สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ฉางเอ๋อ-6 กลับถึงโลก

ฉางเอ๋อ-6 กลับถึงโลก

26 มิ.ย. 2567
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
วันนี้ (25 มิถุนายน 2567) เวลา 2:07 นาฬิกาตามเวลาปักกิ่ง แคปซูลเก็บตัวอย่างดวงจันทร์ของยานฉางเอ๋อ-6 ที่รอนแรมมาเป็นเวลานานกว่าสามสัปดาห์ก็ได้ลงสัมผัสพื้นโลกที่ทะเลทรายในมองโกเลียในของจีน  


ฉางเอ๋อ-6 เป็นยานสำรวจดวงจันทร์ของประเทศจีน ออกเดินทางจากโลกไปเมื่อวันที่ พฤษภาคม ภารกิจของยานเป็นความท้าทายอย่างมาก มีทั้งยานโคจรรอบดวงจันทร์ มีส่วนที่ลงจอดบนดวงจันทร์ มีการปล่อยรถสำรวจลงไปวิ่งบนพื้นผิว และยังมีการเก็บตัวอย่างดินจากดวงจันทร์แล้วนำกลับมายังโลกอีกด้วย และสิ่งที่ยากที่สุดของภารกิจฉางเอ๋อ-6 ก็คือ จุดที่ลงจอดอยู่ในด้านไกลที่มองไม่เห็นจากโลก นับเป็นภารกิจแรกที่มีการนำตัวอย่างจากดวงจันทร์จากพื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์กลับมายังโลก

เนื่องจากจุดลงจอดอยู่ในด้านไกลซึ่งมองไม่เห็นโลก การสื่อสารระหว่างยานกลับศูนย์ควบคุมบนโลกจะต้องผ่านดาวเทียมถ่ายทอดอีกดวงหนึ่งที่โคจรรอบดวงจันทร์ชื่อเชวี่ยเฉียว-2 


หลังจากที่ยานได้ลงจอดบนดวงจันทร์แล้ว ก็มีการปล่อยรถสำรวจออกไปและตรวจวัดสภาพแวดล้อมของจุดลงจอดด้วยตัวตรวจจับเรดอนและตัวตรวจจับไอออนลบ แขนกลของยานที่ปลายเป็นสว่านได้เจาะลงบนพื้นผิวเพื่อเก็บตัวอย่างดินจากดวงจันทร์เข้ามาเก็บไว้ในส่วนบนของยาน ต่อมาเมื่อวันที่ มิถุนายน ส่วนบนของยานก็ได้พุ่งขึ้นจากดวงจันทร์เพื่อนัดพบและเชื่อมต่อกับยานโคจรที่กำลังโคจรรอบดวงจันทร์ เพื่อย้ายมอดูลเก็บตัวอย่างไปยังแคปซูลที่จะนำกลับมายังโลก หลังจากนั้นยานก็เบี่ยงทิศออกจากวงโคจรรอบดวงจันทร์มุ่งหน้าสู่โลก เมื่อมาใกล้ถึงโลก ยานได้ปลดแคปซูลลงจอดออกขณะที่อยู่เหนือมหาสมุทรแอตแลนติก แล้วแคปซูลเก็บตัวอย่างที่มีรูปร่างคล้ายยานลงจอดของยานเสินโจวย่อส่วนก็ลงจอดในมองโกเลียในโดยมีร่มชูชีพช่วยลดความเร็ว

ภาพถ่ายพื้นผิวดวงจันทร์จากยานฉางเอ๋อ-6 ถ่ายในขณะที่ยานใกล้จะลงจอดบนพื้นผิว   (จาก CLEP CNSA)


ยานฉางเอ๋อ-6 ขณะจอดอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์ ถ่ายจากรถสำรวจที่เป็นยานลูกของฉางเอ๋อ-6 เอง  (จาก CLEP CNSA)

หลังจากแคปซูลสัมผัสพื้นโลกแล้ว ก็ถูกนำไปยังปักกิ่งทางเฮลิคอปเตอร์ก่อนจะแยกและส่งไปให้แก่นักวิจัยทั่วประเทศ

"เป็นความสำเร็จอย่างสมบูรณ์แบบ" จาง เก้อเจี่ยน ผู้อำนวยการขององค์การอวกาศแห่งชาติจีนหรือซีเอ็นเอสเอ กล่าวถึงภารกิจของฉางเอ๋อ-6 

ภาพถ่ายพานอรามาโดยกล้องบนยานลงจอดของฉางเอ๋อ-6  หลุมทางด้านบนของภาพคือหลุมแชฟฟี อยู่ทางทิศเหนือของยาน
 (จาก CLEP CNSA)


ตัวอย่างดินจากดวงจันทร์ที่นำกลับมามีน้ำหนักประมาณ กิโลกรัม คาดว่าตัวอย่างมีทั้งหินภูเขาไฟและวัสดุประเภทอื่นที่อาจช่วยไขความลับเกี่ยวกับกำเนิดดวงจันทร์ รวมทั้งตอบคำถามคาใจนักดาราศาสตร์ที่ว่าเหตุใดองค์ประกอบของดวงจันทร์ในด้านไกลกับด้านใกล้จึงแตกต่างกันมาก 

ดวงจันทร์เป็นเป้าหมายสำคัญในการสำรวจขององค์การอวกาศชั้นนำต่าง ๆ ของโลก องค์การนาซาของสหรัฐอเมริกาก็กำลังดำเนินโครงการอาร์เทมิสอยู่ ซึ่งภารกิจถัดไปคืออาร์เทมิส ที่จะส่งมนุษย์ไปโคจรรอบดวงจันทร์ และอาร์เทมิส ที่จะส่งมนุษย์กลับไปเดินบนดวงจันทร์อีกครั้ง

ในปี 2569 จีนจะส่งภารกิจสำรวจดวงจันทร์อีกครั้งในชื่อฉางเอ๋อ-7 นอกจากนี้จีนก็มีโครงการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์เช่นกัน โดยวางเป้าหมายไว้ว่าจะต้องทำได้สำเร็จก่อนปี 2573