สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวหางทรอยของดาวพฤหัสบดี

ดาวหางทรอยของดาวพฤหัสบดี

6 มี.ค. 2564
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ไม่ใช่ดาวหางชื่อทรอย แต่มันเป็นดาวหางที่โคจรอยู่ในกลุ่มเดียวกับดาวเคราะห์น้อยทรอยของดาวพฤหัสบดี

ที่วงโคจรของดาวพฤหัสบดี ไม่ได้มีเพียงดาวพฤหัสบดีเพียงดวงเดียวเท่านั้น หากแต่ยังมีดาวเคราะห์น้อยจำนวนหนึ่งที่ใช้วงโคจรร่วมกับดาวพฤหัสบดี โคจรรอบดวงอาทิตย์ไปด้วยกัน มีสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเกาะกลุ่มโคจรนำหน้าดาวพฤหัสบดีอยู่ 60 องศา อีกกลุ่มหนึ่งโคจรตามหลัง 60 องศา ดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรพิเศษเช่นนี้เรียกว่า ดาวเคราะห์น้อยทรอย (Trojan asteroid)

นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์น้อยทรอยมาแล้วหลายดวง แต่ไม่เคยพบดาวหางทรอย จนกระทั่งบัดนี้ ดาวหางทรอยดวงแรกที่ถูกค้นพบ มีชื่อว่า พี/2019 แอลดี (P/2019 LD2) ถูกค้นพบในเดือนมิถุนายน 2562 โดยกล้องแอตลาสของมหาวิทยาลัยฮาวาย 

ความน่าสนใจของดาวหางดวงนี้ นอกจากจะเป็นดาวหางทรอยดวงแรกที่ค้นพบแล้ว นักดาราศาสตร์ยังพบว่ามันเป็นเพียงผู้มาเยือนที่แวะเข้ามาอยู่ในบริเวณนี้เป็นการชั่วคราวเท่านั้น เดิมทีเป็นวัตถุที่โคจรรอบดวงอาทิตย์อยู่ระหว่างวงโคจรของดาวพฤหัสบดีกับดาวเนปจูน เรียกว่าวัตถุเซนทอร์ แต่บังเอิญเข้ามาอยู่ในตำแหน่งของดาวเคราะห์น้อยทรอยของดาวพฤหัสบดีด้วยแนววิถีและความความเร็วที่พอเหมาะที่จะถูกตรึงไว้ในกลุ่มของดาวเคราะห์น้อยทรอยไป

ดาวหาง พี/2019 แอลดี (P/2019 LD2) ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ขณะที่อยู่ห่างจากโลก 600 ล้านกิโลเมตร (จาก NASA, ESA, STScI, B. Bolin (IPAC/Caltech))

วัตถุเซนทอร์มีองค์ประกอบเป็นหินปนน้ำแข็ง คล้ายนิวเคลียสของดาวหาง แต่ไม่ทอดหางเนื่องจากอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มาก แต่สำหรับ พี/2019 แอลดี ซึ่งเข้ามาอยู่ในระยะเดียวกับดาวพฤหัสบดี จึงใกล้พอที่จะทอดหางแบบดาวหางได้ 

ดาวเคราะห์น้อยมีการกระจายตัวเป็นกลุ่มหลายกลุ่ม กลุ่มใหญ่ที่สุดคือ แถบดาวเคราะห์น้อยหลัก อยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี อีกกลุ่มหนึ่งคือดาวเคราะห์น้อยทรอย เป็นกลุ่มที่โคจรอยู่ในวงโคจรของดาวพฤหัสบดี มีสองกลุ่มย่อย กลุ่มหนึ่งนำหน้าดาวพฤหัสบดีเป็นมุม 60 องศา อีกกลุ่มตามหลังดาวพฤหัสบดีเป็นมุม 60 องศา  (จาก NASA, ESA, and J. Olmsted, (STScI))

แบบจำลองเส้นทางการเคลื่อนที่ของ พี/2019 แอลดี ที่สร้างขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์แสดงว่า วัตถุดวงนี้น่าจะเข้ามาใกล้ดาวพฤหัสบดีเมื่อราวสองปีก่อน ก่อนจะถูกคว้าเอาไว้มาอยู่ในวงโคจร ปัจจุบันโคจรนำหน้าดาวพฤหัสบดีอยู่ราว 700 ล้านกิโลเมตร และยังพบว่าในอนาคตดาวหางดวงนี้ก็จะหลุดจากกลุ่มทรอยออกไป

ปัจจุบันยังไม่มียานอวกาศลำใดเคยไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยทรอยของดาวพฤหัสบดี แต่ภายในปีนี้ ยานลูซีขององค์การนาซาจะออกเดินทางจากโลก ยานลำนี้มีภารกิจจะเฉียดดาวเคราะห์น้อยทรอย ดวง รวมถึงดาวเคราะห์แถบหลักอีกหนึ่งดวง คาดว่าภารกิจนี้จะช่วยเผยความลับเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยกลุ่มพิเศษนี้ได้อีกมาก

ที่มา: