สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สุริยุปราคา 1 สิงหาคม 2551

สุริยุปราคา 1 สิงหาคม 2551

19 กรกฎาคม 2551
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 21 พฤษภาคม 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
วันศุกร์ที่ สิงหาคม 2551 เป็นวันเดือนดับ ตรงกับแรม 15 ค่ำ เดือน ตามปฏิทินจันทรคติ และเป็นเวลาก่อนพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ที่ปักกิ่งประมาณหนึ่งสัปดาห์ วันนั้นจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง แนวคราสเต็มดวงซึ่งเป็นเส้นทางแคบ ๆ บนพื้นผิวโลก ลากผ่านด้านตะวันออกของประเทศแคนาดา ตอนเหนือของกรีนแลนด์ มหาสมุทรอาร์กติก รัสเซีย มองโกเลีย และตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วนครอบคลุมตอนเหนือของยุโรปและแคนาดา เกือบทั้งหมดของทวีปเอเชีย ยกเว้นญี่ปุ่นและพื้นที่ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ในทะเลจีนใต้

ประเทศไทยอยู่ในพื้นที่ที่สามารถมองเห็นสุริยุปราคาครั้งนี้ได้โดยต้องใช้แผ่นกรองแสงหรือการสังเกตการณ์ทางอ้อมเพื่อป้องกันอันตรายจากแสงอาทิตย์ ดวงจันทร์เข้าบังบางส่วนของดวงอาทิตย์ในช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์อยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าจนกระทั่งตกลับขอบฟ้า ขณะที่ดวงอาทิตย์หายไปที่ขอบฟ้าก็ยังคงเกิดสุริยุปราคาอยู่ บริเวณที่มีโอกาสเห็นดวงอาทิตย์แหว่งมากที่สุดในประเทศไทยคือภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน ส่วนเวลาที่เกิดปรากฏการณ์จะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ เริ่มเวลา 18.02 น. ดวงอาทิตย์ถูกบังเต็มที่ขณะดวงอาทิตย์ตกด้วยสัดส่วน 54% ของเส้นผ่านศูนย์กลาง เวลาของปรากฏการณ์ในบางจังหวัด แสดงในตาราง

ดวงอาทิตย์ที่มองเห็นได้จากที่ต่าง ๆ ขณะดวงจันทร์เข้าบังเต็มที่ 

ขั้นตอนการเกิดสุริยุปราคา สิงหาคม 2551
สถานที่เริ่มบังเต็มที่ดวงอาทิตย์ตก
เวลาม.ย.มุมเงยเวลาม.ย.มุมเงยขนาดเวลาม.ย.มุมเงยขนาด
กรุงเทพฯ18.02 น.247°18.44 น.297°0.538----
เชียงใหม่17.54 น.244°14°18.45 น.316°0.65318.57 น.350°0.581
นครราชสีมา17.59 น.245°18.39 น.291°0.558----
นครศรีธรรมราช18.12 น.251°18.39 น.278°0.339----
นราธิวาส18.15 น.252°18.29 น.264°0.184----
ประจวบคีรีขันธ์18.06 น.248°18.44 น.293°0.478----
ภูเก็ต18.14 น.252°18.44 น.285°0.351----
ระยอง18.04 น.247°18.39 น.286°0.484----
สงขลา18.14 น.252°18.35 น.271°0.265----
สุโขทัย17.57 น.245°12°18.46 น.315°0.62118.51 น.328°0.611
อุบลราชธานี17.58 น.244°18.28 น.271°0.484----


หมายเหตุ :
"ขนาด" หมายถึงสัดส่วนที่ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ วัดตามแนวเส้นผ่านศูนย์กลางของดวงอาทิตย์ ยิ่งมีค่ามากแสดงว่าดวงอาทิตย์ยิ่งแหว่งเว้ามาก (0.5 หมายถึงดวงอาทิตย์ถูกบังครึ่งดวง เป็นต้น)
ม.ย. ย่อจาก มุมจุดยอด (vertex angle V.A.) มีหน่วยเป็นองศา หมายถึงมุมที่วัดจากด้านบนสุดของดวงอาทิตย์ กวาดทวนเข็มนาฬิกาไปทางซ้ายที่ 90 องศา ด้านล่างที่ 180 องศา และขวามือที่ 270 องศา ใช้บอกตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์แหว่งโดยเทียบกับจุดเหนือศีรษะและขอบฟ้าของผู้สังเกต
จากตารางแสดงว่าส่วนใหญ่ของประเทศเห็นดวงอาทิตย์แหว่งมากที่สุดขณะดวงอาทิตย์ตก สำหรับภาคเหนือ เวลาบังเต็มที่เกิดก่อนเวลาดวงอาทิตย์ตกเล็กน้อย
ในความเป็นจริง ดวงอาทิตย์อาจถูกเมฆหมอกใกล้ขอบฟ้าบดบังหายไปก่อนที่จะลับขอบฟ้าจริง ๆ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและสภาพแวดล้อม ณ จุดสังเกตการณ์
โดยปกติเวลาดวงอาทิตย์ตกหมายถึงเวลาที่ขอบด้านบนของดวงอาทิตย์แตะขอบฟ้า แต่ในตารางนี้ใช้เวลาเมื่อขอบด้านล่างของดวงอาทิตย์แตะขอบฟ้า สองเวลานี้ห่างกันประมาณ นาที
คำนวณโดยอาศัย Besselian elements ซึ่งเป็นข้อมูลเบื้องต้นโดย Fred Espenak จากองค์การนาซา
อำเภอเมืองของจังหวัดอื่น ๆ ดูได้จากตารางเวลาสำหรับทุกจังหวัดทั่วประเทศ

สุริยุปราคาบางส่วนเป็นปรากฏการณ์ที่ห้ามดูด้วยตาเปล่า จำเป็นต้องมีแว่นกรองแสงหรือแผ่นกรองแสงที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับส่องดูดวงอาทิตย์และอาจใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีแผ่นกรองแสงปิดบังหน้ากล้อง นอกจากนี้เรายังสามารถสังเกตปรากฏการณ์ทางอ้อมได้โดยฉายภาพดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาลงบนฉากรับภาพ แล้วดูดวงอาทิตย์ที่ปรากฏบนฉาก แต่ควรเฝ้าระวังอย่าให้เด็กหรือผู้ที่ไม่รู้มองเข้าไปในกล้อง


วัสดุกรองแสงที่ไม่ปลอดภัยและควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ กระจกรมควัน แว่นกันแดด กระดาษห่อลูกอม แผ่นดิสเก็ตต์ ฟิล์มเอกซ์เรย์ ฟิล์มถ่ายรูป ฯลฯ อย่านำมาใช้ดูดวงอาทิตย์ แม้ว่าวัสดุเหล่านี้จะมีความสามารถในการกรองแสงย่านแสงขาว แต่รังสีอินฟราเรดสามารถทะลุผ่านได้และจะเป็นอันตรายต่อดวงตา

สำหรับผู้ที่ไม่มีแผ่นกรองแสงหรือทัศนูปกรณ์อื่น อาจใช้วัสดุง่าย ๆ ในบ้านมาช่วยในการสังเกตสุริยุปราคาโดยใช้หลักการของกล้องรูเข็ม สิ่งที่ต้องมีคือกระจกเงาบานเล็ก กระดาษขนาดใหญ่กว่ากระจก มีดคัตเตอร์หรือกรรไกร และเทปกาว วิธีทำคือ นำกระดาษมาเจาะรูเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด เซนติเมตร (อาจใช้มีดกรีดโดยตรงหรือพับกระดาษแล้วใช้กรรไกรตัด) จากนั้นนำไปประกบกับบานกระจกด้วยเทปกาว เวลาใช้งานให้นำกระจกเงาดังกล่าวไปสะท้อนแสงอาทิตย์ให้แสงสะท้อนไปตกบนผนังสีอ่อนหรือฉากรับภาพสีขาวที่อยู่ในบ้าน ภาพที่เห็นบนฉากจะเป็นภาพสะท้อนของดวงอาทิตย์


เมื่อเกิดสุริยุปราคา ดวงกลมที่เห็นบนฉากจะแหว่งตามลักษณะดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า ขนาดของดวงอาทิตย์บนฉากแปรผันตามระยะห่างระหว่างกระจกกับฉากรับภาพ โดยที่ระยะหนึ่งเมตรจะได้ภาพดวงอาทิตย์ขนาดประมาณ มิลลิเมตร ดังนั้นที่ระยะห่าง 10 เมตร จะได้ภาพดวงอาทิตย์ขนาด เซนติเมตร วิธีนี้ทำให้เราสามารถสังเกตสุริยุปราคาได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นอันตรายต่อดวงตา แต่พึงระวังอย่าให้ใครที่เดินผ่านไปมามีโอกาสหันมามองแสงอาทิตย์ที่สะท้อนออกไปจากกระจก ด้วยหลักการเดียวกันนี้ หากมีต้นไม้อยู่ใกล้ ๆ เราอาจสังเกตเห็นว่าแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านช่องระหว่างใบไม้แล้วไปตกบนพื้นหรือผนังก็มีลักษณะแหว่งเว้าตามดวงอาทิตย์ด้วยเช่นกัน

โดยปกติการดูดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าเป็นสิ่งที่นักดาราศาสตร์ห้ามอย่างเด็ดขาด แต่สำหรับสุริยุปราคาครั้งนี้ จังหวะที่ดวงอาทิตย์อยู่ใกล้ขอบฟ้ามาก คือตอนที่มันเกือบจะตกลับขอบฟ้าแล้ว แสงอาทิตย์จะอ่อนลงจนอาจมองดูด้วยตาเปล่าได้เป็นเวลาสั้น ๆ อย่างไรก็ตาม พึงจำไว้เสมอว่าอย่าจ้องดูดวงอาทิตย์เป็นเวลานานเกิน 2-3 วินาทีต่อครั้ง เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง (ย้ำอีกครั้งว่าเฉพาะตอนที่ดวงอาทิตย์ใกล้แตะขอบฟ้าเท่านั้น)

หลังจากครั้งนี้ ต้นปี 2552 ประเทศไทยจะมีโอกาสสังเกตสุริยุปราคาบางส่วนในช่วงบ่ายถึงเย็นของวันจันทร์ที่ 26 มกราคม 2552 คาดว่าน่าจะมีโอกาสสังเกตการณ์ได้ดีเนื่องจากยังเป็นปลายฤดูหนาวซึ่งมีแนวโน้มว่าสภาพท้องฟ้าโดยส่วนใหญ่ของประเทศไทยน่าจะปลอดโปร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ภาคกลางขึ้นไป