สมาคมดาราศาสตร์ไทย

รัสเซียทดสอบยิงดาวเทียมด้วยขีปนาวุธ

รัสเซียทดสอบยิงดาวเทียมด้วยขีปนาวุธ

18 พ.ย. 2564
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อเวลา นาฬิกาของวันที่ 15 พฤศจิกายน ตามเวลาสากล ศูนย์ควบคุมภารกิจของสถานีอวกาศนานาชาติได้แจ้งเตือนต่อมนุษย์อวกาศให้เข้าสู่แผนรับมือกับภาวะฉุกเฉิน โดยให้มนุษย์อวกาศในสถานีทั้งหมดเข้าไปอยู่ในมอดูลของตัวเอง (โซยุซและครูว์ดรากอน) เพื่อเตรียมพร้อมที่จะสละสถานีแล้วกลับสู่โลกหากสถานีถูกโจมตีจนเสียหายร้ายแรง ประตูระหว่างมอดูลตลอดแกนให้เปิดค้างไว้ ส่วนประตูเข้าออกมอดูลปีกปิดทั้งหมด

เหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้น เป็นผลจากรัสเซียได้ยิงขีปนาวุธชื่อ ดีเอ-เอแซต จากพื้นสู่อวกาศเพื่อทำลายดาวเทียมการทหารชื่อ คอสมอส 1408 (Kosmos 1408) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบระบบต่อต้านดาวเทียม 

สถานีอวกาศนานาชาติ ถ่ายจากยานโซยุซ เอ็มเอส-18  (จาก Roscosmos)


การยิงทำลายเป้าหมายประสบความสำเร็จ แต่ได้สร้างขยะอวกาศกระจายเกลื่อนวงโคจรไปจำนวนมาก เฉพาะชิ้นที่ติดตามได้ก็มีมากกว่า 1,500 ชิ้น และคาดว่ายังมีชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ติดตามไม่ได้อีกนับแสนชิ้น ขยะอวกาศเหล่านี้จะคงอยู่ในวงโคจรอีกเป็นปีหรืออาจนานได้เป็นสิบปี เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อดาวเทียม ยานอวกาศ และสถานีอวกาศ

เรื่องนี้ทำให้ฝ่ายนาซาต้องหัวเสียอย่างมาก "ผมประสาทจะกินกับเรื่องแบบนี้" บิล เนลสัน ผู้บริหารขององค์การนาซากล่าวอย่างเดือดดาล "ไม่อยากจะเชื่อว่าประเทศที่มีประสบการณ์ทางอวกาศอย่างยาวนานอย่างรัสเซียจะทำเรื่องเลวร้ายแบบนี้ได้ การกระทำนี้ไม่เพียงแต่คุกคามความปลอดภัยของมนุษย์อวกาศอเมริกันและพันธมิตรทางอวกาศในสถานีเท่านั้น มันยังคุกคามคนของเขาเองที่อยู่บนสถานีด้วยเหมือนกัน"

"เป็นการกระทำที่ไร้สำนึก ไร้ความรับผิดชอบ และอันตรายอย่างมาก"
 
ส่วนรัสเซียของสถานีอวกาศนานาชาติ (จาก NASA)

ขณะนี้ยังไม่มีการอธิบายใด ๆ จากฝั่งรัสเซีย มีเพียงทวีตจาก อันตัน ชกาปาเรลลอฟ มนุษย์อวกาศรัสเซียซึ่งเป็นผู้บังคับการอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติที่กล่าวว่า "สหาย ทุกอย่างยังปกติดี เรายังคงทำงานต่อไปตามแผนเดิม"

ดาวเทียมคอสมอส 1408  เป็นดาวเทียมเก่าตั้งแต่สมัยโซเวียตที่ปลดระวางไปแล้ว  ก่อนที่จะถูกยิง มีวงโคจรอยู่สูง 480 กิโลเมตร โคจรในแนวเหนือ-ใต้ ทำมุม 82.6 องศากับเส้นศูนย์สูตร

ส่วนสถานีอวกาศนานาชาติโคจรอยู่ที่ระดับ 420 กิโลเมตร และสถานีอวกาศเทียนกงของจีนโคจรอยู่ที่ระดับ 385 กิโลเมตร

เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว ในปี 2550 จีนได้ยิงดาวเทียมสำรวจสภาพอากาศของตัวเองที่ขัดข้องด้วยขีปนาวุธ การยิงครั้งนั้นทำให้เกิดขยะอวกาศที่ติดตามได้เกือบ 3,400 ชิ้น คาดว่าราวครึ่งหนึ่งของขยะที่เกิดขึ้นยังคงอยู่ในวงโคจรไปอีก 20 ปี 

ในปี 2562 อินเดียก็ยิงขีปนาวุธใส่ดาวเทียมของตนเองเช่นกัน การยิงได้สร้างขยะอวกาศขึ้นอีกหลายร้อยชิ้น แต่ดาวเทียมที่อินเดียยิงโคจรอยู่ที่ระดับต่ำ ขยะส่วนใหญ่จึงตกลงสู่พื้นโลกในเวลาไม่นาน

สหรัฐอเมริกาก็เคยทำแบบเดียวกัน โดยยิงขีปนาวุธจากเครื่องบินใส่ดาวเทียมวิจัยทางการทหารของตนเองในปี 2528