องค์การนาซาได้สูญเสียมาร์สไคลเมตออร์บิเตอร์ ยานอวกาศสำรวจดาวอังคารไปแล้ว หลังจากที่ยานเดินทางไปถึงดาวอังคารได้ไม่กี่นาที
ยานมาร์สไคลเมตออร์บิเตอร์ได้เดินทางไปถึงดาวอังคารเมื่อเวลา9.01 น. ของวันที่ 23 กันยายน 2542 ตามเวลาสากล จากนั้นได้จุดจรวดชลอความเร็วเพื่อเข้าโคจรรอบดาวอังคาร ยานได้อ้อมหลังดาวอังคารไปพร้อม ๆ กับที่สัญญาณจากยานได้เงียบหายไป อีก 20 นาทีต่อมา ซึ่งเป็นเวลาที่ยานจะต้องปรากฏออกมาที่อีกด้านหนึ่งของดาวอังคารและส่งสัญญาณตอบกลับมา แต่ศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินกลับไม่ได้รับสัญญาณใด ๆ เลยแม้จะพยายามอยู่หลายครั้งก็ตาม
จากการสืบสวนหาสาเหตุเบื้องต้นเชื่อว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากการคำนวณผิดพลาดของทีมงานวิศวกร เนื่องจากวิศวกรกลุ่มหนึ่งได้ใช้มาตราอังกฤษในขณะที่กลุ่มอื่นใช้มาตราเมตริก จึงทำให้ยานประมาณความสูงจากพื้นผิวผิดพลาด โดยในช่วงที่ยานเข้าเฉียดดาวอังคารนั้น ยานอยู่สูงจากพื้นผิวเพียง 57 กิโลเมตรเท่านั้น ในขณะที่ระยะที่กำหนดไว้คือ 140 - 150 กิโลเมตร และมีระยะต่ำที่สุดที่ยอมรับได้ที่ 85 กิโลเมตร จากการที่ยานเข้าใกล้ดาวมากเกินไปนี้ เชื่อว่ายานได้เสียหายจากความร้อนและความเค้นที่เกิดจากการเสียดสีกับบรรยากาศของดาวอังคาร
หน้าที่หนึ่งของยานมาร์สไคลเมตออร์บิเตอร์นอกเหนือจากสำรวจสภาพภูมิอากาศของดางอังคารก็คือเป็นสถานีถ่ายทอดสัญญาณระหว่างสถานีบนโลก กับยานมาร์สโพลาร์แลนเดอร์ ซึ่งจะร่อนลงจอดลงบนบริเวณขั้วดาวอังคารในปลายปีนี้ แต่โชคยังดีที่ยานมาร์สโพลาร์แลนเดอร์มีอุปกรณ์สื่อสารที่สามารถสื่อสารกับโลกได้โดยตรง ถึงแม้ว่าอัตราการส่งถ่ายข้อมูลจะช้ากว่าก็ตาม นอกจากนี้ ยานมาร์สโกลบัลเซอร์เวเยอร์ที่ยังโคจรรอบดาวอังคารอยู่ ยังสามารถทำหน้าที่เป็นสถานีถ่ายทอดได้อีกด้วย
การสูญเสียครั้งนี้คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับยานมาร์สออบเซอร์เวอร์ซึ่งเป็นยานสำรวจดาวอังคารของนาซาเหมือนกัน มาร์สออบเซอร์เวอร์ได้ขาดการติดต่อไปอย่างไม่มีร่องรอยเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2536 ก่อนที่จะเดินทางถึงเป้าหมายเพียงสามวัน
ยานมาร์สไคลเมตออร์บิเตอร์ได้เดินทางไปถึงดาวอังคารเมื่อเวลา
จากการสืบสวนหาสาเหตุเบื้องต้น
หน้าที่หนึ่งของยานมาร์สไคลเมตออร์บิเตอร์นอกเหนือจากสำรวจสภาพภูมิอากาศของดางอังคารก็คือ
การสูญเสียครั้งนี้คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับยานมาร์สออบเซอร์เวอร์