เมื่อเวลา 11:01 น. ตามเวลาของไทยของวันนี้ (7 กันยายน 2567) ยานสตาร์ไลเนอร์ของโบอิ้งที่เพิ่งกลับมาจากสถานีอวกาศนานาชาติได้ลงจอดที่ทะเลทรายในนิวเมกซิโกเป็นที่เรียบร้อย เป็นการจบภารกิจอย่างสมบูรณ์
แต่การจบภารกิจครั้งนี้ต่างไปจากที่วางแผนไว้ตั้งแต่แรกอย่างสิ้นเชิง
ยานสตาร์ไลเนอร์ลำนี้มีชื่อว่าคาลิปโซ ได้ขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน มีมนุษย์อวกาศโดยสารไปด้วยสองคน คือ สุนิตา วิลเลียมส์ และ บุตช์ วิลมอร์ เป็นภารกิจทดสอบครั้งที่สามของยานรุ่นนี้และเป็นครั้งแรกที่มีมนุษย์อวกาศ ภารกิจนี้มีระยะเวลาเพียง 10 วัน เพราะเป็นภารกิจทดสอบ เพื่อให้แน่ใจเสียก่อนว่ายานอวกาศรุ่นใหม่ล่าสุดของโบอิ้งรุ่นนี้มีความปลอดภัยพอที่จะขนส่งมนุษย์ระหว่างโลกกับสถานีอวกาศนานาชาติได้ หากภารกิจผ่านพ้นไปด้วยดี ก็จะได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติภารกิจเต็มรูปแบบซึ่งจะขนส่งมนุษย์อวกาศได้คราวละ 4-7 คน และปฏิบัติหน้าที่อยู่บนวงโคจรได้นานถึงหกเดือน
หลังจากที่กระสวยอวกาศขององค์การนาซาปลดระวางไปในปี2554 ทำให้สหรัฐอเมริกาไม่มียานอวกาศของตัวเองในการรับส่งมนุษย์ระหว่างโลกกับสถานีอวกาศนานาชาติ นาซาจึงต้องเร่งพัฒนายานของตัวเองขึ้นมาทำหน้าที่นี้ มีบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่สองบริษัทได้รับอนุมัตในการพัฒนายานอวกาศให้แก่นาซา นั่นคือ สเปซเอกซ์ และ โบอิ้ง ยานของสเปซเอกซ์มีชื่อว่า ครูดรากอน ส่วนยานของโบอิ้งมีชื่อว่า สตาร์ไลเนอร์
สเปซเอกซ์ทำได้สำเร็จก่อนหลังจากส่งยานครูดรากอนไปปฏิบัติภารกิจทดสอบสองเที่ยวบิน ก็ได้รับการรับรองจากนาซาในปี 2563 ให้ปฏิบัติภารกิจเต็มรูปแบบได้ จนถึงปัจจุบัน ยานครูดรากอนปฏิบัติภารกิจเต็มรูปแบบมาแล้ว 8 เที่ยวบิน
ยานสตาร์ไลเนอร์ลำแรกสร้างสำเร็จเมื่อปี2562 ในภารกิจทดสอบครั้งแรกของยานซึ่งเป็นการนำยานไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติโดยไม่มีลูกเรือประสบความล้มเหลว ยานไปไม่ถึงวงโคจร ต้องยกเลิกกลางคัน หลังจากนั้นวิศวกรของโบอิ้งก็พบว่ายานลำแรกมีความบกพร่องหลายรายการยาวเหยียด จึงต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการแก้ไขปัญหา
ภารกิจทดสอบที่สองของสตาร์ไลเนอร์ขึ้นสู่อวกาศในเดือนพฤษภาคม2565 ยานเข้าเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติได้สำเร็จและกลับสู่โลกได้อย่างราบรื่น แม้จะพบปัญหาเกี่ยวกับจรวดปรับทิศบ้าง
ภารกิจทดสอบแบบมีมนุษย์ครั้งแรกของสตาร์ไลเนอร์พบอุปสรรคมากมายตั้งแต่ยังไม่ออกเดินทางทั้งปัญหาเรื่องร่มชูชีพ เรื่องวัสดุที่ไวไฟ และฮีเลียมรั่วไหล การส่งจรวดต้องเลื่อนไปหลายครั้ง จนในที่สุดยานก็ได้ออกเดินทางในวันที่ 6 มิถุนายน โดยจรวดแอตลัส 5 ของยูแอลเอ ยานได้เข้าเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศได้สำเร็จ แม้ก่อนเข้าเชื่อมต่อจะพบปัญหาเกี่ยวกับจรวดปรับทิศทางบางตัวไม่ทำงานก็ตาม
ปัญหาบางข้อที่พบนี้ทำให้นาซาต้องเลื่อนกำหนดการกลับสู่โลกออกไปจนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไขและแน่ใจว่าปลอดภัยพอที่จะนำมนุษย์กลับสู่โลก แต่ปัญหาก็ไม่อาจแก้ไขได้ทั้งหมด กำหนดกลับโลกก็ถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก จนเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม นาซาตัดสินใจให้ยานสตาร์ไลเนอร์กลับโลกโดยไม่มีมนุษย์แทน เพราะไม่แน่ใจเรื่องความปลอดภัย แม้ทางโบอิ้งไม่สู้เห็นด้วยนัก เพราะยังเชื่อว่ายานยังปลอดภัยพอจะนำมนุษย์กลับได้ แต่แน่นอนว่านาซาไม่ต้องการเอาชีวิตมนุษย์ไปเสี่ยง ส่วนวิลเลียมส์และวิลมอร์ก็ให้ปฏิบัติงานอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติต่อไป แผนสำหรับการกลับบ้านของสองคนนี้ ณ ขณะนี้คือ จะใช้ยานครูดรากอนลำใหม่ไปรับกลับมา ซึ่งกำหนดกลับคือเดือนกุมภาพันธ์ปี 2568
