สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ฝนดาวตกสิงโต 2545

ฝนดาวตกสิงโต 2545

9 ตุลาคม 2545
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 10 กันยายน 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
เดือนพฤศจิกายนของปีนี้ เป็นที่แน่นอนว่าข่าวการเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกสิงโตจะกลายเป็นข่าวที่โด่งดังไม่น้อยข่าวหนึ่งเช่นเดียวกับปีที่แล้ว แต่สำหรับประเทศไทย เอเชียและออสเตรเลียจะมีโอกาสมองเห็นดาวตกในปริมาณที่น้อย เนื่องจากช่วงเวลาที่คาดว่าจะเกิดดาวตกถี่สูงสุดนั้นมีสองช่วง คือ เวลา 11.00 น. และ 17.40 น. ของวันที่ 19 พฤศจิกายน 2545 ซึ่งทั้งสองช่วงเป็นช่วงเวลากลางวันของไทย บริเวณที่จะมองเห็นดาวตกในปริมาณสูงมากของปีนี้ คือ ยุโรปและอเมริกา โดยคาดว่าอัตราการเกิดดาวตกสูงสุด คือ 2,000-5,000 ดวงต่อชั่วโมงในช่วงแรก และ 2,000-10,000 ดวงต่อชั่วโมงในช่วงที่สอง นอกจากนี้ยังมีแสงจันทร์รบกวนในคืนที่เกิดปรากฏการณ์ด้วย

สำหรับประเทศไทย คาดว่าฝนดาวตกสิงโตในปีนี้จะมีอัตราสูงสุดในช่วงก่อนรุ่งอรุณของวันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน (คืนวันจันทร์ที่ 18) ด้วยอัตราประมาณ 50 ดวงต่อชั่วโมงหรือน้อยกว่า เนื่องจากมีดวงจันทร์สว่างเต็มดวงปรากฏอยู่บนท้องฟ้าตลอดทั้งคืนซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งต่อการมองเห็นดาวตกที่มีความสว่างน้อย

ดาวตกจากฝนดาวตกสิงโตมีทิศทางคล้ายพุ่งออกมาจากท้องฟ้าบริเวณรูปเคียวหรือส่วนหัวของกลุ่มดาวสิงโต ซึ่งจะขึ้นจากขอบฟ้าราวเที่ยงคืนครึ่งและสูงที่สุดบนฟ้าตอนเช้ามืด การดูดาวตกควรมองไปทั่วๆ ฟ้า ไม่จำเป็นว่าจะต้องมองไปในทิศใดทิศหนึ่ง หลังจากปีนี้ไปแล้ว มีการพยากรณ์ว่าฝนดาวตกสิงโตจะมีจำนวนมากกว่าปกติอีกครั้งในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งมองเห็นได้ในยุโรป และอัตราการเกิดดาวตกสูงสุดจะต่ำ คืออยู่ในระดับร้อยกว่าดวงต่อชั่วโมงเท่านั้น

แผนภาพแสดงซีกโลกด้านที่หันเข้าหากลุ่มดาวสิงโตในช่วงเวลาที่คาดว่าจะสามารถมองเห็นฝนดาวตกสิงโตด้วยอัตราสูงสุด ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2545 ซึ่งมีอยู่สองเวลา แนวเส้นที่พาดตรงกลางของแต่ละภาพเป็นรอยต่อของซีกโลกด้านที่เป็นเวลากลางวันกับกลางคืน จากภาพนี้แสดงว่าบริเวณที่มองเห็นปรากฏการณ์ในปีนี้ได้ดีที่สุดอยู่ในยุโรป อเมริกา รวมทั้งบางส่วนของทวีปแอฟริกา