สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ฝนดาวตกสิงโต 2546

ฝนดาวตกสิงโต 2546

9 พฤศจิกายน 2546
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 25 สิงหาคม 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ดังที่รายงานไว้ใน “ทางช้างเผือก” ฉบับมกราคม 2546 ว่าฝนดาวตกสิงโตในปีนี้จะมีแสงจันทร์รบกวน แต่ก็ถือเป็นครั้งที่น่าสนใจเนื่องจากผลงานวิจัยโดยเอสโค ลือทิเนนและทอม แวน ฟลานเดิร์น (Esko Lyytinen Tom van Flandern) ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทางดาราศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2543 รวมทั้งผลงานวิจัยโดยเจอเรมี วอไบลอน (Jeremie Vaubaillon) นักดาราศาสตร์ในฝรั่งเศสเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ผลการพยากรณ์ใกล้เคียงกันว่า ปีนี้โลกจะผ่านใกล้เส้นทางของธารสะเก็ดดาวที่เกิดจากดาวหางเทมเพล-ทัตเทิล ที่ทิ้งไว้ในปี ค.ศ. 1499 แต่ผ่านเฉียดด้านนอกของธารเท่านั้น ทำให้มีโอกาสเห็นดาวตกน้อยมากเมื่อเทียบกับที่เราได้เห็นในปี พ.ศ. 2544 โดยคาดว่าจะมีอัตราสูงสุดเพียง 120-250 ดวงต่อชั่วโมงสำหรับผู้ที่อยู่ในบริเวณที่เห็นจุดกระจายฝนดาวตกอยู่สูงกลางฟ้าในเวลาประมาณ 13-19 น. ของวันที่ 13 พฤศจิกายน ตามเวลาสากล ซึ่งน่าจะเป็นบริเวณเอเชียตะวันออกอย่างญี่ปุ่น และมหาสมุทรแปซิฟิก จากนั้นโลกจะผ่านใกล้ธารสะเก็ดดาวของปี ค.ศ. 1533 ในวันที่ 19 พฤศจิกายน เวลา 7.28 น. ตามเวลาสากล ซึ่งเป็นเวลากลางวันในประเทศไทย คาดว่าอาจมีจำนวนสูงสุดราว 100 ดวงต่อชั่วโมง มองเห็นได้ดีในอเมริกาและยุโรป

หากผลการคำนวณข้างต้นมีความแม่นยำใกล้เคียงความเป็นจริง ก็เป็นไปได้ที่หลังเที่ยงคืนของวันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน (คืนวันที่ 13 ต่อวันที่ 14) เราอาจมีโอกาสมองเห็นดาวตกจากฝนดาวตกสิงโตที่สว่างและเคลื่อนที่เป็นทางยาวได้บ้าง แม้ว่าจะมีจำนวนไม่มากนัก ซึ่งคาดว่าอาจอยู่ในช่วง 5-30 ดวง ในเวลาระหว่าง 00.30-01.30 น. (สาเหตุที่คาดว่าอัตราที่เราอาจเห็นได้จะต่ำระดับนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่จุดกระจายดาวตกหรือเรเดียนต์อยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้ามาก อัตราที่เห็นดาวตกจึงต่ำตามไปด้วย) ส่วนเวลาหลังจากนั้นจะมีโอกาสมองเห็นดาวตกได้บ้างในอัตราปกติที่ประมาณ 10-15 ดวงต่อชั่วโมง และคาดว่าดาวตกในคืนนั้นอาจมีความสว่างกว่าปกติ หรืออาจสว่างพอ ๆ ดาวตกที่เรียกว่าลูกไฟ อย่างไรก็ดี ต้องขอย้ำเตือนว่าทั้งหมดนี้เป็นการพยากรณ์โดยอาศัยแบบจำลองเท่านั้น และที่ผ่านมาแม้นักดาราศาสตร์สามารถพยากรณ์เวลาการเกิดได้แม่นยำพอสมควรก็จริง แต่ยังมีความผิดพลาดในด้านของการพยากรณ์อัตราสูงสุดของดาวตกอยู่ และที่สำคัญ คือ แสงจันทร์ที่ส่องสว่างมากก็รบกวนการดูดาวตกไม่น้อย ดังนั้นท่านสมาชิกอย่าได้คาดหวังมากจนเกินไป หากพบว่ามีดาวตกเกิดขึ้นจริงในคืนดังกล่าว ก็ถือว่าเป็นการช่วยพิสูจน์และยืนยันผลการคำนวณจากแบบจำลอง

ส่วนช่วงวันที่ 17-19 พฤศจิกายน สำหรับประเทศไทย คาดว่าน่าจะมีโอกาสมองเห็นดาวตกด้วยอัตราปกติ คือ ไม่เกิน 15 ดวงต่อชั่วโมง โดยบริเวณที่อาจมีโอกาสเห็นมากกว่าปกติในวันที่ 19 คือ อเมริกาและยุโรป


ภาพจำลองซีกโลกด้านที่หันเข้าหากลุ่มดาวสิงโตในช่วงเวลาที่คาดว่าจะสามารถมองเห็นฝนดาวตกสิงโตด้วยอัตราสูงสุด ในคืนวันที่ 13 พฤศจิกายน 2546 จากภาพนี้แสดงว่าบริเวณที่มองเห็นปรากฏการณ์ในปีนี้ได้ดีที่สุดอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนประเทศในเอเชียรวมทั้งประเทศไทยจะหมุนเข้าหากลุ่มดาวสิงโตในเวลาตั้งแต่ 00.30 น. เป็นต้นไป ซึ่งเป็นเวลาที่เริ่มเห็นดาวตกที่เกิดจากฝนดาวตกกลุ่มนี้