ดาวหางแห่งความผิดหวัง
เมื่อดาวหางไม่เล่นตามบท
มนุษย์รู้จักดาวหางมาหลายพันปีแล้ว บันทึกการพบเห็นดาวหางที่เก่าแก่ที่สุดเป็นของชาวจีนที่บันทึกไว้เมื่อ 613 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในอดีต ผู้คนเกือบทั้งโลกมองดาวหางว่าเป็นลางร้าย เชื่อกันว่าเมื่อดาวหางปรากฏขึ้นจะตามมาด้วยเรื่องร้ายเสมอ เช่นเกิดสงคราม โรคระบาด ประมุขเสียชีวิต
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปความเข้าใจของผู้คนเกี่ยวกับธรรมชาติของดาวหางมีมากขึ้น ความเกรงกลัวค่อยลดน้อยลงไปสวนทางกับความสนใจที่มีมากขึ้น คนที่ชื่นชอบท้องฟ้าต่างรอว่าเมื่อใดจะมีดาวหางดวงใหญ่หรือสว่างมาให้เห็นเต็มตาเสียที ทุกคืนมีนักดาราศาสตร์ทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นกวาดกล้องไปบนท้องฟ้าเมื่อค้นหาดาวหางดวงใหม่
ในระบบสุริยะของเรามีดาวหางที่พบแล้วจำนวนไม่น้อยกว่า4,500 ดวง และยังมีอีกมากที่ยังรอการค้นพบ ดังนั้นทุกคืนจึงมีดาวหางปรากฏอยู่บนฟ้าเสมอ เพียงแต่ดาวหางเกือบทั้งหมดไม่ได้มีความสว่างมากพอที่มองเห็นได้ง่ายนัก มีเพียงน้อยนิดที่จะมีความสว่างพอที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยสถิติแล้ว ดาวหางที่สว่างระดับนั้นมาปรากฏให้เห็นเฉลี่ยทุก 15 ปีเท่านั้น
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานับว่าเป็นช่วงที่ดาวหางชุกเป็นพิเศษ เพราะมีดาวหางสว่างมาให้เห็นมากกว่าค่าเฉลี่ย เช่นดาวหางเวสต์ (2519) ดาวหางแฮลลีย์ (2530) ดาวหางเฮียะกุตะเกะ (2539) ดาวหางเฮล-บอปป์ (2540) ดาวหางแมกนอต (2550) ดาวหางเลิฟจอย (2554)
ครั้งสุดท้ายที่ชาวโลกได้เห็นดาวหางสว่างคือดาวหางเลิฟจอยในปี2554 ซึ่งความสว่างในช่วงสูงสุดสว่างเกือบเท่าดาวศุกร์ และหลังจากนั้นก็ไม่มีดาวหางสว่างในระดับนั้นมาปรากฏโฉมอีกเลย
บางทีเราอาจไม่ต้องรอนานนักเมื่อต้นปี 2566 นักดาราศาสตร์พบดาวหางดวงหนึ่งชื่อ ซี/2023 เอ 3 (จื่อจินซาน-แอตลัส) [C/2023 A3 (Tsuchinshan–ATLAS)] เรียกย่อ ๆ ว่า เอ 3 ดาวหางดวงนี้น่าสนใจ จากแนววิถีของดาวหางพบว่าจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในปีนี้ (2567) และแนวโน้มด้านการเปลี่ยนแปลงความสว่างเท่าที่ติดตามมาจนขณะนี้ (ต้นปี 2567) พบว่าดาวหางดวงนี้เข้าข่ายจะได้ลุ้นว่าจะได้เป็นดาวหางสว่างอีกดวงหนึ่ง
แต่อย่าได้ไปถามนักดาราศาสตร์ทีเดียวว่าดาวหางเอ 3 จะสว่างมากเท่าใด และสว่างสูงสุดระดับไหน เพราะดาวหางเป็นวัตถุที่มีพฤติกรรมเอาแน่เอานอนไม่ได้ คาดเดาความสว่างได้ยากมาก นักดาราศาสตร์ที่ศึกษาดาวหางมานานต่างรู้พิษสงในเรื่องนี้ของดาวหางเป็นอย่างดี การทำนายล่วงหน้าเป็นเวลานานว่าดาวหางดวงไหนจะมีความสว่างสูงสุดเท่าใดมีโอกาสหน้าแตกสูงมาก ในอดีตเคยมีดาวหางหลายดวงที่แสดงอาการเริ่มต้นว่าจะเป็นดาวหางที่สว่างไสว แต่พอถึงเวลาจริงกลับไม่เป็นดังคาด
ดร.เดวิดเลวี นักดาราศาสตร์และนักเขียนชื่อดัง เคยเปรียบเทียบไว้ว่า "ดาวหางมันก็เหมือนแมวนั่นแหละ มันมีหาง แล้วมันก็ทำตามใจมันเท่านั้น" ส่วน เฟรด ลอเรนซ์ วิปเพิล ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นบิดาแห่งการศึกษาดาวหางก็เคยเตือนไว้ว่า "ถ้าชอบเดิมพันก็ไปแทงม้าเถอะ อย่ามาเสี่ยงกับดาวหาง"
มีกรณีมากมายที่นักดาราศาสตร์ต้องหัวหมุนเพราะดาวหางไม่เล่นตามบทหากจะให้ยกตัวอย่าง เห็นจะไม่มีกรณีใดที่เด่นชัดเท่าดาวหางสองดวงที่กล่าวถึงต่อไปนี้
ในปี2516 นักดาราศาสตร์ชื่อ ลูบอส โคโฮเทก (Luboš Kohoutek) ค้นพบดาวหางดวงหนึ่ง ดาวหางดวงนี้ต่อมาได้ชื่อว่า ดาวหางโคฮูเทก (ซี/1973 อี 1) [Kohoutek (C/1973 E1)] เมื่อนักดาราศาสตร์นำตำแหน่งมาคำนวณหาวงโคจรก็พบว่าดาวหางดวงนี้มีแนววิถีเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาก คาดว่าจะเริ่มมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในช่วงเช้ามืดของเดือนพฤศจิกายนในปีนั้น และเมื่อถึงจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด อันดับความสว่างจะดำดิ่งลงไปถึงอันดับ -10 หากเป็นจริง นี่จะเป็นดาวหางอีกดวงหนึ่งที่ได้ชื่อว่าดาวหางกลางวัน เพราะมองเห็นได้แม้ในเวลากลางวัน และเป็นไปได้ว่าอาจสว่างกว่าดาวหางยักษ์แห่งปี 1910 เสียอีก
ขณะที่พบนั้นดาวหางโคฮูเทกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 748 ล้านกิโลเมตร ซึ่งอยู่ประมาณวงโคจรของดาวพฤหัสบดี นับเป็นการค้นพบดาวหางจากระยะที่ไกลที่สุดในขณะนั้น แม้จะยังอยู่ที่ระยะไกลจากดวงอาทิตย์มาก แต่ก็มีความสว่างค่อนข้างมาก จึงเชื่อได้ว่าดาวหางดวงนี้จะต้องโชติช่วงชัชวาลเมื่อเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ นักดาราศาสตร์ถึงกับขนานนามดาวหางโคฮูเทกไว้ล่วงหน้าว่าเป็น "ดาวหางแห่งศตวรรษ" เลยทีเดียว
ในช่วงนั้นทั้งโลกอยู่ในอาการเห่อดาวหางอย่างหนักทั้งวงการดาราศาสตร์และผู้คนทั่วไปต่างตื่นเต้นกับเรื่องของดาวหางดวงนี้ มีการประชาสัมพันธ์กันล่วงหน้าอย่างครึกโครม มีสินค้าที่เกาะกระแสโคฮูเทกออกมามากมาย ทั้งเข็มกลัด เสื้อเชิ้ต หมวก หนังสือ การ์ดอวยพร มีแพ็กเก็จทัวร์ท่องทะเลแอตแลนติกชมดาวหางโคฮูเทกจากเรือสำราญควีนเอลิซาเบทที่ 2 มีแม้แต่เที่ยวบินพาชมดาวหางโคฮูเทกจากเครื่องบิน
