สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พายุหมุนชนกันบนดาวพฤหัสบดี

พายุหมุนชนกันบนดาวพฤหัสบดี

1 พ.ย. 2543
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลสามารถถ่ายภาพการชนและเชื่อมรวมกันของพายุหมุนบนดาวพฤหัสบดีได้เป็นครั้งแรก

กว่าศตวรรษมาแล้วที่นักดาราศาสตร์ได้สังเกตเห็นสิ่งที่คล้ายกับการเชื่อมกันของพายุหมุนบนดาวพฤหัสบดี และการเชื่อมกันของพายุหมุนนี้เองที่นักดาราศาสตร์เชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของจุดแดงใหญ่อันมีชื่อเสียงของดาวพฤหัสบดีตั้งแต่เมื่อกว่า 300 ปีก่อน แต่ถึงอย่างนั้น นักดาราศาสตร์ก็ยังไม่เคยเห็นการชนกันของพายุบนดาวพฤหัสบดีจริง ๆ เลยสักครั้ง การได้เห็นการรวมตัวกันของพายุจะช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้มีโอกาสศึกษาพลวัตของบรรยากาศดาวพฤหัสบดีได้ดียิ่งขึ้น 

จนเมื่อไม่นานมานี้เองที่นักดาราศาสตร์ประสบความสำเร็จในการถ่ายภาพปรากฏการณ์ดังกล่าว พายุหมุนที่นักดาราศาสตร์พบการชนกันในครั้งนี้คือพายุหมุนรูปวงรี ลูกที่อยู่ละติจูดต่ำกว่าจุดแดงใหญ่ลงไปเล็กน้อย พายุหมุนสามลูกนี้ได้ก่อตัวขึ้นมาประมาณ 60 ปีแล้ว ตลอดเวลาที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์ได้พบว่ามันเคยเคลื่อนเข้ามาใกล้กันหลายครั้ง แต่ไม่เคยชนกันเลย จนกระทั่งถึงต้นปี 2541 พายุสองลูกแรกได้รวมกันเป็นลูกเดียว แต่นักดาราศาสตร์ไม่เห็นช่วงที่มีการชนกันเพราะตรงกับช่วงที่พายุอยู่ด้านหลังของดาวพฤหัสบดีพอดี

และเมื่อปีที่แล้ว พายุหมุนที่เกิดจากการรวมกันในครั้งแรกได้เข้าใกล้กับพายุอีกลูกหนึ่งที่เหลือ ในขณะที่พายุสองลูกเข้าใกล้กัน ได้เกิดพายุสีคล้ำลูกหนึ่งแทรกขึ้นมาระหว่างพายุขาวทั้งสอง พายุลูกนี้หมุนตามเข็มนาฬิกา ต่างจากพายุสองลูกก่อนซึ่งหมุนทวนเข็มนาฬิกา คณะสำรวจได้สันนิษฐานว่าพายุหมุนที่แทรกกลางแบบนี้เป็นตัวการสำคัญที่กันไม่ให้พายุหมุนส่วนใหญ่ไม่ชนกัน แต่ในกรณีนี้ พายุลูกกลางที่มาแทรกนี้ดูเหมือนกับถูกดันออกไปทางใต้และถูกฉีกออกจนสลายไปในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว 

เมื่อตัวแทรกถูกกำจัดไปแล้ว จึงเปิดทางให้พายุหมุนทั้งสองเริ่มชนกัน ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมและกินระยะเวลานานประมาณ สัปดาห์ ที่ระดับยอดเมฆ ในตอนแรกพายุหมุนทั้งสองหมุนรอบกันตามทิศทางทวนเข็มนาฬิกาและในที่สุดก็รวมตัวกันโดยสมบูรณ์ พายุใหม่นี้มีขนาดใหญ่ขึ้นหนึ่งในสาม แต่ที่ระดับลึกลงไป กลับไม่พบการหมุนรอบซึ่งกันและกันของพายุทั้งสอง แต่มันทำให้เกิดเมฆที่มีโครงสร้างซับซ้อนขึ้นมาแทน 

การเคลื่อนที่เข้าชนกันของพายุหมุนบนดาวพฤหัสบดี ถ่ายในช่วงระยะเวลา 3 ปี โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (JPL)

การเคลื่อนที่เข้าชนกันของพายุหมุนบนดาวพฤหัสบดี ถ่ายในช่วงระยะเวลา 3 ปี โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (JPL)

ที่มา: