สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ฝนดาวตกนายพราน 2552

ฝนดาวตกนายพราน 2552

21 ตุลาคม 2552
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 15 พฤษภาคม 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ฝนดาวตกเกิดขึ้นทุกปี แต่ละปีมีหลายกลุ่ม เดือนนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงคืนวันที่ 20-22 ตุลาคม ก็มีฝนดาวตกเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน มีชื่อเรียกว่าฝนดาวตกนายพราน (Orionids) เนื่องจากจุดกระจายฝนดาวตกอยู่ในกลุ่มดาวนายพราน

ดาวหางแฮลลีย์หรือที่คนทั่วไปคุ้นหูในชื่อดาวหางฮัลเลย์ คือต้นกำเนิดของฝนดาวตกนายพราน ดาวหางดวงนี้โคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์เฉลี่ยทุก ๆ 76 ปี ครั้งล่าสุดเข้ามาเมื่อ พ.ศ. 2528-2529 เมื่อใกล้ดวงอาทิตย์น้ำแข็งที่ผิวดาวหางจะระเหิด นำพาเศษชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่เรียกว่าสะเก็ดดาว (meteoroid) หลุดออกมาแล้วทิ้งไว้ตามทางโคจร ฝนดาวตกเกิดขึ้นเมื่อโลกฝ่าเข้าไปในทางโคจรของสะเก็ดดาวเหล่านี้

ยานจอตโตขององค์การอวกาศยุโรปหรืออีซาได้เดินทางเข้าไปใกล้ภายในระยะ 600 กิโลเมตรจากใจกลางของดาวหางแฮลลีย์เมื่อเดือนมีนาคม 2529 ภาพนี้ถ่ายจากระยะห่าง 4,000 กิโลเมตร ก๊าซและฝุ่นที่พุ่งออกมาจากพื้นผิวทำให้ชิ้นส่วนของดาวหางกระเด็นหลุดออกมาทิ้งไว้ตามทางโคจร (ภาพ ESA) 

กลุ่มดาวนายพรานขึ้นเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกตั้งแต่เวลาประมาณ 22.30 น. ฝนดาวตกนายพรานจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลานั้น แต่ยังมีดาวตกน้อยมาก หลังจากนั้น ดาวตกจึงจะค่อย ๆ เพิ่มความถี่มากขึ้น การสังเกตฝนดาวตกนายพรานจะทำได้ดีที่สุดในช่วงใกล้เช้ามืดซึ่งเป็นเวลาที่กลุ่มดาวนายพรานเคลื่อนขึ้นไปอยู่สูงเหนือศีรษะ

โดยปกติอัตราการเกิดดาวตกสูงสุดของฝนดาวตกกลุ่มนี้อยู่ที่ประมาณ 25-30 ดวงต่อชั่วโมง สำหรับปีนี้คาดว่าประเทศไทยน่าจะเห็นได้มากที่สุดในเวลาประมาณ 04.00 05.00 น. ของเช้ามืดวันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม 2552 ด้วยจำนวนราว 25 ดวง ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขคาดหมายสำหรับการสังเกตการณ์ในสถานที่ห่างไกลจากตัวเมืองและท้องฟ้าเปิด ใจกลางเมืองใหญ่ซึ่งมีแสงไฟและมลพิษแทบไม่มีโอกาสเห็น อาจเห็นเพียง 1-2 ดวงต่อชั่วโมงเท่านั้น

นักดาราศาสตร์คาดว่าฝนดาวตกนายพรานในปีนี้อาจมีจำนวนมากกว่าปกติเล็กน้อยและมีดาวตกสว่างที่เรียกว่าลูกไฟในอัตราส่วนที่สูงกว่าปกติ อย่างที่เกิดขึ้นตลอด ปีที่ผ่านมา

การสังเกตดาวตกต้องอาศัยความอดทน ท่าทางที่สังเกตดาวตกได้ดีที่สุดโดยไม่เมื่อยหรือปวดต้นคอคือนอนราบกับพื้นหรือบนเก้าอี้ผ้าใบ สามารถมองกวาดไปได้ทั่วฟ้าโดยเน้นไปยังบริเวณซึ่งเห็นว่ามืดที่สุดซึ่งมักจะอยู่สูงกลางฟ้า ทิศทางของดาวตกบอกเราได้ว่ามันเป็นสมาชิกของฝนดาวตกนายพรานหรือไม่

หากการสังเกตฝนดาวตกนายพรานพบอุปสรรคจากเมฆฝน เดือนพฤศจิกายนจะมีฝนดาวตกสิงโตซึ่งปีนี้นักดาราศาสตร์คาดว่าอาจมีจำนวนสูงสุดราว 2-3 ดวงต่อนาทีสำหรับผู้สังเกตในประเทศไทยในเวลาใกล้ตี ของวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน