สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวหางนีโอไวส์ - C/2020 F3 (NEOWISE)

ดาวหางนีโอไวส์ - C/2020 F3 (NEOWISE)

3 กรกฎาคม 2563
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 21 กรกฎาคม 2563
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด
ดาวหางนีโอไวส์ C/2020 F3 (NEOWISE) เป็นดาวหางที่ค้นพบเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2563 โดยค้นพบจากภาพถ่ายในโครงการค้นหาดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก (NEOWISE ย่อมาจาก Near-Earth Object Wide-field Infrared Survey Explorer) ขณะค้นพบ ดาวหางสว่างที่โชติมาตร 17 รายงานการสังเกตการณ์ล่าสุดจากพื้นโลกเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ก่อนดาวหางจะหายไปจากท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ พบว่าดาวหางสว่างที่โชติมาตร 6.8 หลังจากนั้นดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากจนไม่สามารถสังเกตได้

วันที่ 22-28 มิถุนายน 2563 ดาวหางนีโอไวส์ปรากฏในภาพถ่ายจากยานโซโฮ (SOHO) ซึ่งเป็นยานสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์และสภาพแวดล้อมรอบดวงอาทิตย์ มีรายงานว่าในช่วงดังกล่าว ดาวหางมีความสว่างเพิ่มขึ้นจากราวโชติมาตร ไปที่ ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีกว่าที่คาดไว้ ก่อนที่ดาวหางจะปรากฏในภาพถ่ายจากยานโซโฮ มีความกังวลว่าดาวหางนีโอไวส์อาจเผชิญชะตากรรมเดียวกับดาวหางสองดวงก่อนหน้านี้ ที่แตกสลายและมีความสว่างลดลงมาก แต่ในภาพถ่ายจากยานโซโฮแสดงให้เห็นว่าดาวหางยังคงอยู่ในสภาพดี ไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าดาวหางกำลังแตกสลาย มีความสว่างมากกว่าที่คาดไว้ และสว่างเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้มีความหวังว่าจะสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าเมื่อดาวหางเคลื่อนห่างจากดวงอาทิตย์มากพอให้สังเกตได้บนท้องฟ้าเวลากลางคืน

ดาวหางนีโอไวส์ในภาพถ่ายจากยานโซโฮ (จาก SOHO/ESA/NASA)

วันที่ 28 มิถุนายน เป็นวันสุดท้ายที่ดาวหางปรากฏในภาพถ่ายจากยานโซโฮ หลังจากนั้น ต้นเดือนกรกฎาคม 2563 เริ่มมีรายงานการสังเกตเห็นดาวหางบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดจากหลายประเทศที่อยู่ในละติจูดสูงของซีกโลกเหนือ ทั้งในอเมริกาเหนือ ยุโรป และญี่ปุ่น โดยดาวหางปรากฏท่ามกลางแสงเงินแสงทองของท้องฟ้ายามรุ่ง ต้องอาศัยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ และทราบตำแหน่งบนท้องฟ้าที่แน่นอน ดาวหางนีโอไวส์ผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ กรกฎาคม 2563 ที่ระยะห่าง 0.295 หน่วยดาราศาสตร์ (44 ล้านกิโลเมตร) และใกล้โลกที่สุดในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ที่ระยะห่าง 0.692 หน่วยดาราศาสตร์ (103 ล้านกิโลเมตร)

ดาวหางนีโอไวส์เมื่อเช้ามืดวันที่ กรกฎาคม 2563 โดยนักดาราศาสตร์ในญี่ปุ่น (จาก shuji_acure twitter)

การสังเกตดาวหางในประเทศไทย


หลังจากดาวหางผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด การสังเกตดาวหางนีโอไวส์จากประเทศไทยอาจแบ่งได้เป็น ช่วง ช่วงแรกอยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด หากอยู่ในที่ท้องฟ้าเปิด ซึ่งหาได้ยากในฤดูนี้ของประเทศไทย มีโอกาสสังเกตได้ด้วยกล้องสองตาเป็นช่วงสั้น ๆ ประมาณหนึ่งสัปดาห์ ระหว่างวันที่ ถึง 10 กรกฎาคม 2563 คาดว่าดาวหางอาจสว่างที่โชติมาตร 0.7 ถึง 1.4 ซึ่งถือว่าสว่างมากพอสมควรสำหรับดาวหาง แต่การสังเกตการณ์ทำได้ยาก มีความท้าทายสูง อุปสรรคคือสภาพท้องฟ้าในช่วงนี้ที่มีเมฆมากในทุกภาคของประเทศไทย เราไม่สามารถสังเกตดาวหางได้ในเวลาที่ท้องฟ้ามืดสนิท ต้องรอให้ดาวหางขึ้นเหนือขอบฟ้าก่อน ซึ่งจะเป็นเวลาที่ท้องฟ้าเริ่มสว่างขึ้นแล้ว เมื่อเริ่มแสงสนธยาทางการ (ดวงอาทิตย์อยู่ใต้ขอบฟ้าเป็นมุม 6°) ดาวหางจะมีมุมเงยเหนือขอบฟ้าไม่เกิน 10° (ขนาดกำปั้นเมื่อกำมือแล้วเหยียดแขนออกไปข้างหน้าให้สุด) แม้ไม่มีอะไรบดบังที่ขอบฟ้า แต่หากมีเมฆหมอกอยู่ใกล้ขอบฟ้า จะไม่สามารถสังเกตได้

ดาวหางอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จำเป็นต้องหาสถานที่ซึ่งท้องฟ้าด้านนี้เปิดโล่ง หรือสังเกตจากสถานที่สูง สภาพอากาศปลอดโปร่ง ดาวหางมีแนวโน้มจะสว่างพอสมควร แต่การอยู่ใกล้ขอบฟ้า ทำให้ความสว่างลดลงได้ราว 1-2 อันดับ จำเป็นต้องใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ ช่วงนั้นดาวหางอยู่ในกลุ่มดาวสารถี ให้สังเกตตำแหน่งของดาวหางเทียบกับดาวศุกร์และดาวคาเพลลาในกลุ่มดาวสารถี (ดูแผนที่ประกอบ) หลังจากขึ้นเหนือขอบฟ้าแล้ว จะมีเวลาสังเกตดาวหางได้ไม่นานก่อนที่ความสว่างของท้องฟ้ายามเช้าจะกลบแสงของดาวหาง

ตำแหน่งดาวหางนีโอไวส์ในเช้ามืดวันที่ กรกฎาคม 2563 เวลาประมาณ 40 นาที ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น มองหาดาวหางด้วยกล้องสองตาโดยเทียบกับตำแหน่งของดาวศุกร์ (ขวา) กับตำแหน่งของดาวคาเพลลา (ซ้าย) ในกลุ่มดาวสารถี หลังจากวันนี้ ยังสามารถมองหาดาวหางได้จนถึงราววันที่ 10 กรกฎาคม โดยดาวหางจะขยับไปทางซ้ายมือมากขึ้นทุกวัน มีมุมเงยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงแรก แล้วลดลงในช่วงท้าย (จาก Stellarium)

หลังจากวันที่ 10 กรกฎาคม ดาวหางนีโอไวส์จะมีมุมเงยต่ำมากจนสังเกตได้ยาก จากนั้นขึ้นและตกในเวลาใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ ทำให้ไม่สามารถสังเกตได้จากประเทศไทย ครึ่งหลังของเดือนกรกฎาคม 2563 ดาวหางจะกลับมาปรากฏบนท้องฟ้าด้านทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ คาดว่าช่วงแรกอาจสว่างที่โชติมาตร แล้วจางลงอย่างรวดเร็ว

ตำแหน่งดาวหางนีโอไวส์ (เทียบกับดาวฤกษ์) ในวันที่ 10-14 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายที่ดาวหางปรากฏบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดของประเทศไทย แสดงขอบฟ้าของวันที่ 12 กรกฎาคม 2563 ที่เวลาประมาณ 35 นาที ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น 

ประเทศไทยอาจเริ่มสังเกตดาวหางนีโอไวส์บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำได้ตั้งแต่ราววันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป วันนั้นดาวหางอาจสว่างที่โชติมาตร 2.7 อยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้า เมื่อสิ้นสุดแสงสนธยาเดินเรือ อันเป็นจังหวะที่ดวงอาทิตย์อยู่ใต้เส้นขอบฟ้าเป็นมุม 12° (บริเวณกรุงเทพฯ ตรงกับเวลาประมาณ 19:40 น.) ดาวหางอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีมุมเงยสูงจากขอบฟ้าประมาณ 8° อาจจำเป็นต้องใช้กล้องสองตาช่วยกวาดหาบนท้องฟ้า หลังจากวันนี้ ดาวหางจะเคลื่อนสูงขึ้นเมื่อเทียบตำแหน่งในเวลาเดียวกันของแต่ละวัน แต่ความสว่างมีแนวโน้มลดลง

วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 เป็นวันที่ดาวหางนีโอไวส์ผ่านจุดใกล้โลกที่สุด วันนั้นคาดว่าอาจสว่างราวโชติมาตร 3.7 จางกว่าความสว่างโดยเฉลี่ยของดาวเรียงเด่น ดวงในกลุ่มดาวหมีใหญ่ ที่คนไทยเรียกว่าดาวจระเข้ หากสามารถมองเห็นดาวสว่างในกลุ่มดาวหมีใหญ่ได้อย่างชัดเจนก็มีโอกาสจะเห็นดาวหางได้ ให้มองหาดาวหางโดยการดูตำแหน่งดาวหางเทียบกับดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้เคียง สังเกตได้ว่าดาวหางมีลักษณะแตกต่างจากดาวฤกษ์ ตรงที่หัวดาวหางฝ้ามัว และอาจมองเห็นหางฝุ่นที่สะท้อนแสงอาทิตย์ ส่วนหางแก๊สที่มีสีน้ำเงินจางกว่าหางฝุ่นมาก โดยทั่วไปจะเห็นได้ในภาพถ่ายที่เปิดหน้ากล้องรับแสงเป็นเวลานานเท่านั้น

หลังจากวันที่ 23 กรกฎาคม แสงจันทร์จะสว่างรบกวนมากขึ้นทุกวัน อาจทำให้สังเกตดาวหางได้ยากขึ้น ประกอบกับความสว่างของดาวหางที่ลดลงเรื่อย ๆ ดังนั้นช่วงวันที่ 18-23 กรกฎาคม 2563 จึงเป็นช่วงที่น่าจะสังเกตดาวหางนีโอไวส์ได้ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย ดาวหางสว่างพอจะเห็นได้ด้วยตาเปล่าสำหรับสถานที่ซึ่งท้องฟ้าเปิด และไม่มีแสงไฟหรือฝุ่นควันรบกวน (แต่ไม่สว่างนัก ต้องทราบตำแหน่งที่แน่นอนของดาวหาง) สำหรับผู้ที่มีกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ ยังคงสามารถติดตามดาวหางได้ต่อไปจนกว่าดาวหางจะจางลงจนเกินขอบเขตการมองเห็นของทัศนูปกรณ์ที่มีอยู่

ผลการพยากรณ์โดยศูนย์ดาวเคราะห์น้อยของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล คาดว่าดาวหางนีโอไวส์จะจางลงเรื่อย ๆ สิ้นเดือนกรกฎาคมจางลงไปที่โชติมาตร 5.3 วันที่ สิงหาคม อยู่ที่โชติมาตร 6.6 ซึ่งไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้แล้ว แต่ยังคงสังเกตได้ง่ายด้วยกล้องสองตา วันที่ 15 สิงหาคม จางลงไปที่โชติมาตร 7.9 ทั้งนี้การพยากรณ์ความสว่างมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้ ให้ใช้เป็นแนวทางเท่านั้น

แผนที่แสดงตำแหน่งดาวหางนีโอไวส์เทียบกับดาวฤกษ์ ระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม 16 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวหางเคลื่อนผ่านกลุ่มดาวหมีใหญ่ ผมเบเรนิซ หญิงสาว และคนเลี้ยงสัตว์ ขอบฟ้าในภาพเป็นขอบฟ้าของวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เวลา 19:40 น. หรือประมาณ 50 นาที หลังดวงอาทิตย์ตก หลังจากนั้น หากสังเกตในเวลาเดียวกันของแต่ละวัน แนวขอบฟ้าเมื่อเทียบกับดาวฤกษ์จะขยับสูงขึ้นตามการเคลื่อนที่ของโลกรอบดวงอาทิตย์ 

ดูเพิ่ม


 รู้จักดาวหาง
 ดาวหางและดาวเคราะห์น้อย