สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สะเก็ดข่าวดาราศาสตร์

16 ส.ค. 41

นักดาราศาสตร์ได้พบอุกกาบาตจากดาวอังคารอีกแล้ว นับเป็นชิ้นที่ 13 ของที่เคยพบมาทั้งหมด อุกกาบาตชิ้นใหม่นี้พบในทะเลทรายซาฮารา มีน้ำหนัก 2 กิโลกรัม

16 มิ.ย. 41

วันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ 50 ปีของหอสังเกตการณ์เฮล ซึ่งเป็นหอสังเกตการณ์ที่มีกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาดกว้าง 5 เมตร ตั้งอยู่ที่ภูเขาพาโลมาร์ สหรัฐอเมริกา

5 มิ.ย. 41

นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบซูเปอร์โนวาในดาราจักร M96 หรือ NGC 3368 ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต ซูเปอร์โนวานี้มีอันดับความสว่าง 12 ซึ่งสว่างพอที่จะมองได้จากกล้องโทรทรรศน์ขนาดปานกลาง ตำแหน่งของซูเปอร์โนวานี้อยู่ห่างประมาณเกือบ 1 ลิปดาจากใจกลางดาราจักรไปทางเหนือเยื้องไปทางตะวันออกเล็กน้อย

23 ม.ค. 41

มหาวิทยาลัยแห่งวอชิงตันกำลังจะเปิดสาขา ชีวดาราศาสตร์ ขึ้นเป็นแห่งแรกของโลก ซึ่งจะเปิดอย่างเป็นทางการในปี 2542 สาขานี้จะศึกษาเกี่ยวกับชีวิตบนดาวอังคาร ยูโรปา และโลกอื่น 

29 มี.ค. 40

บรรยาย วันที่ 29 มีนาคม 2540 นายมาร์ติน จอร์จ อุปนายกสมาคมดาราศาสตร์แห่งรัฐแทสเมเนียมาเป็นวิทยากรรับเชิญ ในการบรรยายพิเศษเดือนมีนาคมนี้

27 มี.ค. 40

URL ถาวร (27 มี.ค. 40/วิมุติ) หลังจากที่ Homepage นี้ได้ใช้ URL ชั่วคราวโดยความเอื้อเฟื้อจากทบวงมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลานาน ขณะนี้สมาคมดาราศาสตร์ไทยกำลังจะมี URL ถาวรและมีโฮสต์เป็นของตัวเอง URL ใหม่นี้คือ http://thaiastro.nectec.or.th ซึ่งจะเริ่มเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ เมษายน 2540

1 มี.ค. 40

แคตตาล็อกแสงวาบจากรังสีแกมมา (1 มี.ค. 40/วิมุติ) สถานีสังเกตการณ์รังสีแกมมาคอมป์ตัน (Compton Gamma Ray Observatory) ได้ออกแคตตาล็อกของแสงวาบที่เกิดขึ้นในบรรยากาศชั้นสูง แคตตาล็อกนี้บันทึกการตรวจพบแสงวาบจำนวน ๑,๑๒๒ ครั้ง จากการสำรวจตั้งแต่ วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๓๔ จนถึง ๑๙ กันยายน ๒๕๓๗ พบว่าสถานที่และทิศทางของแสงวาบที่บันทึกได้นั้นมีการกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งท้องฟ้า ไม่มีการเกาะกลุ่มกันแต่อย่างใด นั่นหมายถึงแหล่งกำเนิดรังสีแกมมาเหล่านั้นไม่ได้มาจากดาราจักรทางช้างเผือกเพียงแหล่งเดียว แต่มาจากแหล่งกำเนิดที่อยู่ไกลออกไปหลายล้านล้านปีแสง

