สมาคมดาราศาสตร์ไทย

รัสเซียพร้อมสำรวจบริวารดาวอังคาร

รัสเซียพร้อมสำรวจบริวารดาวอังคาร

9 ม.ค. 2548
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เป็นเวลากว่าทศวรรษครึ่งมาแล้วที่รัสเซียห่างเหินไปจากวงการสำรวจอวกาศเนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณ แต่รัสเซียกำลังจะกลับมาสู่วงการอีกครั้งด้วยภารกิจใหม่ในการสำรวจบริวารของดาวอังคาร

ในที่ประชุมสภาการบินอวกาศนานาชาติที่โคลัมเบียเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตัวแทนจากรัสเซียได้แจ้งว่ารัสเซียกำลังจะเริ่มโครงการใหม่ส่งยานอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์โฟบอสของดาวอังคาร ยานสำรวจในภารกิจนี้มีชื่อว่า โฟบอส-กรุนต์ (Fobos-Grunt) (คำว่า Grunt ภาษารัสเซียแปลว่า เศษซาก) โครงการนี้มีการพิจารณามาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และเพิ่งได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนตุลาคมปี 2547 ที่ผ่านมานี้เอง

ยานโฟบอส-กรุนต์มีน้ำหนักราว 50 กิโลกรัม อุปกรณ์สำรวจบนยานอาจมีบางชิ้นที่เป็นของอเมริกัน และอาจมีดาวเทียมจิ๋วของญี่ปุ่นติดไปด้วย ยานสำรวจลำนี้ไม่เพียงแค่ลงจอดลงบนดวงจันทร์โฟบอสเท่านั้น แต่ยังมีการเก็บตัวอย่างก้อนดินประมาณ 200-300 กรัมใส่ยานและนำกลับมายังโลกอีกด้วย ยานจึงมีสองส่วนคือส่วนฐานลงจอดและยานกลับโลก

ตามแผนที่วางไว้ ยานจะออกเดินทางราวปี 2552 ใช้เวลาเดินทางจากโลกถึงดาวอังคารราว 350 วัน หลังจากนั้นจะสำรวจไปรอบ ๆ ดวงจันทร์โฟบอสเพื่อเลือกทำเลลงจอด เมื่อยานลงจอดแล้วจะเก็บตัวอย่างก้อนดินแล้วยานกลับโลกก็จะแยกตัวทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อนำกลับมายังโลกทันที ยานกลับโลกจะรออยู่ในวงโคจรอยู่ราวปีเศษจนกระทั่งได้จังหวะที่โลกเข้ามาใกล้ดาวอังคารจึงเปลี่ยนทิศทางมุ่งหน้ามาสู่โลก

ส่วนฐานจะยังคงจอดอยู่บนโฟบอสทำหน้าที่เป็นสถานีเฝ้าสังเกตการณ์สภาพลมฟ้าอากาศของดาวอังคารรวมทั้งอวกาศรอบ ๆ ดาวอังคารต่อไป

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 สหภาพโซเวียตเป็นมหาอำนาจในด้านการสำรวจอวกาศ หลายภารกิจในการเก็บตัวอย่างจากดาวเคราะห์หรือดวงจันทร์ของโซเวียตประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่สำหรับภารกิจเก็บตัวอย่างในครั้งนี้ต่างจากภารกิจอื่นที่รัสเซียเคยทำ ดวงจันทร์โฟบอสอยู่ไกลกว่าดวงจันทร์มาก ระยะเวลาของภารกิจจึงยาวนานกว่ามาก ในอดีต ยานสำรวจของรัสเซียมักมีปัญหากับภารกิจนาน ๆ อย่างนี้ อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังดาวเทียมของรัสเซียหลายดวงก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าความทนทานของดาวเทียมได้พัฒนาไปมากแล้ว

รัสเซียเคยส่งยานไปสำรวจโฟบอสสองลำในปี 2531 แต่ล้มเหลวทั้งสองลำ ลำหนึ่งสูญหายระหว่างทางเนื่องจากคอมพิวเตอร์ทำงานผิดพลาด อีกลำหนึ่งเสียการควบคุมไปในช่วงที่ยานเข้าใกล้โฟบอส ยานสำรวจดาวเคราะห์ลำล่าสุดของรัสเซียคือยาน มาร์ส หรือ มาร์ส 96 ออกเดินทางในปี 2539 แต่ยานได้ตกลงสู่โลกหลังจากปล่อยขึ้นจากฐานไปไม่นาน

ภาพร่างของยานโฟบอส-กรุนต์ ยานสำรวจดวงจันทร์โฟบอสลำใหม่ของรัสเซีย

ภาพร่างของยานโฟบอส-กรุนต์ ยานสำรวจดวงจันทร์โฟบอสลำใหม่ของรัสเซีย

ดวงจันทร์โฟบอส เป้าหมายของยานโฟบอส-กรุนต์ของรัสเซีย ภาพนี้ถ่ายโดยยานไวกิง

ดวงจันทร์โฟบอส เป้าหมายของยานโฟบอส-กรุนต์ของรัสเซีย ภาพนี้ถ่ายโดยยานไวกิง

ที่มา: