สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเคราะห์น้อยเฉียดโลกอีกแล้ว

ดาวเคราะห์น้อยเฉียดโลกอีกแล้ว

29 มี.ค. 2547
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งเฉียดโลกไป เป็นดาวเคราะห์น้อยที่เฉียดโลกใกล้ที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา

ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีชื่อว่า 2004 FH ค้นพบโดยโครงการวิจัยดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกหรือลีเนียร์ (LINEAR--Lincorn Near-Earth Asteroid Research) ของเอ็มไอทีเมื่อวันที่ 16 มีนาคม โดยใช้กล้องค้นหาอัตโนมัติในนิวเม็กซิโก หลังจากการพบครั้งแรกแล้ว กล้องโทรทรรศน์จากสาธารณรัฐเชค เยอรมนี และสโลเวเนีย ได้ร่วมติดตามวัตถุดวงนี้เพื่อหาตำแหน่งและเส้นทางโคจรที่แน่นอน จนทราบว่าดาวเคราะห์น้อย 2004 FH มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 30 เมตร และจะเฉียดเข้าใกล้โลกที่ระยะห่างใกล้สุด 42,500 กิโลเมตรจากพื้นโลก หรือประมาณหนึ่งในเก้าของระยะห่างของดวงจันทร์ หรือสูงกว่าระดับที่ดาวเทียมสื่อสารโคจรออกไปไม่กี่พันกิโลเมตร ซึ่งศูนย์ดาวเคราะห์น้อยในเคมบริดจ์ได้แจ้งข่าวไปยังสมาชิกก่อนการเฉียดโลกหนึ่งวัน

เวลาที่ 2004 FH เข้าใกล้โลกที่สุดตรงกับเวลาตีห้าของวันที่ 19 ตามเวลาในประเทศไทย ขณะนั้นจะมีอันดับความสว่าง 10 และเคลื่อนที่เร็วมากผ่านกลุ่มดาวเครื่องสูบลม 

เนื่องจาก 2004 FH เข้าใกล้โลกมาก ตำแหน่งของวัตถุบนท้องฟ้าจะต่างกันไปตามที่อยู่ของผู้สังเกตการณ์ ดังนั้นนักดูดาวที่ต้องการหาวัตถุเช่นนี้จะใช้ตารางแสดงตำแหน่งหรือที่เรียกว่าอิเฟเมอริสมาตรฐานทั่วไปไม่ได้ จะต้องใช้บริการออนไลน์ของศูนย์ดาวเคราะห์น้อยที่ [http://cfa-www.harvard.edu/iau/MPEph/MPEph.html] ซึ่งจะคำนวณตำแหน่งของดาวเคราะห์น้อยให้ตามที่อยู่ของผู้สังเกตการณ์ 

2004 FH โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบ เดือน มีระนาบโคจรเกือบทับระนาบโคจรของโลก มีช่วงที่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดจะอยู่ใกล้กว่าดาวศุกร์ ช่วงที่ไกลดวงอาทิตย์ที่สุดจะล้ำวงโคจรโลกออกมาเล็กน้อย จัดเป็นดาวเคราะห์น้อยในกลุ่มเอเทน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีวงโคจรตัดกับวงโคจรโลก จึงอยู่ในกลุ่มที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ

ดาวเคราะห์น้อย 2004 FH (ขีดกลางภาพ) ถ่ายเมื่อเมื่อเช้าวันที่ 18 มีนาคม 2547 ขีดอีกสองขีดคือดาวเทียม

ดาวเคราะห์น้อย 2004 FH (ขีดกลางภาพ) ถ่ายเมื่อเมื่อเช้าวันที่ 18 มีนาคม 2547 ขีดอีกสองขีดคือดาวเทียม

ที่มา: