สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พบเศษดาวเคราะห์น้อยผู้ล้างเผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์

พบเศษดาวเคราะห์น้อยผู้ล้างเผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์

1 พ.ย. 2541
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ได้มีการค้นพบเศษอุกกาบาตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งเข้าชนโลกเมื่อ 65 ล้านปีก่อน อันเป็นเหตุให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไป 

ตามรายงานซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 19 พฤศจิกายน 2541 นักธรณีวิทยา แฟรงก์ ไคต์ ได้ค้นพบก้อนหินก้อนหนึ่งฝังตัวอยู่ภายในชั้นดินภายใต้มหาสมุทรแปซิฟิก เชื่อว่าก้อนหินก้อนนี้เป็นฟอสซิลอุกกาบาตที่มีอายุถึง 65 ล้านปี 

ไคต์กล่าวว่า ลูกอุกกาบาตก้อนนี้น่าจะเป็นชิ้นส่วนหลงเหลือของอุกกาบาตที่พุ่งเข้าชนโลกในยุคครีเตเชียสเมื่อ 65 ล้านปีก่อนที่บริเวณคาบสมุทรยูคาทาน ประเทศเม็กซิโก หรือที่เรียกว่าเหตุการณ์ Chicxulub ผลจากการชนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะแวดล้อมจนทำให้ไดโนเสาร์และสัตว์อื่น ๆ อีกหลายชนิดต้องสูญพันธุ์ไป 

 

ก้อนหินที่พบในครั้งนี้มีขนาดเล็กเพียง 2.5 มิลลิเมตรเท่านั้น อยู่ในชั้นดินเหนียวที่มีอิริเดียมเป็นจำนวนมาก ธาตุอิริเดียมเป็นธาตุที่พบได้ทั่วไปกับอุกกาบาตทั่วไป นักธรณีวิทยาได้พบชั้นดินที่มีส่วนผสมอิริเดียมหลายแห่งทั่วโลก และชั้นดินเหล่านี้เกิดขึ้นในยุคเดียวกัน คือเมื่อ 65 ล้านปีก่อน เรียกว่าชั้น K/T (K/T boundary) เชื่อว่าการเกิดชั้น K/T ต้องเกี่ยวข้องกับการชนของอุกกาบาตครั้งใหญ่อย่างแน่นอน 

 

ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์ว่าวัตถุที่พุ่งเข้าชนนั้นเป็นดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหาง ไคต์กล่าวว่า ชิ้นส่วนก้อนหินที่พบนี้ มีลักษณะของคอนไดรต์ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของดาวเคราะห์น้อย ไม่ใช่เป็นก้อนวัตถุร่วนอย่างชิ้นส่วนของดาวหาง ดังนั้น วัตถุนั้นจะต้องเป็นดาวเคราะห์น้อย ไม่ใช่ดาวหาง 

นอกจากนี้ การที่มีเศษของอุกกาบาตหลงเหลืออยู่เป็นการแสดงว่า วัตถุที่พุ่งเข้าชนนั้นเคลื่อนที่ชนด้วยอัตราเร็วสัมพัทธ์ค่อนข้างต่ำ สิ่งนี้เป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่สนับสนุนว่า วัตถุที่พุ่งเข้าชนนี้เป็นดาวเคราะห์น้อย เพราะว่าดาวหางมักพุ่งเข้าชนโลกด้วยอัตราเร็วที่สูงกว่าดาวเคราะห์น้อยอยู่แล้ว เนื่องจากวงโคจรแตกต่างกัน 

แต่นั่นต้องหมายความว่า ก้อนหินก้อนนี้เป็นเศษของวัตถุมรณะลูกนั้นจริง ๆ