สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ฝนดาวตกนายพราน 2546

ฝนดาวตกนายพราน 2546

18 กันยายน 2546
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 25 สิงหาคม 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ในอดีตที่ผ่านมา ดาวหางฮัลเลย์ได้ทิ้งสะเก็ดดาว (meteoroid) จำนวนมหาศาลไว้ตามทางโคจรซึ่งมีเส้นทางผ่านใกล้โลก เมื่อโลกโคจรฝ่าเข้าไปในกลุ่มของสะเก็ดดาวเหล่านี้ในช่วงวันที่ ตุลาคม ถึง พฤศจิกายนของทุกปี ผู้สังเกตบนโลกจึงมีโอกาสเห็นดาวตกพุ่งออกมาจากบริเวณรอยต่อระหว่างกลุ่มดาวนายพรานและกลุ่มดาวคนคู่ โดยมีอัตราการเกิดสูงสุดเฉลี่ย 20 ดวงต่อชั่วโมงในคืนวันที่ 20 และ 21 ตุลาคม โดยเฉพาะในคืนวันที่ 21 ต่อเช้ามืดวันที่ 22 ซึ่งคาดว่าน่าจะมีอัตราการเกิดดาวตกสูงที่สุด อีกทั้งยังเป็นช่วงวันที่ดวงจันทร์สว่างเป็นเสี้ยวข้างแรม จึงไม่มีแสงจันทร์รบกวน และแม้ว่าดวงจันทร์จะขึ้นเหนือขอบฟ้าในเวลาประมาณ 3.00 น. ของเช้ามืดวันที่ 22 ตุลาคม ก็คงไม่เป็นอุปสรรคมากนัก

จุดกระจายหรือเรเดียนต์ของฝนดาวตกนายพรานขึ้นเหนือขอบฟ้าในเวลาประมาณ 22.00 น. จึงมีช่วงเวลาสังเกตตั้งแต่ 22.00 น. ถึงเช้ามืดของวันใหม่ การสังเกตดาวตกไม่ควรมองไปที่จุดกระจายฝนดาวตก แต่ควรมองห่างออกมาเป็นระยะเชิงมุมประมาณ 90 องศา หรือมองไปทั่ว ๆ ฟ้า ดาวตกจากกลุ่มดาวนายพรานนี้มีอัตราเร็วราว 66 กม.ต่อวินาที และมีลักษณะพิเศษคือ ประมาณร้อยละ 20 ของดาวตกที่เกิดจากฝนดาวตกกลุ่มนี้ปรากฏร่องรอยของหมอกควันตามหลังดาวตก

ยานจอตโตขององค์การอวกาศยุโรปหรืออีซาได้เดินทางเข้าไปใกล้ภายในระยะ 600 กิโลเมตรจากใจกลางของดาวหางฮัลเลย์เมื่อเดือนมีนาคม 2529 ภาพนี้ถ่ายจากระยะห่าง 4,000 กิโลเมตร ก๊าซและฝุ่นที่พุ่งออกมาจากพื้นผิวทำให้ชิ้นส่วนของดาวหางกระเด็นหลุดออกมาทิ้งไว้ตามทางโคจร (ภาพ ESA) 

ดาวหางฮัลเลย์

เอดมันด์ แฮลลีย์ เป็นคนแรกที่พบว่าดาวหางฮัลเลย์โคจรกลับมาให้เห็นบนท้องฟ้าทุก ๆ 75-76 ปี (นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงเรียกดาวหางดวงนี้ตามชื่อสกุลของเขา) หลังจากที่เขาคำนวณวงโคจรของดาวหาง 24 ดวงที่มาปรากฏระหว่างปี ค.ศ. 1337-1698 และพบว่าในจำนวนนี้มีดาวหางกลุ่มหนึ่งมีวงโคจรใกล้เคียงกันมาก และพยากรณ์ว่าดาวหางดวงนี้จะกลับมาในปี ค.ศ. 1758 แต่หลังจากนั้นแฮลลีย์ได้เสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1742 ก่อนที่ดาวหางดวงนี้จะกลับมาตามที่เขาคาดการณ์ไว้ ซึ่งนับเป็นดาวหางดวงแรกที่เราพบว่าดาวหางก็โคจรรอบดวงอาทิตย์อย่างเป็นคาบเช่นเดียวกับดาวเคราะห์

เมื่อนักดาราศาสตร์ทราบวงโคจรที่แม่นยำขึ้นและตรวจสอบจากบันทึกเก่า ๆ ในอดีตจึงพบว่าชาวจีนได้บันทึกการปรากฏของดาวหางฮัลเลย์ไว้เมื่อปี 240 ก่อนคริสต์ศักราช นับว่าชาวโลกได้ยลโฉมดาวหางฮัลเลย์มานานกว่า สหัสวรรษแล้ว และในปี ค.ศ. 837 ก็ได้ชื่อว่าเป็นปีที่ดาวหางฮัลเลย์ผ่านใกล้โลกมากที่สุดด้วยระยะห่างเพียง 5.1 ล้านกิโลเมตร (ประมาณ 13 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์) ในปีนั้นดาวหางฮัลเลย์สว่างไสวและมีหางทอดยาวออกไปถึง 60 องศา ซึ่งพบบันทึกเรื่องราวการมองเห็นดาวหางฮัลเลย์ทั้งในบันทึกของชาวจีน ญี่ปุ่น เยอรมัน และอาหรับ

แม้วงโคจรของดาวหางฮัลเลย์ไม่ได้ตัดกับวงโคจรของโลกโดยตรง (ปัจจุบันอยู่ห่างประมาณ 0.15 หน่วยดาราศาสตร์ หรือ 22 ล้านกิโลเมตร) แต่การที่เราสามารถมองเห็นดาวตกซึ่งเป็นอนุภาคที่มีต้นกำเนิดจากดาวหางฮัลเลย์ได้ แสดงว่าธารสะเก็ดดาวที่เกิดจากดาวหางดวงนี้ได้ถูกแรงโน้มถ่วงรบกวนจากดาวเคราะห์จนทำให้มีเส้นทางตัดผ่านวงโคจรของโลก นอกจากฝนดาวตกนายพรานแล้ว ธารสะเก็ดดาวของดาวหางฮัลเลย์ยังมีวงโคจรผ่านใกล้โลกทำให้เกิดฝนดาวตกอีตาคนแบกหม้อน้ำในเดือนพฤษภาคมของทุกปีด้วย