สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ไขปริศนาดวงจันทร์สองหน้า

ไขปริศนาดวงจันทร์สองหน้า

21 มิ.ย. 2557
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เป็นเวลานานมาแล้วที่มนุษย์มองเห็นดวงจันทร์เพียงด้านเดียว เนื่องจากดวงจันทร์หมุนรอบตัวเองด้วยอัตราเท่ากับอัตราการโคจรรอบโลก จึงไม่มีใครได้มีโอกาสได้เห็นดวงจันทร์ในอีกด้านหนึ่งเลย จนกระทั่งถึง ค.ศ.1959 เมื่อยานลูนา ของสหภาพโซเวียตส่งยานอวกาศอ้อมหลังดวงจันทร์ และถ่ายภาพพื้นผิวดวงจันทร์ด้านไกลกลับมาให้ชมเป็นครั้งแรก 

ภาพที่ส่งกลับมานั้นสร้างความงุนงงแก่นักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก พื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์เต็มไปด้วยที่ราบสูงตะปุ่มตะป่ำไปด้วยรอยอุกกาบาต ไม่ปรากฏที่ราบต่ำหรือทะเล ซึ่งต่างจากด้านใกล้ที่ชาวโลกคุ้นเคยมากราวกับเป็นคนละดวง 

มีผู้เสนอทฤษฎีขึ้นมาหลายทฤษฎีเพื่ออธิบายถึงความแตกต่างดังกล่าว ล่าสุด อาร์พริตา รอย จากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตต ได้เสนอทฤษฎีใหม่ขึ้นมา และอาจไขปริศนายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษนี้ได้

ทฤษฎีนี้อิงกับทฤษฎีการกำเนิดดวงจันทร์แบบพุ่งชน ที่กล่าวว่า มีวัตถุขนาดเท่าดาวอังคารดวงหนึ่งพุ่งชนโลกในอดีต การชนทำให้เกิดเศษเนื้อดาวของทั้งสองกระจายออกไปโดยรอบ ต่อมาเศษวัตถุเหล่านั้นได้มาเกาะกันเป็นก้อนและพอกพูนใหญ่ขึ้นจนกลายมาเป็นดวงจันทร์ดังที่เห็นในปัจจุบัน

พลังงานจากการชน ทำให้โลกและดวงจันทร์ร้อนขึ้นมาก ต่อมาจึงค่อยเย็นตัวลงอย่างช้า ๆ ดวงจันทร์จะเย็นลงเร็วกว่าเนื่องจากมีขนาดเล็กกว่า หลังจากที่ดวงจันทร์เย็นลงได้ระดับหนึ่งแล้ว โลกยังคงร้อนอยู่ อาจจะร้อนถึง 2,500 องศาเซลเซียส และดวงจันทร์ก็ยังคงอยู่ใกล้โลก ความร้อนจากโลกจึงแผ่ไปถึงดวงจันทร์ได้จนถึงกับทำให้ด้านใกล้และด้านไกลของดวงจันทร์มีอุณหภูมิต่างกันมาก 

เปลือกดาวของดวงจันทร์มีส่วนประกอบของอะลูมินัมและแคลเซียมอยู่มาก ธาตุสองชนิดนี้ระเหยได้ยากมาก ดังนั้นเมื่ออุณหภูมิบนดวงจันทร์เริ่มเย็นลง ธาตุสองชนิดนี้จึงเป็นชนิดแรก ๆ ที่จะตกลงสู่พื้นผิวเหมือนละออง โดยตกที่ด้านไกลของดวงจันทร์มากกว่าเนื่องจากมีอุณหภูมิต่ำกว่า  

หลายล้านปีผ่านไป ธาตุสองชนิดนี้ได้รวมกับซิลิเกตในเนื้อของดวงจันทร์กลายเป็นแพลจจิโอเคลสเฟลด์สปาร์ ซึ่งต่อมาก็จะเคลื่อนขึ้นมาสู่พื้นผิว กลายเป็นส่วนหนึ่งของเปลือกดวงจันทร์ ด้านไกลของดวงจันทร์มีแร่ชนิดนี้มากกว่า เปลือกดวงจันทร์ด้านไกลจึงหนากว่า

การที่ด้านใกล้ของดวงจันทร์มีเปลือกบาง เมื่อถูกอุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชน จึงแตกออกและปล่อยให้ลาวาบะซอลต์ทะลักออกมาท่วมแอ่ง จนกลายเป็น "ทะเล" ดังที่ปรากฏอยู่หลายแห่ง ส่วนด้านไกลของดวงจันทร์มีเปลือกหนา อุกกาบาตเจาะทะลุได้ยาก จึงแทบไม่มีโอกาสที่ลาวาจะผุดขึ้นมาที่พื้นผิวสร้างเป็นทะเล ด้วยเหตุนี้ทางด้านไกลของดวงจันทร์จึงมีลักษณะที่สูงที่พรุนด้วยหลุมอุกกาบาตทั่วทั้งซีก

งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารแอสโทรฟิสิคัลเจอร์นัลเลตเตอร์ ฉบับวันที่ มิถุนายน 

พื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์ <wbr>ถ่ายโดยยานลูนาร์รีคอนเนซเซนส์ออร์บิเตอร์ในปี <wbr>2552<br />

พื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์ ถ่ายโดยยานลูนาร์รีคอนเนซเซนส์ออร์บิเตอร์ในปี 2552
(จาก NASA)

ที่มา: