สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สุริยุปราคา 22 กรกฎาคม 2552

สุริยุปราคา 22 กรกฎาคม 2552

20 กรกฎาคม 2552
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 15 พฤษภาคม 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
เช้าวันพุธที่ 22 กรกฎาคม 2552 จะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง เส้นทางคราสเต็มดวงผ่านหลายประเทศในเอเชีย แต่ไม่ผ่านประเทศไทย เราจึงจะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากดวงจันทร์เข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปีเมื่อเวลาประมาณตี ของวันเดียวกัน และเกิดหลังจากที่ดวงอาทิตย์อยู่ไกลจากโลกมากที่สุด 2-3 สัปดาห์ ทำให้ดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสาเหตุให้สุริยุปราคาครั้งนี้มีระยะเวลามืดเต็มดวงยาวนานมาก

สุริยุปราคาเริ่มต้นเมื่อเงามัวของดวงจันทร์เริ่มแตะผิวโลกในเวลา 6:58 น. ตามเวลาประเทศไทย ตรงบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกของอินเดีย ศูนย์กลางเงามืดเริ่มแตะผิวโลกเมื่อเวลาประมาณ 7:53 น. ในบริเวณอ่าวแคมเบย์ซึ่งอยู่ทางชายฝั่งด้านทิศตะวันตก ที่นั่นเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงขณะดวงอาทิตย์ขึ้น นาน นาที วินาที จากนั้นเงามืดเคลื่อนไปทางตะวันออก ผ่านเนปาล บังกลาเทศ ภูฏาน และตอนเหนือสุดของพม่า เข้าสู่ประเทศจีนในเวลาประมาณ 8:05 น. โดยผ่านเฉิงตูและนครเซี่ยงไฮ้

แผนที่แสดงบริเวณที่มองเห็นสุริยุปราคา 22 กรกฎาคม 2552 

เงามืดลงสู่ทะเลจีนตะวันออก พาดผ่านทางเหนือของหมู่เกาะริวกิวและอิโวะจิมะทางตอนใต้ของญี่ปุ่น แล้วเริ่มบ่ายหน้าลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ จุดที่เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงนานที่สุดอยู่ในมหาสมุทรด้วยระยะเวลานาน นาที 39 วินาที โดยเกิดขึ้นในเวลา 9:29 น. ใกล้หมู่เกาะโบนิน นับว่ายาวนานที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 21

ช่วงท้ายของปรากฏการณ์ เงามืดผ่านเกาะเล็ก ๆ ในหมู่เกาะมาร์แชล ก่อนจะสิ้นสุดในมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อเวลา 11:18 น. ที่นั่นเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงขณะดวงอาทิตย์ตกเป็นระยะเวลานาน นาที วินาที สุริยุปราคาในวันนี้จะสิ้นสุดเมื่อเงามัวของดวงจันทร์หลุดออกจากผิวโลกในเวลา 12:12 น. ใกล้เกาะวอลลิสและฟูตูนา ซึ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ แห่งหนึ่งของฝรั่งเศส ในมหาสมุทรแปซิฟิก

เส้นทางสุริยุปราคาเต็มดวง 22 กรกฎาคม 2552 ขณะผ่านทวีปเอเชีย ก่อนลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก กรอบสี่เหลี่ยมระบุเวลา ความยาวนานของสุริยุปราคาเต็มดวงที่จุดศูนย์กลางเงา และมุมเงยของดวงอาทิตย์ ลงตำแหน่งเมืองที่มีประชากรมากกว่า ล้านคน (เวลาในภาพเป็นเวลาประเทศไทย) 

บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วนครอบคลุมส่วนใหญ่ของทวีปเอเชีย มหาสมุทรแปซิฟิก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกเว้นทางใต้ของอินโดนีเซีย ภาคเหนือและภาคอีสานตอนบนของประเทศไทย มีโอกาสเห็นดวงอาทิตย์แหว่งมากกว่าภาคอื่น ๆ ซึ่งตรงข้ามกับสุริยุปราคาเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยดวงอาทิตย์จะเริ่มแหว่งทางซ้ายมือด้านบนและไปสิ้นสุดทางซ้ายมือด้านล่าง

ดวงอาทิตย์ที่มองเห็นได้จากที่ต่าง ๆ ขณะดวงจันทร์เข้าบังเต็มที่ 

ขั้นตอนการเกิดสุริยุปราคา 22 กรกฎาคม 2552
สถานที่เริ่มบังเต็มที่สิ้นสุด
เวลามุมเงยเวลามุมเงยขนาดเวลามุมเงย
กรุงเทพฯ07:07 น.15°08:04 น.28°0.52109:09 น.43°
ขอนแก่น07:06 น.17°08:07 น.31°0.59409:16 น.47°
เชียงใหม่07:02 น.14°08:03 น.27°0.69909:12 น.43°
นครราชสีมา07:07 น.16°08:06 น.30°0.55009:13 น.46°
นครศรีธรรมราช07:14 น.14°08:04 น.26°0.35108:59 น.39°
นราธิวาส07:20 น.16°08:06 น.27°0.27308:58 น.39°
ประจวบคีรีขันธ์07:08 น.14°08:03 น.26°0.46309:05 น.41°
ภูเก็ต07:13 น.12°08:02 น.24°0.34608:56 น.36°
ระยอง07:09 น.15°08:05 น.28°0.48009:09 น.43°
สงขลา07:17 น.15°08:05 น.26°0.30708:58 น.38°
สุโขทัย07:04 น.14°08:04 น.28°0.63409:11 น.44°
อุบลราชธานี07:09 น.20°08:10 น.34°0.54209:19 น.50°


หมายเหตุ :

มุมเงย คือ มุมที่วัดจากขอบฟ้า ขึ้นไปหาตำแหน่งดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า
ขนาด คือ สัดส่วนที่ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ วัดตามแนวเส้นผ่านศูนย์กลางของดวงอาทิตย์ ยิ่งมีค่ามากแสดงว่าดวงอาทิตย์ยิ่งแหว่งเว้ามาก (0.5 หมายถึงดวงอาทิตย์ถูกบังครึ่งดวง เป็นต้น)
อำเภอเมืองของจังหวัดอื่น ๆ และรายละเอียดเพิ่มเติม ดูได้จากตารางเวลาสำหรับทุกจังหวัดทั่วประเทศ
ดวงอาทิตย์มีแสงจ้ามาก ห้ามดูด้วยตาเปล่า การสังเกตสุริยุปราคาบางส่วน ต้องใช้แผ่นกรองแสงหรือสังเกตการณ์ทางอ้อม เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงอันตรายจากแสงอาทิตย์ โดยแผ่นกรองแสงหรือแว่นกรองแสงต้องเป็นชนิดที่ออกแบบมาสำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ หากดูผ่านกล้องโทรทรรศน์ก็ต้องมีแผ่นกรองแสง เช่น แผ่นไมลาร์ ปิดบังหน้ากล้อง

วิธีสังเกตสุริยุปราคาบางส่วนที่ปลอดภัย คือการสังเกตทางอ้อม ได้แก่ การให้แสงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาลงไปปรากฏบนฉากรับภาพ อีกวิธีซึ่งทำได้ง่าย คือใช้หลักการของกล้องรูเข็ม นำกระดาษมาเจาะรูขนาดประมาณ เซนติเมตร ไปปิดที่กระจกเงา แล้วนำกระจกเงาบานนั้นไปรับแสงอาทิตย์ ให้แสงสะท้อนไปตกบนผนังสีอ่อนหรือฉากรับภาพสีขาวที่อยู่ในที่ที่แสงอาทิตย์ส่องไม่ถึง เมื่อเกิดสุริยุปราคา ภาพดวงอาทิตย์บนฉากจะแหว่งตามลักษณะดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า หากมีต้นไม้อยู่ใกล้ ๆ อาจสังเกตเห็นว่าแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านช่องระหว่างใบไม้แล้วไปตกบนพื้นหรือผนัง ก็มีลักษณะแหว่งเว้าตามดวงอาทิตย์

ต้นปีหน้าจะเกิดสุริยุปราคาขึ้นอีกครั้งในบ่ายวันศุกร์ที่ 15 มกราคม 2553 เป็นสุริยุปราคาวงแหวน เส้นทางคราสพาดผ่านทวีปแอฟริกา มหาสมุทรอินเดีย ทางใต้ของประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า และจีน ประเทศไทยอยู่นอกแนวคราสวงแหวน จึงเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน