สมาคมดาราศาสตร์ไทย

โอกาสชนโลกของดาวเคราะห์น้อย 2024 วายอาร์ 4 เพิ่มขึ้นเท่าตัว

โอกาสชนโลกของดาวเคราะห์น้อย 2024 วายอาร์ 4 เพิ่มขึ้นเท่าตัว

11 ก.พ. 2568
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการเปิดเผยการค้นพบดาวเคราะห์น้อยอันตรายดวงใหม่ที่ต้องจับตามอง ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ชื่อ 2024 วายอาร์ (2024 YR4) ซึ่งค้นพบเมื่อปลายปีที่แล้ว ความน่าสนใจคือวิถีการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะมาเฉียดใกล้โลกในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2575 และมีโอกาสที่จะชนโลกประมาณ 1.2 เปอร์เซ็นต์ ประกอบกับขนาดของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ที่ประเมินว่ามีเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ในช่วง 40-100 เมตร ทำให้ 2024 วายอาร์ ขึ้นทำเนียบของดาวเคราะห์น้อยอันตรายหมายเลขหนึ่งทันที ด้วยความเสี่ยงระดับ ตามมาตราโตริโน


ถัดมาอีกเพียงหนึ่งสัปดาห์ ก็มีความคืบหน้าเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ขึ้นมาอีก เมื่อมีการประเมินความเสี่ยงใหม่ พบว่ามีอัตราความเสี่ยงขยับขึ้นมาอีกเป็น 2.3 เปอร์เซ็นต์ หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเลยทีเดียว!

หลายคนอาจรู้สึกว่านี่มันช่างเหมือนพล็อตของหนังโลกแตกเสียจริง ๆ อาจคิดว่าวันสิ้นโลกคงมาถึงแล้ว พาลแขนขาอ่อนแรง หมดกำลังจะทำงาน อย่าเพิ่งแตกตื่นไป อย่าเพิ่งไปถอนเงินมาหมดธนาคาร อย่าเพิ่งรีบลาออกจากงาน อย่าเพิ่งรีบเก็บของใส่กระเป๋าหนี ตั้งสติแล้วอ่านต่อ

ดาวเคราะห์น้อยขณะชนโลกและระเบิดเหนือน่านฟ้าของเมืองเชลเลียบินสก์ ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 (จาก The Planetary Society/YouTube.)

คำว่าโอกาสชนโลก 2.3 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่า หากสุ่มคำนวณการเคลื่อนที่โดยให้มีตัวแปรอยู่ในช่วงความคลาดเคลื่อนเป็นจำนวน 1,000 ครั้ง จะมี 23 ครั้งที่ชนโลก เป็นความเสี่ยงที่คำนวณขึ้นจากตัวแปรต่าง ๆ เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน 

เมื่อนักดาราศาสตร์ค้นพบวัตถุแปลกปลอมบนท้องฟ้า ก็จะติดตามและบันทึกตำแหน่งให้ชัดเจน เมื่อนำมาใช้ในการคำนวณหาวงโคจร ยิ่งมีข้อมูลด้านตำแหน่งมาก ความแม่นยำของวงโคจรยิ่งสูง หากข้อมูลด้านตำแหน่งมีน้อย การคำนวณวงโคจรก็มีความแม่นยำต่ำ สำหรับดาวเคราะห์น้อย 2024 วายอาร์ นักดาราศาสตร์เพิ่งเก็บข้อมูลของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มาเพียงเดือนเศษ ๆ ประกอบเป็นช่วงที่ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้กำลังถอยห่างออกจากโลกไป การวัดค่าต่าง ๆ จึงยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่มาก 

การคำนวณเส้นทางโคจรของดาวเคราะห์น้อย 2024 วายอาร์ แสดงว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะเฉียดโลกไปด้วยระยะ 240,000 กิโลเมตร หรือประมาณสองในสามของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ถือเป็นระยะที่ปลอดภัย แต่เมื่อพิจารณาช่วงความคลาดเคลื่อนที่ยังกว้างมากอันเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนที่ยังสูงอยู่ จะพบว่าโลกยังอยู่ในรัศมีที่มีโอกาสพุ่งชนอยู่

