สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ฝนดาวตกสิงโต 2552

ฝนดาวตกสิงโต 2552

7 พฤศจิกายน 2552
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 15 พฤษภาคม 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ฝนดาวตกสิงโตหรือฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonids) ในปีนี้อาจกลายเป็นข่าวดังและได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากนักดาราศาสตร์คำนวณพบว่าอัตราการเกิดดาวตกในฝนดาวตกกลุ่มนี้อาจสูงกว่าระดับปกติ และคาดว่าสามารถสังเกตเห็นได้ชัดในแถบตะวันออกของยุโรปจนถึงเกือบทั้งหมดของเอเชียโดยไม่มีแสงจันทร์รบกวน

ภาพถ่ายจากหอดูดาวในสโลวาเกีย ถ่ายโดยอาศัยเลนส์ตาปลาเพื่อจับภาพดาวตกทั่วท้องฟ้า ภาพนี้ใช้เวลาเปิดหน้ากล้องนาน ชั่วโมง ดาวตกดวงสว่างที่สุดในภาพมีโชติมาตร -8 ดาวตกดวงอื่น ๆ มีโชติมาตรประมาณ -2 (ภาพ Astronomical and Geophysical Observatory) 

ฝนดาวตกเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติซึ่งทำให้มองเห็นดาวตกจำนวนหนึ่งพุ่งออกมาจากบริเวณเดียวกันบนท้องฟ้า ฝนดาวตกเกิดขึ้นทุกปีและมีอยู่หลายกลุ่ม จำนวนดาวตกมีหลายระดับ ตั้งแต่ต่ำมากเพียงไม่กี่ดวงต่อชั่วโมงจนถึงมากกว่า 100 ดวงต่อชั่วโมง ฝนดาวตกเกิดขึ้นเมื่อโลกเดินทางฝ่าเข้าไปในบริเวณที่มีสะเก็ดดาวอยู่หนาแน่นในอวกาศ สะเก็ดดาวเหล่านี้มีต้นกำเนิดจากดาวหาง เมื่อดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ น้ำแข็งที่ผิวจะระเหิดและนำพาเศษชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่เรียกว่าสะเก็ดดาว (meteoroid) หลุดออกมาและทิ้งไว้ตามทางโคจร เราเรียกแนวของสะเก็ดดาวเหล่านี้ว่าธารสะเก็ดดาว (meteoroid stream) ฝนดาวตกสิงโตเกิดจากดาวหางเทมเพล-ทัตเทิล (55P/Tempel-Tuttle) มีคาบประมาณ 33 ปี ล่าสุดได้ผ่านเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อ พ.ศ. 2541 ฝนดาวตกส่วนมากมีชื่อตามดาวหรือกลุ่มดาวที่จุดกระจายฝนดาวตก (radiant) ปรากฏอยู่ ฝนดาวตกสิงโตจึงมีจุดกระจายอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต

ในอดีตนักดาราศาสตร์ไม่สามารถพยากรณ์เวลาและอัตราการเกิดดาวตกจากฝนดาวตกได้ หรือทำได้ก็ไม่แม่นยำนัก เทคนิคการพยากรณ์ซึ่งนำมาใช้กับฝนดาวตกสิงโตตั้งแต่ปี 2542 ด้วยการสร้างแบบจำลองเพื่อพยากรณ์การเคลื่อนที่ของสะเก็ดดาวโดยคำนึงถึงแรงภายนอกที่ส่วนใหญ่คือแรงโน้มถ่วงกระทำต่อสะเก็ดดาว ทำให้การพยากรณ์ฝนดาวตกสิงโตตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาค่อนข้างใกล้เคียงกับปรากฏการณ์จริง แม้จะยังมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้

ผลจากแบบจำลอง แสดงตำแหน่งที่ธารสะเก็ดดาวตัดกับระนาบวงโคจรโลกในปี 2552 กำกับไว้ด้วยปี ค.ศ. ที่สะเก็ดดาวหลุดออกมาจากดาวหาง เส้นในแนวทแยงคือวงโคจรโลก มีเครื่องหมายระบุตำแหน่งโลกในเวลา 00:00 น. ของวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2552 ตามเวลาสากล (ภาพ J. Vaubaillon IMCCE) 

ดาวหางเทมเพล-ทัตเทิล มีธารสะเก็ดดาวอยู่หลายสาย ธารสายหลักที่โลกจะเข้าไปใกล้ในปีนี้กำเนิดขึ้นเมื่อดาวหางโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อ ค.ศ. 1466 และ 1533 โดยทั่วไปธารสะเก็ดดาวจะมีเส้นทางอยู่ใกล้วงโคจรของดาวหาง แต่เบี่ยงเบนไปเนื่องจากแรงรบกวนจากวัตถุต่าง ๆ ในระบบสุริยะ

ผลงานวิจัยโดยนักดาราศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญการพยากรณ์ฝนดาวตกจากอย่างน้อย กลุ่ม ให้ผลใกล้เคียงกันว่าฝนดาวตกสิงโตในปีนี้จะมีดาวตกถี่มากที่สุดในเวลาเกือบตี ของเช้ามืดวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน 2552 ตามเวลาประเทศไทย ด้วยอัตราประมาณ 130 200 ดวงต่อชั่วโมง (เดิมคาดหมายว่าอาจสูงถึง 500 ดวง แต่ผลการพยากรณ์ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนลดลงมาที่ 200 ดวงต่อชั่วโมง) นอกจากนั้น ตัวเลขนี้ยังใช้กับสถานที่ที่ท้องฟ้ามืดสนิท ไม่มีสิ่งใดบดบังท้องฟ้า ไม่มีแสงรบกวน และจุดกระจายดาวตกอยู่ที่จุดเหนือศีรษะ

ซีกโลกด้านที่หันเข้าหากลุ่มดาวสิงโตในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 เวลา 04:50 น. ตามเวลาประเทศไทย เส้นคั่นในแนวเฉียงแบ่งเขตกลางวัน (ขวา) กับกลางคืน (ซ้าย) พื้นที่บริเวณกลางภาพในซีกโลกด้านกลางคืนและอยู่ห่างจากเส้นแบ่งกลางวัน-กลางคืนพอสมควร จะมีโอกาสเห็นดาวตกในอัตราสูงกว่าพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างออกไป 

ฝนดาวตกสิงโตเริ่มขึ้นราววันที่ 10 พ.ย. โดยมีอัตราต่ำมาก แล้วจะค่อย ๆ สูงขึ้นจนสูงที่สุดในราววันที่ 17-19 พ.ย. หลังจากนั้นจึงลดลงและสิ้นสุดในราววันที่ 21 พ.ย. ช่วงวันที่มีดาวตกถี่มากที่สุด ประเทศไทยจะเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่คืนวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน 2552 โดยเริ่มในเวลาประมาณ 00:30 น. (เข้าสู่วันที่ 18) คาดว่าดาวตกในชั่วโมงแรกจะมีน้อยมาก อาจเห็นเพียงไม่กี่ดวงแต่มักพุ่งเป็นทางยาวบนท้องฟ้าโดยมีทิศทางมาจากซีกฟ้าตะวันออก

เมื่อเวลาผ่านไป จุดกระจายฝนดาวตกซึ่งอยู่ในกลุ่มดาวสิงโตจะเคลื่อนสูงขึ้นตามการหมุนของโลก อัตราการเกิดดาวตกก็จะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จากการคำนวณคะเนว่าช่วงเวลา 03:00 04:00 น. ควรนับได้อย่างน้อย ดวง และอาจถึง 10 ดวง ดาวตกสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วท้องฟ้า แต่เมื่อลากเส้นตามแนวของดาวตกแต่ละดวงย้อนกลับไปจะบรรจบกันที่บริเวณหัวสิงโตซึ่งมีลักษณะคล้ายเคียว มีดาวหัวใจสิงห์เป็นส่วนของด้ามเคียว

เมื่อใกล้เช้า กลุ่มดาวสิงโตจะเคลื่อนขึ้นไปอยู่สูงเหนือศีรษะ ผลการพยากรณ์ระบุว่าดาวตกอาจมีจำนวนมากที่สุดในช่วงเวลา 04:00 05:00 น. หากสังเกตในที่มืด ห่างไกลจากเมืองใหญ่ ช่วงเวลาดังกล่าวควรนับได้อย่างน้อย 60 ดวง และอาจสูงถึง 100 ดวง โดยในช่วงใกล้ตี จะมีอัตราสูงสุดราว 1-2 ดวงต่อนาที และอาจสูงกว่านี้ที่ 2-3 ดวงต่อนาที นักดาราศาสตร์คาดว่าจะมีลูกไฟ (fireball) ซึ่งเกิดจากสะเก็ดดาวขนาดใหญ่ให้เห็นได้บ้าง

หากเป็นไปตามการพยากรณ์ ช่วงเวลา 05:00 05:30 น. ควรนับดาวตกได้เป็นจำนวนราวครึ่งหนึ่งของช่วงเวลา 04:00 05:00 น. ก่อนท้องฟ้าสว่าง สำหรับในเมืองที่มีแสงไฟฟ้าและมลพิษรบกวน ดาวตกที่นับได้จะต่ำกว่านี้ประมาณ 6-7 เท่า สำหรับผู้ที่ต้องการดูฝนดาวตกครั้งนี้ เนื่องจากคาดหมายว่าดาวตกจะมีจำนวนมากที่สุดในช่วงใกล้เช้ามืด ดังนั้นหากไม่สะดวกที่จะเฝ้าสังเกตตลอดทั้งคืน แนะนำให้นอนเอาแรง แล้วตั้งนาฬิกาปลุกเพื่อตื่นมาดูตั้งแต่ตี เป็นต้นไป

แม้ว่าการพยากรณ์ฝนดาวตกอาจมีความแม่นยำเชื่อถือได้มากขึ้นตามที่ได้พิสูจน์มาแล้ว แต่เราต้องตระหนักว่าฝนดาวตกแตกต่างจากปรากฏการณ์อื่นอย่างสุริยุปราคาหรือจันทรุปราคาที่สามารถระบุเวลาได้แม่นยำถึงระดับทศนิยมของวินาที เรามองไม่เห็นสะเก็ดดาวในอวกาศ จึงไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าแท้จริงแล้วมันเคลื่อนที่และอยู่กันหนาแน่นมากน้อยเพียงใด การพยากรณ์ที่กล่าวมานี้อาศัยแบบจำลองซึ่งพอจะใช้เป็นแนวทางได้ แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะตรงกับปรากฏการณ์จริง หากตรงก็แสดงว่าวิธีการพยากรณ์ที่ทำมานั้นได้เดินมาถูกทางแล้ว หากไม่ตรงก็เป็นข้อมูลสำคัญที่สามารถนำไปใช้ปรับปรุงการพยากรณ์ในอนาคต ดังนั้นไม่ว่าดาวตกจะมีจำนวนมากหรือน้อย การสังเกตดาวตกก็เป็นประโยชน์สำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลทางดาราศาสตร์เสมอ

เว็บไซต์อื่น

Prediction of the 2009 Leonids IMCCE Meteor Shower Ephemerides Server
Leonid Multi-Instrument Aircraft Campaign NASA