ดาวพฤหัสบดีมีดวงจันทร์บริวารดวงใหญ่สี่ดวง ในสี่ดวงนี้ ดวงจันทร์ไอโออยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีที่สุด ร้อนแรงที่สุด และเป็นดวงจันทร์ที่อึกทึกคึกคักที่สุดในระบบสุริยะ เพราะพื้นผิวเต็มไปด้วยภูเขาไฟที่พร้อมปะทุอยู่ตลอดเวลา
จูโนยานอวกาศสำรวจดาวพฤหัสบดีขององค์การนาซา ได้สำรวจมาตั้งแต่ปี 2559 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ยานจูโนมีโอกาสขยับเข้าใกล้ดวงจันทร์ไอโอหลายครั้ง มีโอกาสถ่ายภาพดวงจันทร์พิศวงดวงนี้ในระยะใกล้ได้ ทำให้เราได้เห็นรายละเอียดบนพื้นผิวไอโอได้เป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี
หนึ่งในภาพที่ถ่ายโดยจูโนเป็นภาพที่ถ่ายขึ้นในเดือนเมษายน 2567 แสดงภูเขาไฟลูกหนึ่งใกล้เส้นศูนย์สูตรเยื้องไปทางใต้เล็กน้อย แสดงร่องรอยการไหลของลาวาหลายครั้งหลายหน ครอบคลุมพื้นที่ 180 x 180 กิโลเมตร เมื่อเปรียบเทียบกับภาพถ่ายบริเวณเดียวกันที่ถ่ายโดยยานกาลิเลโอเมื่อ 2540 ไม่พบว่ามีภูเขาไฟมาก่อน เป็นเพียงพื้นที่เรียบ ๆ แสดงว่าภูเขาไฟลูกนี้เพิ่งเกิดขึ้นมาหลังจากนั้น
ภูเขาไฟบนไอโอเกิดจากแรงน้ำขึ้นลงที่กระทำโดยดาวพฤหัสบดีดังนั้นบริเวณที่เกิดภูเขาไฟบนไอโอจึงอยู่ในช่วงละติจูดระหว่าง 30 องศาเหนือกับ 30 องศาใต้
ดวงจันทร์ไอโอของดาวพฤหัสบดีโคจรอยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีมากขณะที่ไอโอโคจรและหมุนรอบตัวเองไปด้วย ก็จะถูกแรงน้ำขึ้นลงจากดาวพฤหัสบดีบีบเค้นจนทำให้เกิดความร้อนสูงภายใน กระบวนการนี้เกิดขึ้นในดวงจันทร์หลักอีกสามดวงเช่นกัน ได้แก่ ยูโรปา แกนิมีด และ คัลลิสโต ความร้อนภายในที่เกิดขึ้นในดวงจันทร์สามดวงหลังทำให้ใต้พื้นผิวมีสภาพเป็นมหาสมุทรบาดาล ซึ่งเป็นชั้นของน้ำที่อยู่ในสถานะของเหลวอยู่
ใต้พื้นผิวของไอโอก็มีสิ่งที่คล้ายมหาสมุทรบาดาลเหมือนกันต่างกันตรงที่ของเหลวที่อยู่ภายในไม่ใช่น้ำ แต่เป็นหินหนืด หินหนืดมีแรงดันสูงจึงหาทางระบายออกสู่พื้นผิว ซึ่งก็คือภูเขาไฟนั่นเอง ปัจจุบันพบภูเขาไฟบนไอโอกว่า 400 ลูก และพื้นผิวก็ทับถมไปด้วยสารประกอบกำมะถันซึ่งเป็นผลจากการปะทุของภูเขาไฟ เป็นเหตุที่ดวงจันทร์ดวงนี้มีสีเหลือง
แม้จะเป็นที่แน่ชัดว่าแรงน้ำขึ้นลงจากดาวพฤหัสบดีเป็นแหล่งพลังงานหลักในการทำให้เกิดความร้อนในดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี แต่ยังมีปริศนาอีกมากมายเกี่ยวกับไอโอที่นักดาราศาสตร์ยังต้องหาคำตอบต่อไป เช่น ลึกลงไปใต้พื้นผิวความร้อนมีการกระจายตัวอย่างไร มหาสมุทรหินหนืดของไอโอมีความลึกมากน้อยแค่ไหน ตลอดจนประวัติทางของธรณีวิทยาของบริวารดวงนี้
คำตอบเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้เข้าใจไอโอเท่านั้นแต่ยังช่วยให้เข้าใจดาวเคราะห์หินดวงอื่นได้อีกด้วย
ยานจูโนยังจะเข้าเฉียดดวงจันทร์ไอโออีกหลายครั้งจนกระทั่งถึงปี2568 แต่น่าเสียดายที่การเข้าเฉียดต่อจากนี้จะไม่ได้เข้าใกล้มากอย่างเคยแล้ว
จูโน
หนึ่งในภาพที่ถ่ายโดยจูโน
ภูเขาไฟบนไอโอเกิดจากแรงน้ำขึ้นลงที่กระทำโดยดาวพฤหัสบดี
ดวงจันทร์ไอโอของดาวพฤหัสบดีโคจรอยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีมาก
ใต้พื้นผิวของไอโอก็มีสิ่งที่คล้ายมหาสมุทรบาดาลเหมือนกัน
แม้จะเป็นที่แน่ชัดว่า
คำตอบเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้เข้าใจไอโอเท่านั้น
ยานจูโนยังจะเข้าเฉียดดวงจันทร์ไอโออีกหลายครั้งจนกระทั่งถึงปี