ยานสตาร์ไลเนอร์แยกตัวออกจากสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อวันที่7 กันยายน เวลา 06:04 น. ตามเวลาประเทศไทย กระบวนการกลับโลกตั้งแต่แยกตัว ปรับวงโคจร การจุดจรวดเพื่อทิ้งวงโคจร การกางร่มชูชีพ การควบคุมจุดลงจอด เป็นไปตามขั้นตอนทุกอย่าง ณ ขณะนี้ไม่พบว่ามีความผิดพลาดแต่อย่างใด
สตีฟสติช ผู้จัดการด้านภารกิจมีมนุษย์ของนาซาถึงกับกล่าวว่า หากวิลมอร์กับวิลเลียมส์นั่งมาในยานลำนี้ด้วย ก็จะกลับถึงพื้นอย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตามเขาก็ยังให้ความเห็นว่า การตัดสินใจไม่เสี่ยงเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว
แผนเดิมที่วางไว้สำหรับสตาร์ไลเนอร์หากภารกิจทดสอบแบบมีลูกเรือประสบความสำเร็จทุกอย่างก็คือจะเริ่มภารกิจเต็มรูปแบบในการรับส่งมนุษย์อวกาศระหว่างโลกกับสถานีอวกาศนานาชาติในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ในชื่อภารกิจว่า สตาร์ไลเนอร์-1 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับภารกิจทดสอบนี้ย่อมทำให้กำหนดการดังกล่าวต้องถูกเลื่อนออกไปอย่างน้อยก็ถึงเดือนสิงหาคม หรืออาจแย่กว่านั้น สตาร์ไลเนอร์อาจไม่ได้รับไฟเขียวให้ปฏิบัติภารกิจอีก ซึ่งแน่นอนว่าโบอิ้งไม่มีวันให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม อนาคตของยานอวกาศรุ่นนี้ก็ยังอึมครึม หนทางที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ โบอิ้งอาจต้องส่งยานสตาร์ไลเนอร์ไปทำภารกิจทดสอบแบบไม่มีลูกเรืออีกหนึ่งภารกิจ เพื่อให้นาซาแน่ใจได้ว่าจะฝากชีวิตมนุษย์อวกาศไว้กับยานรุ่นนี้ได้จริง
ระหว่างที่โบอิ้งแก้ปัญหาที่เกิดกับยานอวกาศรุ่นล่าสุดนี้ก็ต้องยอมเจ็บใจดูความสำเร็จของสเปซเอกซ์ไปพลาง ๆ ก่อน ภารกิจของยานครูดรากอนไม่ได้มีแค่เดินทางไปสถานีอวกาศนานาชาติเท่านั้น สเปซเอกซ์ยังใช้ยานรุ่นนี้ในธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศอีกด้วย การเที่ยวอวกาศของครูดรากอนไม่ได้พาไปสถานีอวกาศ แต่พาไปโคจรรอบโลกที่ระดับสูงกว่าระดับวงโคจรของสถานีอวกาศนานาชาติมาก การบินท่องอวกาศเที่ยวบินแรกของสเปซเอกซ์เกิดขึ้นในปี 2564 ในชื่อภารกิจ อินสปิเรชัน4 และขณะนี้เที่ยวบินที่สองในชื่อภารกิจ โพลาริสดอว์น ก็กำลังจะใกล้ออกเดินทาง ในภารกิจนี้จะใช้ลูกเรือเป็นนักท่องเที่ยวทั้งหมด ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำยานเลย และยังจะมีการออกย่ำอวกาศครั้งแรกอีกด้วย
แต่การจบภารกิจครั้งนี้
ยานสตาร์ไลเนอร์ลำนี้มีชื่อว่า
หลังจากที่กระสวยอวกาศขององค์การนาซาปลดระวางไปในปี
สเปซเอกซ์ทำได้สำเร็จก่อน
ยานสตาร์ไลเนอร์ลำแรกสร้างสำเร็จเมื่อปี
ภารกิจทดสอบที่สองของสตาร์ไลเนอร์ขึ้นสู่อวกาศในเดือนพฤษภาคม
ภารกิจทดสอบแบบมีมนุษย์ครั้งแรกของสตาร์ไลเนอร์พบอุปสรรคมากมายตั้งแต่ยังไม่ออกเดินทาง
ปัญหาบางข้อที่พบนี้ทำให้นาซาต้องเลื่อนกำหนดการกลับสู่โลกออกไป
ยานสตาร์ไลเนอร์แยกตัวออกจากสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อวันที่
สตีฟ
แผนเดิมที่วางไว้สำหรับสตาร์ไลเนอร์หากภารกิจทดสอบแบบมีลูกเรือประสบความสำเร็จทุกอย่างก็คือ
ระหว่างที่โบอิ้งแก้ปัญหาที่เกิดกับยานอวกาศรุ่นล่าสุดนี้