หลังจากการปฏิบัติภารกิจอันยาวนานถึง 13 ปีและโคจรรอบดาวพฤหัสบดีมาถึง 34 รอบ ยานกาลิเลโอได้จบสิ้นภารกิจลงแล้วอย่างสมเกียรติ
เมื่อวันที่28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้ควบคุมยานกาลิเลโอขององค์การนาซาได้ปิดเครื่องบันทึกแถบข้อมูลหน่วยความจำและปิดการสื่อสารระหว่างยานกับโลกลง เป็นการยุติภารกิจอันยาวนานของกาลิเลโอ
อย่างไรก็ตามขณะนี้ยานยังคงโคจรรอบดาวพฤหัสบดีต่อไปด้วยวงโคจรที่รีมาก และมีกำหนดพุ่งเข้าชนดาวพฤหัสบดีบริเวณเส้นศูนย์สูตรในวันที่ 21 กันยายน 2546
หลังจากยานได้รับรังสีความเข้มสูงจากดาวพฤหัสบดีขณะที่เข้าเฉียดดวงจันทร์อามาลเทียในช่วงเดือนพฤศจิกายน2545 คอมพิวเตอร์ของยานก็เริ่มมีอาการผิดปรกติ แม้ทางวิศวกรสามารถแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็พบกับอุปสรรคอย่างอื่นอีกที่ทำให้หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องยุติภารกิจ นั่นคือ เชื้อเพลิงบนยานที่ใกล้จะหมด รวมทั้งเงินทุนที่สนับสนุนโครงการก็ใกล้หมดเช่นกัน
แม้ทางภาคพื้นดินจะตัดการสื่อสารกับยานไปแล้วแต่อุปกรณ์บางตัวบนยานยังคงทำงานต่อไปและส่งข้อมูลกลับมาแบบเวลาจริงจนถึงเดือนกันยายน
ยานกาลิเลโอขึ้นสู่อวกาศในเดือนตุลาคม2532 จากยานขนส่งอวกาศแอตแลนทิส ยานได้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในภารกิจสำรวจดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์บริวาร ทั้งที่ในตอนต้นของโครงการเกือบล้มเหลวเนื่องจากมีปัญหาในการกางจานสายอากาศกำลังสูง และปัญหานี้ก็แก้ไขไม่ได้เลยจนถึงโครงการสิ้นสุด ดังนั้น ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาการสื่อสารทั้งหมดจะกระทำผ่านสายอากาศสำรองกำลังต่ำ ซึ่งมีอัตราการส่งข้อมูลช้ามาก แม้ว่าปัญหาของสายอากาศกำลังสูงทำให้ยานปฏิบัติภารกิจบางอย่างไม่ได้ แต่เมื่อมองโดยรวมแล้ว ถือว่ายานทำงานได้เกินกว่าที่วางไว้มาก
แผนดั้งเดิมของโครงการกำหนดให้สิ้นสุดในเดือนธันวาคม2540 แต่ยานสามารถทำงานได้นานกว่ากำหนดถึง 6 ปี และในช่วงของปฏิบัติการภาคต่อเนื่องนี้ได้ค้นพบสิ่งสำคัญต่าง ๆ มากมาย เช่นแมกนีโตสเฟียร์และสนามแม่เหล็กของแกนีมีด และหลักฐานที่แสดงว่ามีมหาสมุทรใต้พื้นดินของดวงจันทร์น้ำแข็งดวงนี้ด้วย
อุปกรณ์ที่ถือเป็นพระเอกของยานกาลิเลโอคือหัววัดบรรยากาศซึ่งสามารถทำงานได้อย่างยอดเยี่ยมเต็มประสิทธิภาพตลอดอายุของยาน
ส่วนนักวิทยาศาสตร์ของโครงการนี้จะโอนไปทำงานกับโครงการอื่นของเจพีแอล เช่นแคสซินีและ 2001 มาร์สโอดิสซีย์หลังจากโครงการนี้สิ้นสุดลง แต่หลังจากนี้คณะทำงานของกาลิเลโอจะกลับมาพบกันอีกครั้งในวันที่ 21 กันยายน เพื่อฉลองและร่วมเป็นสักขีพยานในการรับสัญญาณเฮือกสุดท้ายจากกาลิเลโอขณะพุ่งชนดาวพฤหัสบดี
เมื่อวันที่
อย่างไรก็ตาม
หลังจากยานได้รับรังสีความเข้มสูงจากดาวพฤหัสบดีขณะที่เข้าเฉียดดวงจันทร์อามาลเทียในช่วงเดือนพฤศจิกายน
แม้ทางภาคพื้นดินจะตัดการสื่อสารกับยานไปแล้ว
ยานกาลิเลโอขึ้นสู่อวกาศในเดือนตุลาคม
แผนดั้งเดิมของโครงการกำหนดให้สิ้นสุดในเดือนธันวาคม
อุปกรณ์ที่ถือเป็นพระเอกของยานกาลิเลโอคือ
ส่วนนักวิทยาศาสตร์ของโครงการนี้