สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ความคืบหน้า "หินวุ้น" บนดวงจันทร์

ความคืบหน้า "หินวุ้น" บนดวงจันทร์

29 ต.ค. 2562
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รถสำรวจชื่อ อวี้ทู่-2 ของจีนซึ่งกำลังปฏิบัติภารกิจสำรวจอยู่ที่แอ่งฟอนคาร์มันที่ด้านไกลของดวงจันทร์ได้ส่งภาพถ่ายพื้นผิวดวงจันทร์กลับมา หนึ่งในนั้นมีภาพของวัสดุกองหนึ่งดูไม่คุ้นตา ไม่มีใครเคยเห็นวัสดุลักษณะนี้บนดวงจันทร์มาก่อน สื่อยักษ์ใหญ่ในจีนได้นำเสนอข่าวนี้โดยบรรยายว่าวัสดุลึกลับนั้นดูคล้ายกับวุ้นที่มีใครเอามาราดทิ้งไว้ 

ขณะนั้นยานกำลังแล่นช้า ๆ ไปทางตะวันตก แต่เมื่อภาพของ "หินวุ้น" นั้นสะดุดตาเจ้าหน้าที่ควบคุมภารกิจ จึงมีการออกคำสั่งให้อวี้ทู่-2 วกกลับมาเพื่อถ่ายรูปในระยะใกล้อีกครั้ง

ภาพใหม่ล่าสุดของกองวัสดุประหลาดบนดวงจันทร์ที่พบโดยรถอวี่ทู่-2 ภาพนี้มีความละเอียดสูงกว่าภาพที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้และผ่านการประมวลผลภาพใหม่เพื่อให้มีคมชัดและมีคอนทราสต์มากขึ้น แสดงถึงสิ่งคล้ายเกล็ดแวววาวกระจายอยู่ในเนื้อวัสดุ ดูคล้ายกับแก้วที่เกิดจากการกระแทกของอุกกาบาต (จาก CNSA/CLEP/Space.com)

ล่าสุดเมื่อปลายเดือนตุลาคม โครงการจงกั๋วทั่นเยว่ได้เผยแพร่ภาพใหม่ของกองวัสดุดังกล่าวที่ถ่ายโดยยานอวี้ทู่-2 ภาพนี้มีความชัดเจนกว่าเดิมมาก เป็นภาพของพื้นที่สีคล้ำขรุขระซึ่งเป็นก้นแอ่งอุกกาบาตแห่งหนึ่ง ในกองวัสดุสีคล้ำนั้นมีจุดสว่างกระจัดกระจายอยู่

ความชัดเจนของภาพใหม่ได้ให้ความกระจ่างขึ้นอย่างมาก นักดาราศาสตร์พบว่าวัสดุประหลาดกองนั้นไม่น่าจะเป็นวุ้น แต่เป็นแก้วที่เกิดจากการชนโดยอุกกาบาต เรียกว่า อิมแพกไทต์ ซึ่งคล้ายกับ ทรินิไทต์ บนโลก  วัสดุส่วนนี้อาจทะลักขึ้นมาจากเบื้องล่างโดยแรงกระแทกจากการที่ถูกอุกกาบาตพุ่งชน หรืออาจเป็นหินเบรกเซียรูปแบบหนึ่ง หินเบรกเซียเป็นหินตะกอนชนิดหนึ่งที่มีส่วนผสมเป็นแก้ว หินเปลือกดวงจันทร์ และหินบะซอลต์ นอกจากนี้ก็ยังดูคล้ายกับหินสีส้มที่มนุษย์อวกาศในภารกิจอะพอลโล 17 เคยพบบนดวงจันทร์เมื่อปี 2515 หินนั้นเกิดจากเถ้าภูเขาไฟที่พ่นออกมาจากการปะทุเมื่อ 3.64 พันล้านปีก่อน

4807

ขอบของหลุมอุกกาบาตที่พบกองวัสดุประหลาดที่ค้นพบโดยรถอวี้ทู่-2 รอยล้อที่ปรากฏเป็นของอวี้ทู่-2 เอง (จาก CNSA/CLEP/Space.com)

หากเป็นเช่นนั้นจริง วัสดุประหลาดที่เรียกกันก็คงไม่ค่อยประหลาดสักเท่าใด คำว่า "คล้ายวุ้น" ที่เผยแพร่กันก่อนหน้านี้จนพาให้ประหลาดใจกันทั่วอาจเกิดจากการตีความผิดหรือแปลผิดโดยสื่อจีนเอง อย่างไรก็ตาม การค้นพบกองวัสดุนี้ก็ยังถือว่าเป็นการค้นพบที่สำคัญที่อาจช่วยเผยต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของดวงจันทร์ได้เช่นกัน

นอกจากการถ่ายภาพแล้ว รถอวี้ทู่-2 ยังได้ใช้สเปกโทรมิเตอร์แสงขาวและแสงอินฟราเรด (VNIS) เพื่อวิเคราะห์เกล็ดสว่างนั้นด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีผลจากการวิเคราะห์สเปกตรัมเปิดเผยออกมา

ภาพดินสีส้มบนดวงจันทร์ ถ่ายโดยมนุษยอวกาศในภารกิจอะพอลโล 17 ในปี 2515 วัสดุแวววาวที่พบโดยรถอวี้ทู่-2 อาจเป็นวัสดุคล้ายคลึงกัน (จาก NASA/Space.com)

รถอวี้ทู่-2 ถ่ายจากยานฉางเอ๋อ ภาพนี้ถ่ายเมื่อต้นเดือนมกราคม 2562  (จาก CNSA/CLEP/The Planetary Society)


รถอวี้ทู่-2 เป็นรถที่ติดไปกับยานฉางเอ๋อ-4 ซึ่งเป็นยานสำรวจดวงจันทร์ของจีน ยานได้ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ที่หลุมฟอนคาร์มันที่อยู่ด้านไกลของดวงจันทร์เมื่อวันที่ มกราคม 2562 จนถึงขณะนี้ รถอวี้ทู่-2 ได้แล่นมาแล้วประมาณ 289 เมตร ผ่านวันคืนอันหนาวเหน็บและร้อนระอุของดวงจันทร์มาแล้วถึงสิบเดือน

ที่มา: