สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เผยภาพยานสลิมลงจอดบนดวงจันทร์ผิดท่า

เผยภาพยานสลิมลงจอดบนดวงจันทร์ผิดท่า

26 ม.ค. 2567
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการสำรวจอวกาศ ด้วยการเป็นชาติที่ห้าที่ประสบความสำเร็จในการส่งยานไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ 

ยานสลิม  (จาก JAXA)

ยานสลิม (SLIM--Smart Lander for Investigating Moon) ได้ลงสัมผัสพื้นผิวเมื่อเวลา 22:20 น.ตามเวลาประเทศไทย ข้อมูลจากยานได้ส่งมาถึงศูนย์ควบคุมบนโลกแสดงว่ายานได้ลงถึงพื้นในสภาพดี ไม่เสียหาย แต่พบว่าแผงเซลล์สุริยะของยานไม่ผลิตไฟฟ้าออกมา  ในเบื้องต้นวิศวกรสันนิษฐานว่ายานอาจจอดในทิศทางที่ทำให้แสงอาทิตย์ไม่ตกกระทบแผงเซลล์สุริยะ และยังมองในแง่ดีว่า เมื่อเวลาผ่านไปหลายวัน เมื่อตำแหน่งดวงอาทิตย์เปลี่ยน แผงเซลล์สุริยะก็อาจได้รับแสงและผลิตกระแสไฟฟ้าออกมาได้

วันนี้ (25 มกราคม) มีความคืบหน้าจากภารกิจนี้ ยาน โซรา-คิว (Sora-Q) ซึ่งเป็นยานลูกของยานสลิมที่ได้แยกตัวออกมาจากยานระหว่างกำลังจะลงจอดบนพื้นผิว ได้ส่งภาพถ่ายยานสลิมจากพื้นผิวดวงจันทร์กลับมา ทำให้ได้พบสาเหตุที่แท้จริงที่แผงเซลล์สุริยะไม่ผลิตกระแสไฟฟ้า

ภาพยานสลิมที่ลงจอดบนดวงจันทร์ ถ่ายโดยยานโซรา-คิว ซึ่งเป็นยานลูกของยานสลิม แสดงถึงการวางท่าจอดในแบบหัวปักดิน เป็นเหตุให้แผงเซลสุริยะไม่ผลิตกระแสไฟฟ้า (จาก Image credit: JAXA/Takara Tomy/Sony Group Corporation/Doshisha University)

ยานสลิมไม่ได้หันทิศผิด แต่ลงจอดผิดท่า แทนที่ยานจะลงจอดในแบบนอนตะแคงตามที่ออกแบบไว้ กลับลงจอดในแบบหัวปักดิน

องค์การอวกาศญี่ปุ่นหรือแจ็กซา (JAXA) ยังได้เปิดเผยถึงสาเหตุที่ยานลงจอดผิดไปจากที่ออกแบบไว้ว่า เป็นเพราะเครื่องไอพ่นควบคุมทิศทางสองเครื่องทำงานล้มเหลวในระหว่างลงจอด ยานจึงเสียการควบคุมการวางทิศไป 

แม้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทำให้ยานมีชั่วโมงทำงานสั้นมาก แต่ก็ถือว่าภารกิจนี้ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในด้านความแม่นยำในการกำหนดตำแหน่งลงจอด ซึ่งยานตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องลงจอดในจุดที่กำหนดโดยคลาดเคลื่อนได้ไม่เกิน 100 เมตร แต่ข้อมูลที่ยานส่งกลับมาแสดงว่า ยานลงจอดห่างจากเป้าหมายเพียง 55 เมตรเท่านั้น นอกจากนี้หัวหน้าภารกิจสลิมยังกล่าวว่า หากไม่เกิดปัญหากับเครื่องไอพ่นสองเครื่องนั้นแล้ว ยานอาจลงจอดได้ตรงเป้าหมายในระยะ 3-4 เมตรเลยทีเดียว

นอกจากยานโซรา-คิว แล้ว ยานสลิมยังมียานลูกอีกลำหนึ่งคือ แอลอีวี-1 (LEV-1) ซึ่งมีกล้องและสายอากาศสื่อสาร ยานแอลอีวี-1 ยังมีหน้าที่ถ่ายทอดสัญญาณภาพจากยานโซรา-คิวแล้วส่งมายังโลกอีกด้วย 

ขณะนี้ยานสลิมได้ปิดการทำงานบนยานไปแล้ว แต่ภารกิจยังไม่ถือว่าสิ้นสุด แจ็กซายังมีความหวังว่าจะมีโอกาสที่แสงอาทิตย์จะมาส่องถูกแผงเซลล์สุริยะ เมื่อนั้นยานก็อาจจะฟื้นคืนชีพกลับมาได้อีกครั้ง