1 มี.ค. 40

พบดาวแคระน้ำตาล (1 มี.ค. 40/วิมุติ) ราฟาเอล รีโบโล หัวหน้าทีมนักดาราศาสตร์จากสถาบันฟิสิกส์ดาราศาสตร์แห่งคานารีส์ ได้ค้นพบดาวแคระน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีกดวงแล้วในกระจุกดาวลูกไก่ เขาได้ใช้กล้องเคก (Keck) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๐ เมตรที่อยู่ในฮาวายสำรวจและได้พบสเปกตรัมของธาตุลิเทียมจากวัตถุที่ชื่อว่า Calar ธาตุลิเทียมเป็นธาตุที่สลายตัวได้ง่ายซึ่งจะถูกเผาใหม้หมดบนผิวดาวฤกษ์ ดังนั้นการตรวจพบธาตุลิเทียมนี้หมายความว่าวัตถุนี้ไม่ร้อนพอที่จะเป็นดาวฤกษ์ได้ คาดว่า Calar นี้มีมวลเป็น ๕๕ เท่าของดาวพฤหัสบดี นับเป็นดาวแคระน้ำตาลดวงที่สามที่ค้นพบถัดจาก PPL 15 และ Teide 1

1 มี.ค. 40

อภิมหาแผนที่ฟ้า (1 มี.ค. 40/วิมุติ) หอสังเกตการณ์กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาได้เรียบเรียงรายชื่อดาวรุ่นใหม่ มีตำแหน่งดาวและดาราจักรรวมกันจำนวน ๔๙๑,๘๔๘,๘๘๓ ดวง ซึ่งมากกว่ารุ่นก่อนหน้านี้ถึง ๒๕ เท่า รายชื่อดาวครอบคลุมไปถึงดาวที่มีอันดับความสว่าง ๒๑ ฐานข้อมูลทั้งสิ้นบรรจุอยู่ใน CD-ROM จำนวน ๓๘๘ แผ่น

13 ก.พ. 40

ภูเขาบนดวงอาทิตย์ (13 ก.พ. 40/สุวิมล) เจฟฟรีย์ คุนน์ นักสุริยะฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้พบ "ภูเขา" หรือโหนกขนาดยักษ์จำนวน 60 แห่งบนพื้นผิวของดวงอาทิตย์ จากข้อมูลที่ได้มาจากเครื่องถ่ายภาพดอปเพลอร์ของยานอวกาศโซโฮ (SOHO) ซึ่งออกเดินทางจากโลกไปเมื่อเดือน ธันวาคม 2538 "ภูเขาแต่ละลูกสูงแค่ครึ่งกิโลเมตร แต่แผ่กว้างถึง 65,000 กิโลเมตร" คุนน์กล่าว

คุนน์เชื่อว่า ความเข้มสนามแม่เหล็กบนดวงอาทิตย์ซึ่งแรงกว่าบนโลก 1,000 เท่า ทำให้เกิดเนินของก๊าซร้อนซึ่งมองเห็นได้จากดาวเทียม

คุนน์ยังบอกว่า ดาวเทียมดวงนี้กำลังให้ข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับคาบ 11 ปีของการเปลี่ยนแปลงบนดวงอาทิตย์ซึ่งอาจทำให้เราเข้าใจผลกระทบของคาบนี้ต่อลมฟ้าอากาศบนโลกได้ดีขึ้น

13 ม.ค. 40

[b]ดาวหางที่หายไป[/b] (13 ม.ค. 40) ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2538 ได้มีข่าวดังข่าวหนึ่งเกี่ยวกับดาวหาง เป็นการสนับสนุนทฤษฎีของแหล่งกำเนิดดาวหางของไคเปอร์ โดยทีมนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทกซัส ได้ประกาศการค้นพบกลุ่มของดาวหางกลุ่มหนึ่งที่อยู่บริเวณเลยดาวเนปจูนออกไป หรือบริเวณที่เรียกว่าแถบไคเปอร์ (Kuiper belt) เมื่อกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้พบวัตถุที่มีขนาดใกล้เคียงกับนิวเคลียสของดาวหางทั่ว ๆ ไปประมาณ 30 ดวง แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ใช้กล้องฮับเบิลตรวจดูที่บริเวณเดียวกันอีกครั้งแต่กลับไม่พบอะไรเลย บางทีอาจเป็นเพราะความผิดพลาดเนื่องมาจากสัญญาณรบกวนของอุปกรณ์ของกล้องก็ได้ ทางทีมจะต้องสำรวจอีกครั้งในปลายปีนี้