สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดวงจันทร์ดวงใหม่ของวัตถุไคเปอร์

ดวงจันทร์ดวงใหม่ของวัตถุไคเปอร์

12 ก.ค. 2560
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักดาราศาสตร์พบสมาชิกดวงใหม่ของระบบสุริยะอีกแล้ว คราวนี้เป็นดวงจันทร์ของ 2007 โออาร์ 10 (2007 OR10) 

2007 โออาร์ 10 เป็นดาวเคราะห์แคระ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1,500 กิโลเมตร เป็นวัตถุพ้นดาวเนปจูนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามรองจากดาวพลูโตและดาวอีริส โคจรอยู่ในแถบไคเปอร์เช่นเดียวกับดาวพลูโต มีวงโคจรรีมาก ช่วงที่อยู่ที่จุดไกลสุดในวงโคจรอยู่ห่างออกไปถึง 101 หน่วยดาราศาสตร์ ส่วนช่วงที่เข้าใกล้ที่สุดอยู่ห่างออกไป 33 หน่วยดาราศาสตร์ซึ่งอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวเนปจูนกับดาวพลูโต มีคาบโคจร 549 ปี 

จุดเริ่มต้นของการค้นพบเกิดขึ้นจากการใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์สำรวจดาวเคราะห์แคระดวงนี้ กล้องเคปเลอร์เป็นกล้องเฉพาะกิจในด้านการค้นหาดาวเคราะห์ต่างระบบโดยการสังเกตแสงดาวที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งเกิดจากการผ่านหน้าของดาวเคราะห์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ากล้องเคปเลอร์จะหาเป็นแต่ดาวเคราะห์ต่างระบบอย่างเดียว กล้องนี้ยังมีความสามารถมากกว่านั้น เช่น ศึกษาดาวแปรแสงและค้นหาวัตถุไคเปอร์ ข้อมูลด้านการแปรแสงของ 2007 โออาร์ 10 ที่ได้จากกล้องเคปเลอร์แสดงว่า วัตถุดวงนี้หมุนรอบตัวเองด้วยคาบ 45 ชั่วโมง วัตถุไคเปอร์ส่วนใหญ่หมุนรอบตัวเองด้วยคาบต่ำว่า 24 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าช้าผิดสังเกต นักดาราศาสตร์จึงตั้งสมมุติฐานว่าอาจมีบริวารที่ยังมองไม่เห็นโคจรรอบอยู่ เพราะการมีดวงจันทร์บริวารโคจรรอบจะหน่วงให้คาบการหมุนรอบตัวเองของวัตถุแม่ช้าลง

เมื่อตรวจสอบจากคลังข้อมูลของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลซึ่งได้สำรวจดาวเคราะห์แคระดวงนี้มาก่อน ก็พบว่ามีจุดแสงจาง ๆ ของดวงจันทร์บริวารจริง ๆ เบื้องต้นคาดว่าดวงจันทร์ดวงนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 320 กิโลเมตร โคจรอยู่ห่างจาก 2007 โออาร์ 10 ประมาณ 15,000 กิโลเมตร


ดาว 2007 โออาร์ 10 (2007 OR10) และบริวาร ภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ภาพซ้ายถ่ายในปี 2552 ภาพขวาถ่ายในปี 2553

ดาว 2007 โออาร์ 10 (2007 OR10) และบริวาร ภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ภาพซ้ายถ่ายในปี 2552 ภาพขวาถ่ายในปี 2553 (จาก NASA/Hubble/ESA/STScI )

ดาว 2007 โออาร์ 10 (2007 OR10) กับบริวาร (ในวงกลมสีแดง) (จาก NASA/Hubble/STScI)

ที่มา: