เมื่อสี่ปีก่อน อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการของสเปซเอกซ์ บริษัทเอกชนด้านการขนส่งอวกาศยักษ์ใหญ่ ได้ผุดความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมดาวอังคารที่หนาวยะเยือกอย่างในปัจจุบันให้มนุษย์อยู่อาศัยได้โดยการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ใส่ขั้วดาวอังคาร โดยเชื่อว่าการระเบิดทำให้น้ำแข็งปริมาณมหาศาลที่ขั้วโลกระเหยออกมา เพิ่มระดับของไอน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศให้มากพอที่จะทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจก ซึ่งจะทำให้ดาวอังคารอุ่นขึ้น
แนวคิดหลุดโลกนี้ของมัสก์ไม่เป็นที่ยอมรับมากนักเช่นเมื่อปีที่แล้ว งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์แอสโทรโนมีได้ให้ความเห็นว่า ดาวอังคารมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ไม่มากพอที่จะทำให้ดาวอังคารอุ่นขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ต่อให้ใช้น้ำแข็งที่ขั้วโลกทั้งหมดก็ตาม ดังนั้นการปรับสภาพแผ่นดินดาวอังคารให้อยู่อาศัยได้จึงเป็นเรื่องพ้นความสามารถของเทคโนโลยีปัจจุบัน
นอกจากนี้ไมเคิล แมนน์ นักวิทยาศาสตร์ด้านลมฟ้าอากาศจากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตต ให้ความเห็นว่า การใช้ระเบิดนิวเคลียร์นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังอาจทำให้เกิดผลร้ายตามมา นั่นคือปรากฏการณ์ฤดูหนาวนิวเคลียร์ เพราะการระเบิดย่อมทำให้เกิดฝุ่นควันจำนวนมากขึ้นไปบนบรรยากาศ เป็นการปิดกั้นแสงแดดไม่ให้ส่องถึงพื้นผิว ทำให้สภาพอากาศหนาวเย็นลง ปรากฏการณ์นี้เองที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าเป็นเหตุให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์เมื่อ 64 ล้านปีก่อนจากการที่ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก
อย่างไรก็ตามหลังจากที่มัสก์ได้เสนอความเห็นที่จะระเบิดขั้วดาวอังคารในครั้งแรกแล้ว เขาก็ไม่ได้พูดเรื่องนี้อีกมากนักจนหลายคนอาจคิดว่ามัสก์คงล้มเลิกความคิดไปแล้ว
แต่เมื่อวันที่15 สิงหาคมที่ผ่านมา มัสก์ได้ทวิตข้อความสั้น ๆ ว่า "ระเบิดดาวอังคาร!" และตามมาด้วยข้อความว่า "เสื้อยืด เร็ว ๆ นี้" พร้อมกับออกแบบเสื้อยืดที่มีลายสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการทิ้งระเบิดใส่ดาวอังคาร
นี่แสดงชัดเจนว่าแนวคิดเรื่องการนำระเบิดไปทิ้งใส่ดาวอังคารยังคงอยู่ในหัวของหนุ่มสมองใสคนนี้ตลอดเวลา
ต่อมาในวันที่20 มัสก์ได้ทวิตเกี่ยวกับแนวคิดนี้อีกระลอกหนึ่งโดยอธิบายว่า การทิ้งระเบิดใส่ดาวอังคารอาจเป็นการใช้ระเบิดนิวเคลียร์แบบฟิวชันลูกเล็กหลายลูกไประเบิดที่เหนือชั้นบรรยากาศของดาวอังคารอย่างต่อเนื่อง เหมือนการสร้างดวงอาทิตย์ปลอมไว้เพื่อสร้างความร้อน การทำอย่างนี้จะไม่ทำให้ดาวอังคารต้องเปื้อนกัมมันตภาพรังสี
ความคิดเรื่องการแปลงสภาพแวดล้อมบนดาวอังคารที่ทั้งแล้งและมีรังสีเข้มข้นให้กลายเป็นสภาพที่อยู่อาศัยได้เป็นเป้าหมายระยะยาวและเป้าหมายสูงสุดของมัสก์ เขามีความฝันที่จะให้ดาวอังคารเป็นโลกสำรองของมนุษยชาติ การลงทุนในธุรกิจการบินอวกาศด้วยการพัฒนาจรวดออกมาหลายรุ่น ก็เป็นการกรุยทางไปสู่จุดหมายปลายฝันนั้น อวกาศยานรุ่นต่อไปที่สเปซเอกซ์กำลังพัฒนาคือ จรวดซูเปอร์เฮฟวี และยานสตาร์ชิป (ชื่อเดิมคือ บิกฟัลคอน) เป็นยานขนาดยักษ์ที่จะบรรทุกผู้โดยสารได้มากถึงคราวละ 100 คนไปยังดาวอังคารได้ และยังเป็นอวกาศยานแบบใช้ซ้ำโดยสมบูรณ์ คาดว่าจรวดซูเปอร์เฮฟวีจะเริ่มนำดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศได้ในปี 2564 และจะเริ่มบรรทุกมนุษยอวกาศได้ภายในปี 2566
แนวคิดหลุดโลกนี้ของมัสก์ไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก
นอกจากนี้
อย่างไรก็ตาม
แต่เมื่อวันที่
นี่แสดงชัดเจนว่า
ต่อมาในวันที่
ความคิดเรื่องการแปลงสภาพแวดล้อมบนดาวอังคารที่ทั้งแล้งและมีรังสีเข้มข้นให้กลายเป็นสภาพที่อยู่อาศัยได้