สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ฝนดาวตกสิงโต 2550

ฝนดาวตกสิงโต 2550

16 พฤศจิกายน 2550
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 22 พฤษภาคม 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
นักดาราศาสตร์พยากรณ์การเกิดฝนดาวตกสิงโตโดยอาศัยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์พบว่าฝนดาวตกสิงโตในปี 2550 อาจมีจำนวนมากกว่าปกติเล็กน้อยในคืนวันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน ถึงเช้ามืดวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 แต่ไม่มากอย่างที่เคยเกิดเมื่อปี 2544

ฝนดาวตกสิงโตเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยมีจำนวนสูงสุดในช่วงวันที่ 17-18 พฤศจิกายน ในอัตรา 10-15 ดวงต่อชั่วโมง สำหรับปี 2550 หากไม่มีเมฆฝนเป็นอุปสรรคจะสามารถสังเกตฝนดาวตกกลุ่มนี้ได้ดีเนื่องจากไม่มีแสงจันทร์รบกวน จากผลงานวิจัยโดยเจอเรมี วอเบลลอน (Jeremie Vaubaillon) และเอสโค ลือทิเนน (Esko Lyytinen) ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ระบุว่าปีนี้โลกจะผ่านใกล้เส้นทางของธารสะเก็ดดาวที่ดาวหางเทมเพล-ทัตเทิลทิ้งไว้เมื่อปี ค.ศ. 1932 ทำให้มีโอกาสเห็นดาวตกจากฝนดาวตกสิงโตในจำนวนมากกว่าปกติเล็กน้อย ด้วยอัตราสูงสุดประมาณ 30 ดวงต่อชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเชีย โดยคาดว่าจะมีดาวตกถี่ที่สุดในช่วงเวลาประมาณ 5.36 หรือ 6.03 น. ของวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งผลการคำนวณเวลานี้ใกล้เคียงกับของโรเบิร์ต แมกนอต (Robert McNaught) และเดวิด แอชเชอร์ (David Asher) ที่คำนวณได้เวลา 5.40 น.

สำหรับประเทศไทย มีโอกาสเห็นดาวตกจากฝนดาวตกสิงโตได้สองช่วง คืนวันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายนถึงเช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน ผู้ที่สังเกตการณ์จากสถานที่ที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน อาจเห็นดาวตกได้ในอัตราไม่เกิน 10-15 ดวงต่อชั่วโมงซึ่งเป็นระดับปกติ ส่วนคืนวันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายนถึงเช้ามืดวันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน อาจมีโอกาสเห็นดาวตกจากฝนดาวตกสิงโตด้วยอัตราสูงสุดประมาณ 30 ดวงต่อชั่วโมง (คนในเมืองที่มีแสงไฟและฝุ่นควันรบกวนจะเห็นได้น้อยกว่านี้มาก) และเป็นไปได้ว่าช่วงที่สองนี้ดาวตกบางส่วนจะสว่างกว่าปกติ

ฝนดาวตกสิงโตเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนครึ่งเมื่อกลุ่มดาวสิงโตขึ้นเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออก จากนั้นจะดำเนินต่อไปถึงเวลาเช้ามืด อัตราการเห็นดาวตกจะไม่คงที่และคาดได้ว่าจะมีจำนวนน้อยมากในชั่วโมงแรก ๆ แล้วจึงเพิ่มขึ้นตามมุมเงยของจุดกระจายฝนดาวตกซึ่งอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต เวลาเช้ามืดก่อนฟ้าสางน่าจะเป็นเวลาที่เห็นดาวตกได้ในอัตราสูงที่สุด

ที่มา

Leonid meteor storms: NASA's Leonid Multi-Instrument Aircraft
Campaign Homepage The Leonid Meteors 2007