สมาคมดาราศาสตร์ไทย

รัสเซียฝันสลาย ลูนา 25 ชนดวงจันทร์

รัสเซียฝันสลาย ลูนา 25 ชนดวงจันทร์

22 ส.ค. 2566
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 จรวดโซยุซ-2.1บี ได้พายานลูนา-25 ขึ้นสู่อวกาศจากแท่นส่งจรวดที่ท่าอวกาศยานวอสทอคนี เป้าหมายของยานลำนี้คือ การนำยานลงจอดบนดวงจันทร์บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์เพื่อสำรวจสภาพทางธรณีวิทยาและแหล่งน้ำ รวมถึงบรรยากาศที่แสนเบาบางของดวงจันทร์ 

ภาพในจินตนาการของศิลปินของยานลูนา-25 ขณะกำลังลงจอดบนดวงจันทร์  (จาก sputnik)

ยานลูนา-25 เป็นยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกในรอบ 47 ปีของรัสเซีย ครั้งสุดท้ายที่รัสเซียส่งยานไปสำรวจดวงจันทร์คือเมื่อปี 2510 โดยยานลูนา-24 ซึ่งขณะนั้นยังเป็นสหภาพโซเวียตอยู่ 

บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์เป็นสถานที่ที่ยังไม่เคยมียานลำไหนไปสำรวจถึงพื้นผิวมาก่อน หากภารกิจลูนา-25 ประสบผลสำเร็จ ก็จะเป็นยานลำแรกที่ลงจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้ และถือได้ว่าเป็นการคืนสู่สังเวียนการสำรวจดวงจันทร์ยุคใหม่ของอดีตจ้าวแห่งอวกาศอย่างรัสเซียได้อย่างสง่างาม

ยานมีกำหนดที่จะลงจอดบนดวงจันทร์ในวันที่ 21 สิงหาคม แต่เมื่อสองวันก่อนถึงกำหนด การสื่อสารระหว่างมอสโกกับยานก็ขาดหายไป แม้จะมีความพยายามติดต่อกับยานตลอดสองวันต่อมา แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จนในที่สุด รอสคอสมอสก็ประกาศว่าภารกิจล้มเหลว ยานได้พุ่งชนดวงจันทร์ไปแล้ว

ยานลูนา 25 ขณะขึ้นจากแท่นส่งจรวดในท่าอวกาศยานวอสทอคนี (จาก ©Roscosmos/ZUMA Press Wire/ZUMAPRESS.com/Alamy)

การสอบสวนเบื้องต้นของรอสคอสมอสสันนิษฐานว่า ในขั้นตอนของการปรับทิศทางเพื่อเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ก่อนลงจอด เครื่องยนต์ปรับทิศของยานลูนา-25 ได้เดินเครื่องเป็นเวลา 127 วินาทีแทนที่จะเป็น 84 วินาทีดังที่ควรจะเป็น การปรับทิศทางจึงผิดพลาด เป็นเหตุให้ยานพุ่งไปผิดทิศจนชนดวงจันทร์ในที่สุด 

นอกจากยานลูนา-25 แล้ว รัสเซียยังมียานลูนา-26 ลูนา-27 และลูนา-28 อยู่ในแผนอีกด้วย การสูญเสียยานลูนา-25 ย่อมส่งผลกระทบรุนแรงต่ออนาคตของโครงการ รวมถึงการร่วมงานกับจีนในแผนการสร้างสถานีทดลองบนดวงจันทร์ในอนาคต

รัสเซียไม่ใช่เพียงชาติเดียวที่เล็งขั้วดวงจันทร์เป็นหลักชัย ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน และอินเดียก็กำลังมองไปที่ขั้วดวงจันทร์เหมือนกัน โดยเฉพาะอินเดียที่ได้ส่งยานจันทรยาน ไปถึงดวงจันทร์แล้ว และกำลังจะลงจอด เวลาที่กำหนดไว้คือ วันที่ 23 สิงหาคม เวลา 19:30 น. ตามเวลาประเทศไทย หากจันทรยาน ทำได้สำเร็จ อินเดียก็จะได้ชื่อว่าเป็นชาติแรกที่ส่งยานไปลงจอดบนขั้วดวงจันทร์ได้สำเร็จ

ยานอาร์เทมิส ของสหรัฐอเมริกาที่วางแผนไว้ว่าจะพามนุษย์ไปดวงจันทร์ในปี 2568 ก็มีเป้าหมายลงจอดอยู่บริเวณขั้วใต้ดวงจันทร์ และในปี 2569 หากไม่มีอะไรผิดพลาด ยานฉางเอ๋อ ของจีนก็จะไปลงจอดที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์เช่นกัน 

ที่มา: