สมาคมดาราศาสตร์ไทย

จานสายอากาศสำหรับภารกิจฉางเอ๋อ 1 ของจีน พร้อมแล้ว

จานสายอากาศสำหรับภารกิจฉางเอ๋อ 1 ของจีน พร้อมแล้ว

9 มี.ค. 2550
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ในเดือนเมษายนปีนี้ จีนจะส่งยานชื่อฉางเอ๋อ ขึ้นสู่อวกาศและมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ นับเป็นยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกของประเทศ หากทำสำเร็จ  จีนก็จะเป็นชาติที่สี่ในโลกที่ส่งยานไปสำรวจดวงจันทร์ได้ ต่อจากสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป 

แม้ก่อนหน้านี้จีนจะมีเครือข่ายติดตามด้านอวกาศใช้ในโครงการเฉินโจวอยู่แล้ว แต่จานสายอากาศเหล่านั้นไม่กว้างพอสำหรับภารกิจระหว่างดาวเคราะห์ ดังนั้นในการรองรับภารกิจใหม่ จีนจึงต้องสร้างเครือข่ายสายอากาศใหม่แบบเส้นฐานกว้างพิเศษ (VLBI) สองแห่ง ซึ่งได้สร้างเสร็จในปีที่แล้ว แห่งหนึ่งอยู่ในปักกิ่ง ส่วนอีกแห่งหนึ่งอยู่ในยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ นี่เป็นครั้งแรกที่จีนมีเครือข่ายเส้นฐานกว้างพิเศษไว้ใช้ในโครงการอวกาศ จานสายอากาศใหม่ทั้งสองใบนี้เส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เมตร และ 40 เมตร ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทดสอบ ปัจจุบันจีนมีกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่สี่แห่งอยู่ห่างกัน 3,000 กิโลเมตร 

ยานฉางเอ๋อจะออกเดินทางจรวด ซีแซต-3 เอ จากท่าอวกาศยานซีชังในมณฑลเสฉวน ยานจะโคจรรอบโลกอยู่ในวงโคจรสถิตก่อนแล้วจึงมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ต่อไป

นักวิทยาศาสตร์ของจีนกล่าวว่า ในการเดินทางของฉางเอ๋อ จีนจะได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายวีแอลบีไอของยุโรปในภารกิจด้วย ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการร่วมมือระหว่างจีนและยุโรปมาก่อน ในภารกิจสำรวจดวงจันทร์สมาร์ต-1 ขององค์การอีซา จานสายอากาศขนาด 50 เมตรในปักกิ่งและจานขนาด 25 เมตรอีกสองใบในเซี่ยงไฮ้และอุรุมชีของจีนมีส่วนร่วมในภารกิจนั้นด้วย นี่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าสายอากาศขนาดใหญ่ของจีนมีศักยภาพเทียบเท่ากับของยุโรปและสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบเครือข่ายของจีนกับเครือข่ายดีปสเปซเน็ตเวิร์กของสหรัฐอเมริกาแล้ว เครือข่ายของจีนยังเป็นรองอยู่มาก แต่จีนยังมีแผนจะสร้างจานสายอากาศขนาดใหญ่อีกหลายแห่งเพื่อสนองโครงการอวกาศของตนในอนาคต
จานสายอากาศขนาด 50 เมตรของหอดูดาวแห่งชาติจีน ตั้งอยู่ที่ชานกรุงปักกิ่ง หน้าที่หลักของจานนี้คือรับส่งข้อมูลกับยานฉางเอ๋อ

จานสายอากาศขนาด 50 เมตรของหอดูดาวแห่งชาติจีน ตั้งอยู่ที่ชานกรุงปักกิ่ง หน้าที่หลักของจานนี้คือรับส่งข้อมูลกับยานฉางเอ๋อ

ที่มา: