ดาวเคราะห์น้อย 2024 วายอาร์ 4 ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2567 ในเวลาต่อมาก็กลายมาเป็นวัตถุที่อยู่ในความสนใจของคนทั้งโลกเมื่อนักดาราศาสตร์พบว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีโอกาสที่จะชนโลกในปี 2575
กระแสความวิตกนั้นอยู่ไม่นานนักในเวลาต่อมา เมื่อมีการสำรวจเพิ่มขึ้น ทำให้ข้อมูลด้านวงโคจรละเอียดขึ้น การประเมินความเสี่ยงใหม่พบว่าโอกาสที่จะชนโลกในปี 2575 ลดลงเป็นศูนย์ นั่นคือไม่ชนโลกอย่างแน่นอน ความกังวลใจของผู้คนก็ลดลงไป ชื่อของดาวเคราะห์น้อยอันตรายดวงนี้ก็เริ่มถูกลืมเลือนไป
แต่นักดาราศาสตร์ไม่ลืมอะไรง่ายๆ เมื่อมีการค้นพบดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรใกล้วงโคจรโลกจนเป็นอันตราย นักดาราศาสตร์จะต้องศึกษาทำความรู้จักให้มาก ทั้งด้านวงโคจรและลักษณะทางกายภาพ เช่นขนาด และโครงสร้างภายใน
ไบรซ์โบลิน จากยูเรกาไซเอนทิฟิกและคณะได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ดับเบิลยู.เอ็ม. เคก และกล้องเจมิไนใต้ศึกษาดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อย่างละเอียด จนได้ข้อมูลว่า 2024 วายอาร์ 4 หมุนรอบตัวเองครบรอบทุก 20 นาทีในทิศทางสวนทางกับการโคจรรอบดวงอาทิตย์ มีขนาด 30-65 เมตร มีรูปร่างค่อนข้างแบน และมีความหนาแน่นสูงจนน่าเชื่อว่าเป็นหินตัน
"รูปร่างของดาวเคราะห์น้อยอาจเป็นสิ่งที่แสดงว่ามีต้นกำเนิดเป็นอย่างไรและมีโครงสร้างแน่นหนาเพียงใด ข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์อย่างมากในการวางแผนยุทธวิธีเพื่อการเบี่ยงทิศทางดาวเคราะห์น้อยหากพบว่ามีทิศทางจะชนโลก " โบลินอธิบาย การที่พบว่าวายอาร์ 4 แบนแบบลูกสะบ้าทำให้นักดาราศาสตร์ประหลาดใจไม่น้อย เพราะดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่มีรูปร่างบิดเบี้ยวแบบมันฝรั่ง หรือบางดวงก็มีทรงคล้ายลูกข่าง ดาวเคราะห์น้อยทรงลูกสะบ้ามีไม่มากนัก
ดาวเคราะห์น้อยมีหลายประเภทดาวเคราะห์น้อยที่มีมากที่สุดคือดาวเคราะห์น้อยคาร์บอน ซึ่งประกอบด้วยแร่หลายชนิดปะปนกัน บางดวงมีโครงสร้างแบบ "กองหิน" ซึ่งมีลักษณะเป็นวัตถุแข็งก้อนเล็กหลายก้อนเกาะกันอย่างหลวม ๆ ดาวเคราะห์น้อยหลายดวงมีโครงสร้างแบบนี้ เช่น เบนนู ริวงุ ไดมอร์ฟัส
อีกชนิดหนึ่งเรียกว่าดาวเคราะห์น้อยชนิดเอสดาวเคราะห์น้อยขนิดนี้มีความหนาแน่นมากกว่าแบบคาร์บอน มีเนื้อเป็นซิลิเกตตัน ซึ่งนักดาราศารสตร์เชื่อว่าดาวเคราะห์น้อย 2024 วายอาร์ 4 เป็นดาวเคราะห์น้อยชนิดนี้
เรื่องชวนพิศวงของดาวเคราะห์น้อยวายอาร์4 อีกเรื่องหนึ่งก็คือ จากการวิเคราะห์วงโคจร นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่าดาวเคราะห์น้อย 2024 วายอาร์ 4 มีแหล่งกำเนิดอยู่ใจกลางแถบดาวเคราะห์น้อยหลัก ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี มีดาวเคราะห์น้อยจำนวนมากโคจรอยู่ในบริเวณนี้ ปกติดาวเคราะห์ในแถบนี้ไม่เป็นอันตรายต่อโลกเพราะอยู่ห่างจากวงโคจรโลกมาก แต่ต่อมาอันตรกิริยาทางความโน้มถ่วงจากดาวพฤหัสบดีก็อาจทำให้วายอาร์ 4 หลุดออกจากแถบดาวเคราะห์น้อยหลักและมีวงโคจรเปลี่ยนมาเป็นดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกไป
"เราไม่คิดว่าจะมีดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกที่มีต้นกำเนิดแบบนี้มากนักการค้นพบนี้จึงทำให้เราประหลาดใจนิดหน่อย " โบลินกล่าว
แม้ภัยคุกคามระยะใกล้ของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะหมดไปแล้วแต่นักดาราศาสตร์พบว่า ยังมีโอกาสที่ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะชนดวงจันทร์ในปี 2575 อยู่แม้จะมีโอกาสไม่มากนักก็ตาม ในเรื่องนี้ โบลินดูจะอยากให้ชนจริง ๆ เพราะนอกจากจะไม่เป็นอันตรายต่อโลกแล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่นักวิทยาศาสตร์จะทราบว่าวัตถุขนาดนี้จะสร้างหลุมการพุ่งชนบนดวงจันทร์ได้ใหญ่เพียงใด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน ซึ่งหากชนจริงก็จะเป็นครั้งแรกที่มีหลักฐานทางตรงของความสัมพันธ์ดังกล่าว
กระแสความวิตกนั้นอยู่ไม่นานนัก
ภาพจำลองรูปร่างลักษณะของดาวเคราะห์น้อย 2024 วายอาร์ 4 จากการข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ (จาก W. M. Keck Observatory/Adam Makarenko)
แต่นักดาราศาสตร์ไม่ลืมอะไรง่าย
ไบรซ์
แบบจำลองสามมิติของดาวเคราะห์น้อย 2024 วายอาร์ 4 ที่สร้างขึ้นจากการวัดความสว่างที่เปลี่ยนแปลงของดาวเคราะห์น้อย โดยใช้ข้อมูลจากศูนย์ดาวเคราะห์น้อย กล้องวีแอลที และกล้องเจมิไนใต้ (จาก Bolin et al., arXiv, 2024)
"รูปร่างของดาวเคราะห์น้อยอาจเป็นสิ่งที่แสดงว่ามีต้นกำเนิดเป็นอย่างไร
ดาวเคราะห์น้อยมีหลายประเภท
อีกชนิดหนึ่งเรียกว่าดาวเคราะห์น้อยชนิดเอส
เรื่องชวนพิศวงของดาวเคราะห์น้อยวายอาร์
"เราไม่คิดว่าจะมีดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกที่มีต้นกำเนิดแบบนี้มากนัก
แม้ภัยคุกคามระยะใกล้ของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะหมดไปแล้ว