แผนภาพเส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งเฉียดโลก โดยพิจารณาถึงความคลาดเคลื่อนในการวัดตำแหน่ง เหตุการณ์เกิดขึ้นตามลำดับ A, และ  เส้นตรงสีส้มปลายลูกศรแสดงเส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยตามการคำนวณซึ่งพุ่งเฉียดโลก (วงกลมสีฟ้า) ไป เส้นประสีดำแสดงช่วงความคลาดเคลื่อน  วงกลมพื้นที่สีชมพูขอบเส้นประทางขวาแสดงพื้นที่ตัดขวางของเส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยที่ระยะของโลก พื้นที่วงกลมยิ่งกว้างแสดงถึงช่วงความคลาดเคลื่อนที่มาก
ในช่วงแรก (ภาพ A) ระยะของดาวเคราะห์น้อยยังอยู่ไกล ช่วงความคลาดเคลื่อนยังกว้างและครอบคลุมโลก จึงมีโอกาสเล็ก ๆ ที่โลกจะถูกชนได้ ดังภาพทางขวา รัศมีของพื้นที่วงกลมสีชมพูยังคลุมโลกอยู่ 

เวลาต่อมา (ภาพ B) เมื่อข้อมูลด้านตำแหน่งของดาวเคราะห์น้อยมีมากขึ้น การคำนวณวงโคจรจึงมีความแม่นยำมากขึ้น ช่วงความคลาดเคลื่อนลดลง พื้นที่วงกลมสีชมพูก็เล็กลง แต่ยังคลุมโลกอยู่ การที่พื้นที่หน้าตัดของโลกยังเท่าเดิมแต่อยู่ในรัศมีความคลาดเคลื่อนที่ลดลง ทำให้โอกาสถูกชนขยับเพิ่มสูงขึ้น

เวลาต่อมา (ภาพ C) เมื่อข้อมูลด้านตำแหน่งของดาวเคราะห์น้อยมีมากขึ้นถึงระดับหนึ่ง รัศมีของความคลาดเคลื่อนเล็กลงไปอีกจนกระทั่งโลกอยู่นอกพื้นที่ไป แสดงว่าโอกาสที่โลกจะถูกพุ่งชนลดลงเหลือ 


ด้วยเหตุนี้ การที่โอกาสถูกพุ่งชนขยับสูงขึ้นถึงเท่าตัวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในความคาดหมายอยู่แล้ว นั่นจึงเป็นเหตุผลที่มาตรความเสี่ยงตามมาตราโตริโนยังคงอยู่ที่ ไม่เปลี่ยนแปลง 

ความไม่แน่นอนของวงโคจรจะยังคงสูงอยู่แม้จะน้อยลงตามระยะเวลา การคาดการณ์ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ ตัวเลขโอกาสการชนโลกจะขยับสูงขึ้นไปอีกสักระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะลดลงไปอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นศูนย์ในที่สุด เมื่อนั้นก็จะวางใจได้ว่าโลกจะปลอดภัยจากดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อย่างแน่นอน 

ในปี 2571 ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะวกกลับมาใกล้โลกอีกครั้งโดยจะอยู่ห่างจากโลกประมาณแปดล้านกิโลเมตร เมื่อนั้นนักดาราศาสตร์จะมีโอกาสวัดตำแหน่งได้อย่างแม่นยำและคำนวณวงโคจรได้อย่างเที่ยงตรง ถึงวันนั้นเราก็จะได้คำตอบที่ชัดเจนว่าจะเฉลิมฉลองหรือสวดมนต์ดี

เปรียบเทียบขนาดของดาวเคราะห์น้อย 2024 วายอาร์ กับวัตถุชนิดอื่น (จาก Wikipedia user Sinucep)

สมมุติว่าโลกโชคร้าย ดาวเคราะห์น้อย 2024 วายอาร์ จะพุ่งชนโลกจริง ๆ แน่นอนว่าด้วยขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ นักดาราศาสตร์คาดว่าความรุนแรงเมื่อพุ่งชนจะอยู่ในระดับเดียวกับเหตุการณ์ที่ตุงกุสคาใน พ.ศ. 2451 ซึ่งในครั้งนั้นทำให้พื้นที่ป่าเสียหายนับล้านไร่ หากจุดพุ่งชนเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ ย่อมทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตผู้คนอย่างมากแน่นอน อย่างไรก็ตาม ในกรณีของ 2024 วายอาร์ โลกมีทางเลือกมากกว่าแค่รอให้มฤตยูมาเยือน การที่รู้สถานการณ์ล่วงหน้าเป็นเวลานาน หมายความว่าเรามีเวลามากพอที่เตรียมแผนรับมือดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้ เช่น ดำเนินแผนการอพยพผู้คนไปให้ห่างจากจุดพุ่งชน หรือหาทางเบี่ยงเส้นทางของดาวเคราะห์น้อยไม่ให้พุ่งชนโลกได้ ซึ่งภารกิจดาร์ตได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ววิธีนี้เป็นไปได้จริง