สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดวงอาทิตย์ทำให้เกิดน้ำบนดวงจันทร์

ดวงอาทิตย์ทำให้เกิดน้ำบนดวงจันทร์

12 มี.ค. 2566
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ไม่ได้เขียนหัวข้อข่าวผิด นักดาราศาสตร์พบหลักฐานว่าดวงอาทิตย์ทำให้เกิดน้ำบนดวงจันทร์จริง 

เคยเป็นที่เข้าใจกันมานานว่าดวงจันทร์เป็นดินแดนที่แห้งสนิทไม่มีน้ำ แต่การศึกษาในช่วงหลังพบว่าดวงจันทร์มีน้ำมากกว่าที่เคยคิดไว้มาก มีการพบน้ำหลายแห่งบนดวงจันทร์ น้ำในที่นี้ไม่ได้อยู่ในรูปของห้วยหนองคลองบึงหรือทะเลสาบ แต่เป็นน้ำที่ฝังอยู่ในเนื้อฝุ่นทรายบนดวงจันทร์ นอกจากนี้นักดาราศาสตร์ยังเชื่อว่าอาจมีน้ำที่อยู่ในรูปของพืดน้ำแข็งสะสมอยู่ตามก้นหุบอันมืดมิดบริเวณขั้วทั้งสองด้วย

การค้นพบน้ำบนดวงจันทร์ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า มีน้ำบนดวงจันทร์อยู่มากเท่าใด มีอยู่ที่ใดบ้าง และที่สำคัญ น้ำเหล่านั้นมาจากไหน 

ทฤษฎีที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปอธิบายว่า น้ำส่วนหนึ่งบนดวงจันทร์มาจากดาวเคราะห์น้อย เพราะดาวเคราะห์น้อยมีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่มาก เมื่อดาวเคราะห์น้อยชนดวงจันทร์ ก็จะทิ้งน้ำเอาไว้บนพื้นผิว น้ำบนโลกส่วนหนึ่งก็มาจากเหตุเดียวกัน 

ล่าสุดการศึกษาของนักดาราศาสตร์จากจีนพบว่า แหล่งกำเนิดน้ำสำคัญให้แก่ดวงจันทร์อีกแหล่งหนึ่งก็คือ ดวงอาทิตย์

ดวงอาทิตย์ อาจมีส่วนทำให้เกิดน้ำบนดวงจันทร์ (จาก NASA)

แน่นอน บนดวงอาทิตย์ไม่มีน้ำ ดวงอาทิตย์จึงไม่ได้นำน้ำมาโดยตรง แต่ดวงอาทิตย์เป็นแหล่งกำเนิดไออนของไฮโดรเจนปริมาณมหาศาล ซึ่งไออนไฮโดรเจนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของน้ำ เมื่อไอออนของไฮโดรเจนในลมสุริยะพัดปะทะผิวดวงจันทร์ จะทำปฏิกิริยากับออกไซด์ในแร่บนดวงจันทร์ ทำให้เกิดน้ำขึ้นมา

ยานฉางเอ๋อ 

การค้นพบนี้เป็นผลงานของนักวิจัยจีนคณะหนึ่งนำโดย สวี อวี๋เฉิน และ เถียน เหิงชื่อ นักธรณีเคมีจากสำนักวิทยาศาสตร์จีน ซึ่งได้ศึกษาตัวอย่างเม็ดฝุ่นทรายจากดวงจันทร์ที่นำกลับมาโดยยานฉางเอ๋อ-5 เมื่อปี 2563

นักวิจัยคณะนี้พบว่าเม็ดทรายส่วนใหญ่มีไฮโดรเจนปนเปื้อนอยู่ในช่วง 1116 2516 ส่วนในล้านส่วนซึ่งถือว่าสูงมาก และมีสัดส่วนของดิวทีเรียมต่อไฮโดรเจนต่ำใกล้เคียงกับที่พบในลมสุริยะ เป็นหลักฐานที่สนับสนุนว่าไฮโดรเจนในส่วนนี้มาจากลมสุริยะ

แผนภูมิแสดงว่าเมื่อลมสุริยะพัดเข้าปะทะดวงจันทร์ ไอออนของไฮโดรเจนจะถูกกักอยู่บนเม็ดฝุ่นและทราย ไอออนไฮโดรเจนนี้อาจทำปฏิกิริยากับออกไซด์ในแร่ของดวงจันทร์ทำให้เกิดน้ำขึ้นมาได้  (จาก Prof. LIN Yangting’s group)

เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าเม็ดทรายบนดวงจันทร์กักเก็บไฮโดรเจนจากลมสุริยะที่เข้ามาปะทะได้ นักวิทยาศาสตร์คณะนี้จึงทดลองกับฝุ่นทรายที่อุณหภูมิต่าง ๆ พบว่าฝุ่นทรายดวงจันทร์กักเก็บไฮโดรเจนได้จริง และพบว่าความสามารถในการกักไฮโดรเจนของฝุ่นทรายขึ้นกับอุณหภูมิแวดล้อม โดยอุณหภูมิยิ่งต่ำ ทรายยิ่งกักไฮโดรเจนได้ดี นี่หมายความว่า โอกาสที่ไฮโดรเจนในลมสุริยะจะถูกกักไว้แล้วไปรวมกับออกซิเจนจนกลายเป็นน้ำจะมีสูงขึ้นในบริเวณที่อุณหภูมิเย็นบนดวงจันทร์ ได้แก่บริเวณขั้วและที่ละติจูดสูง

การค้นพบนี้ นับว่ามีประโยชน์มากในการวางแผนภารกิจสำรวจดวงจันทร์ในอนาคต และช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจการกระจายของน้ำบนดวงจันทร์รวมถึงต้นกำเนิดของน้ำบนโลกได้อีกด้วย