สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวหางแอตลาส (C/2019 Y4 ATLAS)

ดาวหางแอตลาส (C/2019 Y4 ATLAS)

ดาวหางที่ก่อนหน้านี้คาดว่ามีโอกาสจะสว่างจนเห็นได้ด้วยตาเปล่าในเดือนพฤษภาคม แต่ขณะนี้พบว่ากลับมีความสว่างลดลง และแตกออกเป็นหลายดวง

2 เมษายน 2563
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 29 เมษายน 2563
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด

ความเคลื่อนไหวล่าสุด


29 เม.ย. 2563 – ภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเมื่อวันที่ 20 และ 23 เมษายน 2563 แสดงให้เห็นชิ้นส่วนจำนวนมากของดาวหางแอตลาสที่แตกออกจากกัน การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของดาวหางทำให้ไม่สามารถระบุชิ้นส่วนที่ตรงกันระหว่างสองภาพได้ การแตกออกของดาวหางเป็นเหตุการณ์ที่พบได้ค่อนข้างบ่อย และดูเหมือนจะเป็นเหตุการณ์ทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นได้กับดาวหางหลายดวง กลไกหนึ่งที่คาดว่าอาจมีส่วนอันเป็นสาเหตุของการแตกคือการระเหิดของน้ำแข็งทำให้แก๊สที่พ่นออกมาจากส่วนต่าง ๆ บนผิวของดาวหางไม่สม่ำเสมอกัน ก่อให้เกิดการหมุนของนิวเคลียสในรูปแบบที่ไม่แน่นอน


รายงานความสว่างล่าสุดแสดงให้เห็นว่าแม้ดาวหางกำลังใกล้โลกและดวงอาทิตย์มากขึ้น แต่ดาวหางแอตลาสกำลังมีความสว่างลดลง เป็นที่ชัดเจนว่าจะไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า จากตำแหน่งและวงโคจรของดาวหาง คำนวณได้ว่าดาวหางจะปรากฏในภาพถ่ายจากยานสเตอริโอ-เอ (STEREO-A) ซึ่งเป็นยานสำรวจดวงอาทิตย์ในช่วงวันที่ 25 พฤษภาคม มิถุนายน 2563 แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าดาวหางจะยังคงอยู่ถึงวันนั้นหรือสว่างพอจะปรากฏในภาพหรือไม่

 (จาก COBS)

13 เม.ย. 2563 – โทรเลขอิเล็กทรอนิกส์ของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลรายงานว่าจากภาพถ่ายดาวหางแอตลาสเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 พบว่าดาวหางได้แตกออกเป็นหลายดวงโดยมีชิ้นส่วนที่ตรวจวัดได้อย่างน้อย ชิ้น รายงานความสว่างโดยรวมของดาวหางมีแนวโน้มลดลงอีกเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า

จากสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้เขียนคาดว่าดาวหางแอตลาสอาจไม่ถึงกับแตกสลายไปทั้งหมดในเวลาอันสั้น อาจเหลือชิ้นส่วนที่ยังเคลื่อนที่ต่อไปในแนวใกล้เคียงกับวงโคจรเดิม และสว่างเพิ่มขึ้นได้ ตามระยะห่างที่ใกล้ดวงอาทิตย์และโลกมากขึ้น (ในกรณีที่ไม่แตกสลายไปทั้งหมด) แต่ก็ไม่น่าจะสว่างพอให้เห็นได้ด้วยตาเปล่า

เม.ย. 2563 – รายงานความสว่างล่าสุด ณ วันที่ เมษายน 2563 พบว่าดาวหางมีความสว่างลดลงไปที่โชติมาตร 9-10 นักดาราศาสตร์รายงานเพิ่มเติมจากการสังเกตด้วยกล้องโทรทรรศน์ว่าบริเวณที่เป็นใจกลางดาวหางมีรูปร่างเปลี่ยนจากทรงกลมเป็นทรงรีหรือยืดออก นอกจากนี้ การเคลื่อนที่ของดาวหางได้เบี่ยงเบนไปจากแนวที่ควรจะเป็น คาดว่าเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของนิวเคลียส สนับสนุนว่านิวเคลียสของดาวหางแอตลาสอาจกำลังแตกสลาย อ้างอิง (1)(2)

(บทความด้านล่างเขียนขึ้นเมื่อ เมษายน 2563 ก่อนมีข้อมูลยืนยันการแตกออกของดาวหาง)

ดาวหางแอตลาส (C/2019 Y4 ATLAS) ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2562 กำลังมีความสว่างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปลายเดือนมีนาคม 2563 ดาวหางสว่างที่โชติมาตร ยังไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า สังเกตได้เมื่อดูผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดกลางหรือกล้องสองตาขนาดใหญ่ภายใต้ฟ้ามืด

ข่าวดีคือมีแนวโน้มว่าในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2563 คาดหมายว่าดาวหางจะสว่างขึ้นไปที่โชติมาตร และยังคงสว่างขึ้นหลังจากนั้น เมื่อถึงกลางเดือนพฤษภาคม ดาวหางแอตลาสอาจสว่างขึ้นไปที่โชติมาตร (± อันดับ) ถือว่าสว่างพอประมาณให้สามารถสังเกตได้จาง ๆ ด้วยตาเปล่า หรืออย่างน้อยก็น่าจะสังเกตได้ดีด้วยกล้องสองตา

ข่าวร้ายคือเมื่อถึงกลางเดือนพฤษภาคม ขณะที่ดาวหางยังคงสว่างขึ้นตามระยะห่างที่ใกล้โลกและดวงอาทิตย์มากขึ้น ดาวหางจะเริ่มเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จนทำให้มีมุมเงยสูงจากขอบฟ้าไม่มากนักในเวลาพลบค่ำ และมีเวลาสังเกตได้ไม่นานก่อนจะตกลับขอบฟ้า นอกจากนี้ อุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งคือสภาพท้องฟ้าในเดือนพฤษภาคม เมฆมากอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้โอกาสเห็นดาวหางลดลงได้

ดาวหางแอตลาสเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2563 (จาก Martin Gembec)

ชื่อดาวหางมาจากโครงการแอตลาส (ATLAS ย่อมาจาก Asteroid Terrestrial-Impact Last Alert System) เป็นโครงการค้นหาดาวเคราะห์น้อยที่อาจพุ่งชนโลกโดยใช้กล้องโทรทรรศน์ในหอดูดาวที่ฮาวาย องค์การนาซาเป็นผู้สนับสนุนโครงการ ดูแลโดยสถาบันดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาวาย

นักดาราศาสตร์พบว่าวงโคจรของดาวหางแอตลาสใกล้เคียงกับดาวหาง C/1844 Y1 ซึ่งเป็นดาวหางสว่างดวงหนึ่ง วงโคจรที่ใกล้เคียงกันมาก และมีคาบการโคจรนานหลายพันปี แสดงว่าดาวหางแอตลาสเป็นคนละดวงกับดาวหางที่มาปรากฏเมื่อ ค.ศ. 1844-1845 คาดว่าอาจเป็นชิ้นส่วนของดาวหางดวงเดียวกัน ก่อนจะแตกออกจากกันเมื่อนานมาแล้ว

การสังเกตดาวหางแอตลาสในประเทศไทย


ปลายเดือนมีนาคม 2563 ดาวหางแอตลาสเคลี่อนออกจากกลุ่มดาวหมีใหญ่เข้าสู่กลุ่มดาวยีราฟ และจะอยู่ในกลุ่มดาวนี้ตลอดเดือนเมษายน ดาวหางย้ายเข้าสู่กลุ่มดาวเพอร์ซิอัสในกลางเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่เริ่มสังเกตได้ยากเนื่องจากเมื่อสิ้นแสงสนธยาแล้ว ดาวหางจะมีตำแหน่งอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้า

หากดาวหางไม่สว่างมากนัก เดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคมจะเป็นช่วงที่สังเกตดาวหางได้ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย โดยช่วงแรกยังสว่างน้อย จำเป็นต้องใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ ปลายเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคมคาดว่าอาจสว่างพอจะเห็นได้จาง ๆ ด้วยตาเปล่า แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องมีแผนที่ดาวสำหรับระบุตำแหน่งที่แน่นอนบนท้องฟ้าจึงจะสังเกตเห็นได้ ทั้งนี้ ความสว่างของดาวหางที่คาดหมายนี้มีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง ดาวหางอาจสว่างกว่าหรือน้อยกว่าที่คาดไว้ได้


ดาวหางแอตลาสจะใกล้โลกที่สุดในวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 ที่ระยะห่าง 0.781 หน่วยดาราศาสตร์ หรือประมาณ 117 ล้านกิโลเมตร และผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ระยะห่าง 0.253 หน่วยดาราศาสตร์ หรือประมาณ 38 ล้านกิโลเมตร ใกล้กว่าวงโคจรของดาวพุธ

แม้ว่าขณะนี้ดาวหางแอตลาสยังคงมีความสว่างเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องขอย้ำเตือนว่าอย่าตั้งความหวังไว้สูงนัก เนื่องจากนับตั้งแต่ประมาณวันที่ 19-21 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา รายงานความสว่างของดาวหางแอตลาสได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของความสว่างได้ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับก่อนหน้านั้น มีความเป็นไปได้ที่ดาวหางแอตลาสอาจไม่สว่างถึงระดับที่คาดไว้ จำเป็นต้องติดตามต่อไป