แต่ในช่วงเวลาต่อมาดาวหางโคฮูเทกกลับออกอาการเฉื่อยชา ไม่คึกคักเหมือนในช่วงแรกที่ค้นพบ แม้จะมีทิศทางมุ่งหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์ ระยะห่างที่สั้นลงควรจะทำให้สว่างมากขึ้นทอดหางยาวขึ้น แต่โคฮูเทกกลับมีความสว่างคงที่
เมื่อถึงปลายปีซึ่งเป็นเวลาที่โคฮูเทกจะได้ฉายแสงอวดโฉมกลับพบว่าดาวหางมีสว่างน้อยกว่าที่คาดไว้ถึง 100 เท่า ทำให้คนที่เฝ้าคอยผิดหวังกันทั้งโลก แม้ความสว่างในช่วงที่สว่างที่สุดจะสว่างถึงอันดับ -3.0 แต่ก็เป็นช่วงที่มีตำแหน่งอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์จนแทบไม่มีใครเห็นในช่วงนั้น ครั้นเมื่อพ้นแสงจ้าของดวงอาทิตย์มาแล้ว อันดับความสว่างก็ลดลงไปเหลือ 0.0 ไม่มีอะไรจะไปเทียบกับดาวหางยักษ์แห่งปี 1910 และไม่มีอะไรที่จะไปเรียกว่าดาวหางยักษ์
ผู้คนจำนวนมากที่ฝ่าความง่วงขึ้นมาเพื่อจะชมภาพดาวหางอวดโฉมยามใกล้รุ่งต้องพบกับความผิดหวังคนที่เสียสตางค์ก้อนโตไปกับเรือควีนเอลิซาเบทก็กลับมามือเปล่าเพราะท้องฟ้าปิด แม้แต่โอกาสพิเศษที่จะได้ฟังบรรยายสดจาก ดร.โคโฮเทกที่เป็นแขกรับเชิญคนสำคัญบนเรือก็ไม่ได้ฟัง เพราะ ดร.โคโฮเทกเมาเรือจนไม่เป็นอันทำอะไร
ดาวหางแห่งศตวรรษต้องกลายเป็นดาวหางน่าผิดหวังแห่งศตวรรษคำว่าโคฮูเทกกลายเป็นคำสแลงในวงการดาราศาสตร์ ความผิดหวังจากดาวหางโคฮูเทกยังทำให้ดาวหางอีกดวงหนึ่งต้องรับเคราะห์ไปด้วย อีกสองปีถัดมา ปี 2519 ดาวหางอีกดวงหนึ่งก็มาปรากฏโฉม มีชื่อว่า ดาวหางเวสต์ (C/1975 V1) เป็นดาวหางที่สว่างและสวยงามมาก มีหางแยกออกเป็นหลายหาง ในช่วงที่สว่างที่สุดมีอันดับความสว่างถึง -3 บางคนมองเห็นได้แม้แต่ตอนกลางวัน และนักดูดาวรุ่นเก๋าในปัจจุบันหลายคนยกให้ดาวหางเวสต์เป็นดาวที่สวยที่สุดเท่าที่เคยเห็น แต่ดาวหางดวงนี้กลับได้รับความสนใจจากสาธารณชนไม่มากนัก หนังสือพิมพ์และข่าววิทยุก็แทบไม่ลงข่าวเกี่ยวกับดาวหางดวงนี้เลย สาเหตุหนึ่งน่าจะเป็นเพราะความผิดหวังจากโคฮูเทกพาให้ผู้คนหมดอารมณ์จะฟังคำนักดาราศาสตร์
เกือบครึ่งศตวรรษผ่านไปเหตุการณ์คล้ายกันเกิดขึ้นอีกครั้ง หลายคนอาจยังจำเหตุการณ์นั้นได้ เพราะเพิ่งผ่านไปเพียงสิบกว่าปีเท่านั้นเอง ในปี 2555 นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวรัสเซียชื่อ อาร์ตีออม โนวีโชนอค และ วีตาลี เนฟสกี ชาวเบลารุส ได้ค้นพบดาวหางดวงใหม่ดวงหนึ่งโดยใช้เครือข่ายสังเกตการณ์ดาราศาตร์นานาชาติที่ชื่อ ไอซอน (ISON--International Scientific Optical Network) ดาวหางดวงนี้จึงได้ชื่อสามัญว่า ดาวหางไอซอน
ดาวหางไอซอนมีแนววิถีเป็นไฮเพอร์โบลา การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงความสว่างของดาวหางในช่วงแรกบ่งชี้ว่าดาวหางดวงนี้มีความไวต่อการกระตุ้นมาก จึงมีการคาดการณ์กันว่า เมื่อถึงช่วงที่สว่างที่สุด ดาวหางไอซอนจะมีอันดับความสว่างมากถึง -16 หรือสว่างเกือบเท่าดวงจันทร์เต็มดวงเลยทีเดียว
หากเป็นเช่นนั้นจริงคำว่าดาวหางแห่งศตวรรษคงยังไม่คู่ควร นักดาราศาสตร์บางคนถึงกับบอกว่าอยากจะเรียกดาวหางไอซอนว่าเป็นดาวหางแห่งสหัสวรรษเลยทีเดียว
ตามการคาดการณ์ดาวหางไอซอนจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในปลายปี 2556 แต่เมื่อถึงกลางปี ลางไม่ดีเริ่มปรากฏ เมื่อพบว่าดาวหางไอซอนเริ่มทำตัวแบบเดียวกับดาวหางโคฮูเทก นั่นคือทำตัวคึกคักในช่วงแรก แต่พอต่อมาก็เริ่มเฉื่อยชา แม้จะมีความสว่างเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ไม่มากอย่างที่ดาวหางควรจะเป็น จนถึงเดือนมิถุนายน ความสว่างของดาวหางไอซอนยังอยู่ที่ 15.5 ทั้งที่ควรจะสว่างถึงอันดับ 14 แล้ว จนถึงเดือนพฤศจิกายน ก่อนที่ดาวหางจะไปอ้อมหลังดวงอาทิตย์ ดาวหางไอซอนก็ยังไม่เคยสว่างจนถึงระดับที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเลย มีอันดับความสว่างต่ำสุด (สว่างที่สุด) เพียง 4 เท่านั้น
ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนแม้ดาวหางไอซอนจะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก แต่ความสว่างก็ยังคงอยู่ที่ 4 ไม่เปลี่ยนแปลงอยู่เป็นเวลานาน ซึ่งผิดวิสัยของดาวหางอย่างมาก ปกติดาวหางจะมีความสว่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราการคายแก๊สที่ทำให้เกิดหางลดลง และยิ่งกว่านั้น ตำแหน่งของดาวหางก็ล่าช้ากว่าตามที่ควรจะเป็นอยู่ราว 5 พิลิปดา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งบ่งชี้ว่านิวเคลียสของไอซอนแตกออกไปแล้ว
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป
ในระบบสุริยะของเรามีดาวหางที่พบแล้วจำนวนไม่น้อยกว่า
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ครั้งสุดท้ายที่ชาวโลกได้เห็นดาวหางสว่างคือดาวหางเลิฟจอยในปี
บางทีเราอาจไม่ต้องรอนานนัก
แต่อย่าได้ไปถามนักดาราศาสตร์ทีเดียวว่า
ดร.เดวิด
มีกรณีมากมายที่นักดาราศาสตร์ต้องหัวหมุนเพราะดาวหางไม่เล่นตามบท
ในปี
ขณะที่พบนั้น
ในช่วงนั้นทั้งโลกอยู่ในอาการเห่อดาวหางอย่างหนัก
แต่ในช่วงเวลาต่อมา
เมื่อถึงปลายปีซึ่งเป็นเวลาที่โคฮูเทกจะได้ฉายแสงอวดโฉม
ผู้คนจำนวนมากที่ฝ่าความง่วงขึ้นมาเพื่อจะชมภาพดาวหางอวดโฉมยามใกล้รุ่งต้องพบกับความผิดหวัง
ดาวหางแห่งศตวรรษต้องกลายเป็นดาวหางน่าผิดหวังแห่งศตวรรษ
เกือบครึ่งศตวรรษผ่านไป
ดาวหางไอซอน
หากเป็นเช่นนั้นจริง
ตามการคาดการณ์
ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน