง
วัน เดือน ปีโชติมาตร (อันดับความสว่าง)
พ.ค. 25455.7
10 พ.ค. 25456.0
14 พ.ค. 25456.4
18 พ.ค. 25456.8
22 พ.ค. 25457.2
26 พ.ค. 25457.5
30 พ.ค. 25457.9